ฮึ่มขรก.เอี่ยวโกงออกทันที รัฐเต้นสอบอมเงินผูพิ้การ


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ขึงขังสั่งทุกกระทรวง พบหลักฐาน ขรก.ทำผิดกฎหมาย "ค้ามนุษย์-ทุจริต" เซ็นออกไว้ก่อนทันที ป้องกันย้ายไปสร้างปัญหาที่อื่น อ้อน ปชช.วางใจรัฐบาลเอาจริง "อนันตพร" โยน "ก.แรงงาน" แจงอมเงินคนพิการ "อดุลย์" เต้นเตรียมตั้งทีมตรวจสอบ "ป.ป.ช.โคราช" ยันโกงสนามฟุตซอลไม่มีจับแพะ พบมีคนร่วมเอี่ยวถึง 600-700 ราย

    เมื่อวันที่ 18 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงปัญหาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดกฎหมายว่า ในการประชุม ครม.ได้สั่งการและเน้นย้ำในที่ประชุมถึงปัญหาการทำผิดกฎหมายของข้าราชการ ซึ่งทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดได้อยู่แล้ว โดยจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐบาลให้ความเอาใจใส่อย่างมาก ทั้งปัญหาค้ามนุษย์และการทุจริตต่างๆ 
    "ถ้าพบมีหลักฐานชัดเจน ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดต้องถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อไม่ให้โยกย้ายบุคคลนั้นไปที่อื่น แล้วสร้างปัญหาที่นั่นอีก ดังนั้นจากสิ่งที่ผมได้สั่งการไปตรงนี้ ขอให้ประชาชนไว้วางใจรัฐบาลบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการยื่นหนังสือต่อสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบมูลนิธิต่างๆ ล่ารายชื่อคนพิการส่งไปยังกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมการจัดหางาน เพื่อเสนอโครงการจัดอบรมคนพิการ และขอรับเงินสนับสนุนแล้วมีการหักหัวคิวว่า ไม่ใช่เรื่องการทุจริต เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนไปอบรมกันเอง โดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ 
    "การจ้างงานคนพิการมีคณะอนุกรรมการของกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีที่เกิดขึ้นไม่เรียกว่าทุจริต เพราะเป็นเรื่องของเอกชนและสมาคมที่จัดอบรมกันเอง ขณะนี้กำลังพิจารณาและได้เสนอให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้รับทราบแล้ว" พล.อ.อนันตพรกล่าว
    ถามว่า กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดำเนินการลงโทษในกรณีดังกล่าวใช่หรือไม่ รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กฎหมายเป็นคนลงโทษ หากกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ ก็ถือว่ามีความผิด แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีการร้องเรียนว่าเอกชนต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน ในอัตราจ้างคนทั่วไป 100 คน ซึ่งมีช่องว่างทั้งผู้ประกอบการ สมาคม และผู้พิการที่ไปฮั้วกันเอง จึงต้องดูเป็นรายกรณีไป เพราะไม่ใช่เป็นขบวนการ อย่างไรก็จะต้องทำเรื่องไปที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานให้ชี้แจง 
    ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า เพิ่งได้รับรายงานเรื่องที่ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการยื่นหนังสือต่อสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ โดยพบคนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มาตรา 33 ระบุตัวเลขคนพิการถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 5,000 คนนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆ หักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท
    "ผมเพิ่งได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว เตรียมที่จะตรวจสอบทันทีเมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ส่วนจะมีการดำเนินการเอาผิดอย่างไรนั้น จะต้องตรวจสอบตามระบบต่อไป" รมว.แรงงานกล่าว
    วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 3 และ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา นายมงคล สาริสุด ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.นครราชสีมา แถลงผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช.นครราชสีมา ด้านการปราบปรามการทุจริต เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชน ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอาญาและวินัยของ ป.ป.ช.นครราชสีมา ว่า ช่วง 1 ต.ค.2560-18 ก.ย.2561 มีเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง อาทิ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง 3-4 แห่ง, การจัดซื้อจัดจ้างซื้อรถ, การบริหารงาน, การเรียกรับ, การยักยอกทรัพย์, การทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน, ยักยอกน้ำมันหลวง, การศึกษาดูงาน 2 แห่ง ซึ่งมีการชี้มูลด้านความผิดอาญาหรือวินัยร้ายแรง มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารเทศบาล ผู้บริหาร อบต. เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชน และวินัยไม่ร้ายแรง จำนวน 47 ราย รวม 72 คน โดยเรื่องของ อปท.มีมากถึงกว่า 90% ซึ่งมี 343 แห่ง ส่วนใหญ่เรื่องจัดซื้อจัดจ้างโครงการทำถนน สะพานมีจำนวนมาก   
    นายมงคลกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีทุจริตโครงการสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา ว่าเรื่องนี้เกิดเมื่อปี 2555 เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ส่วนกลางดำเนินการ แต่เหตุเกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมามาก่อน และพยายามเอาที่ จ.นครราชสีมาเป็นโมเดล ซึ่งขั้นตอนมีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด และอยู่ในกระบวนการสรุปคำแก้ข้อกล่าวหาอยู่ คงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง
    ซักว่าจะมีนักการเมืองใหญ่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผอ.ป.ป.ช.จังหวัดนครราชสีมากล่าวว่า จะมีหลักฐานที่จะสาวไปถึงนักการเมืองอย่างไร ตรงนี้ตนคงตอบไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราแจ้งข้อกล่าวหาส่วนหนึ่งเรามั่นใจเกิน 50% เราถึงแจ้งข้อกล่าวหา 
     "ผมเรียนว่าฟุตซอลไม่ใช่มีเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา เพราะ จ.นครราชสีมามี 56 โรงเรียน จ.อุบลราชธานีประมาณเกือบ 100 โรงเรียน, จ.ชัยภูมิก็มี และรวมแล้วสนามฟุตซอลมีทั้งหมด 17 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เผอิญนครราชสีมาทำมาก่อน เนื่องจาก สตง.ลงพื้นที่ร่วมกับ ป.ป.ช. และ พ.อ.สมหมาย บุษบา ก็ลงไปด้วย จึงได้ทำเป็นโมเดลขึ้นมา มีผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการนี้เกือบ 600-700 คน ดังนั้นจำนวนทั้งหมดนี้เราต้องทำงานอย่างรอบคอบ เพราะการเอาคนออกจากราชการไปติดคุก ก็ต้องดูว่าผิดจริงหรือไม่ มีเจตนาจริงหรือไม่ โดยได้ให้เจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช.นครราชสีมา 7 คน มีหน้าที่ปราบ โดยให้ 3 คนไปทำคดีฟุตซอลโดยเฉพาะ" ผอ.ป.ป.ช.จังหวัดนครราชสีมา 
    นายมงคลกล่าวว่า เรื่องนี้คน 600-700 คนเกี่ยวข้องวนเวียนในคดีนี้ อยากให้สื่อมวลชนมั่นใจในการทำงานของ ป.ป.ช.นครราชสีมา ยืนยันด้วยเกียรติของทีมงาน ป.ป.ช.นครราชสีมา และเราไม่ใช่เสือกระดาษแน่นอน คดีนี้เรียนว่าไม่มีแพะ ตัวจริงหมด ประชาชนสามารถมาให้หลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมได้หมด. 

.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"