ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีแวต และส่งเสริมให้เกิดการออมในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงสนับสนุนให้มีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีแวตเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2561-30 เม.ย.2562 รวมระยะเวลา 6 เดือน ในการนำมาประมวลผลเพื่อคัดแยกจำนวนภาษีแวต 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปจริงในแต่ละเดือน ซึ่งในส่วนนี้จะกันไว้ 1% เป็นภาษีแวตที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ ส่วนที่เหลืออีก 6% ให้นำมาแจกแจงเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.อัตรา 5% เพื่อการใช้จ่าย โดยเงินในส่วนนี้จะถูกโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันหยุด
และ 2.อัตรา 1% เพื่อการออมของวงเงินชดเชยทั้งหมด และจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ละราย หากผู้มีสิทธิมีคุณสมบัติครบถ้วนในการสมัครสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้สมัครก็สามารถสมัครได้ทันที เพื่อให้รองรับการโอนเงินเข้าบัญชี ส่วนผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช.นั้น กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาว และให้ธนาคารพิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีต่อไป โดยเงินชดเชยที่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยดังกล่าวจะไม่เกิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
สำหรับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการนี้ จะมาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 5 พันล้านบาท
“กระทรวงการคลัง” ยืนยันว่ามาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและจูงใจให้ร้านค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีแวตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจและสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ
ขณะที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีการจดทะเบียนภาษีแวต และจะต้องแจ้งความประสงค์มายังกรมบัญชีกลาง และสำนักงานคลังจังหวัด เพื่อติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ภายในวันที่ 1 ต.ค.2561 ซึ่งร้านธงฟ้าประชารัฐที่ได้ติดตั้งระบบ POS แล้ว สามารถทยอยใช้งานได้ก่อน แต่ข้อมูลจำนวนภาษีแวตที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเงินชดเชยนั้น จะต้องเป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2561-30 เม.ย.2562 เท่านั้น ส่วนร้านค้าเอกชนอื่นๆ ที่จดทะเบียนภาษีแวตแล้ว ทั้งที่มีและไม่มีระบบ POS หากต้องการเข้าร่วมโครงการจะต้องทำการปรับปรุงและทดสอบระบบกับกรมบัญชีกลางและ บมจ.ธนาคารกรุงไทยก่อน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าเป็นระบบงานเดียวกัน ส่วนร้านที่ยังไม่มีระบบ POS และต้องการเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทุนติดตั้งระบบ POS เอง รวมทั้งต้องทำการทดสอบระบบกับกรมบัญชีกลางและ บมจ.ธนาคารกรุงไทยด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มเงินชดเชยจากภาษีแวตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในครั้งนี้ คือการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นสมาชิกของ กอช. เพราะจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการและเป็นสมาชิกของ กอช.เพียง 1.3 แสนรายเท่านั้น ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยที่มีคุณสมบัติในการสมัครเป็นสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้ดำเนินการสมัคร มีจำนวนถึง 6 ล้านคน ซึ่งถือว่าสูงมาก
ตรงนี้เองถือเป็นแนวคิดที่ดีของรัฐบาลในการดึงผู้มีรายได้น้อยจำนวน 6 ล้านคน ให้สมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อรับโอนเงิน 1% ของเงินชดเชยเข้าบัญชีเพื่อเป็นเงินออม นั่นกลายเป็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยรู้จักการออมเงินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ขณะที่ กอช.เองก็เรียกว่าส้มหล่น! ได้สมาชิกเพิ่มขึ้นอีกถึง 6 ล้านราย จากปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 5 แสนกว่ารายเท่านั้น
ส่วนผู้ที่ขาดคุณสมบัติ กระทรวงการคลังยังมีแนวทางในการช่วยเหลือ โดยจะหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากระยะยาว สำหรับรับโอนเงินในส่วนดังกล่าวเข้าบัญชี และจะยังได้รับผลตอบแทนที่ไม่น้อยกว่าการเป็นสมาชิก กอช.อีกด้วย.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |