ซัดองค์กรโปร่งใสป้องรบ. ถอนตัวสมาชิกนานาชาติ


เพิ่มเพื่อน    

"ศรีสุวรรณ" ซัดองค์กรเพื่อความโปร่งใสถอนตัวจากสมาชิกองค์กรนานาชาติไม่ตอบโจทย์ภารกิจและปัญหาในประเทศที่ยังมีความไม่โปร่งใส  เหน็บเป็นเพราะผู้บริหารองค์กรมีตำแหน่งในวงจรอำนาจ จึงไม่อยากให้การจัดอันดับใช้เป็นข้ออ้างได้  "วิษณุ" แจงเป็นเรื่องเอกชนกับเอกชน ระบุแม้ "ประวิตร" อ้างว่ายืมนาฬิกาเพื่อน แต่ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบต่อไป  ยันคดีทุจริตต่อให้รอดวันนี้ วันหน้าก็ไม่รอด เชื่อกรรมติดจรวด    
    เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency-Thailand) ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International/TI) โดยอ้างว่า การชี้วัดขององค์กรดังกล่าวยังมีอคติและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศไทย และไม่ใช่การประท้วงที่ประเทศไทยได้ค่า (CPI) ต่ำลง หรือได้รับการกดดันจากรัฐบาลให้ดำเนินการดังกล่าว
    โดยแถลงการณ์ระบุว่า ถ้อยแถลงขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยไม่ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ หลายกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แม้ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรออกมาบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังมีกลเฉไฉจากผู้มีอำนาจที่จะยื้อการเลือกตั้งออกไปด้วยอำนาจของกลุ่มเครือข่ายพวกเดียวกันเอง ซึ่งมีผลต่อความโปร่งใส มีผลต่อการเอื้อประโยชน์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นกรณีปัญหาที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้ความสนใจยิ่ง
    "นอกจากนั้นยังมีประเด็นของการใช้อำนาจรัฐในการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ประชาชนยังยากจน ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ แต่ผู้มีอำนาจกลับเดินทางไปประชุมระหว่างประเทศด้วยการเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำ และมีเมนูอาหารไข่ปลาคาเวียร์เสิร์ฟ โดยไม่มีความผิด รวมทั้งกรณีล่าสุดคือแหวนแทงตาและนาฬิกาหรู ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่จะเป็นกรณีที่รับรู้กันแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่สื่อต่างประเทศได้รายงานไปทั่วโลกแล้ว จนกลายเป็นที่ตลกขบขันของนานาอารยประเทศ ฯลฯ"
    แถลงการณ์ระบุว่า ข้ออ้างการชี้วัดขององค์กรดังกล่าวยังมีอคติและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในประเทศไทยนั้น มีดัชนีชี้วัดตัวใดที่ไม่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาในประเทศไทย และการกำหนดค่า CPI นั้น เขากำหนดแต่ประเทศไทยหรือเขาทำเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก หรือประเทศไทยมีลักษณะพิเศษเพียงใดที่องค์กรนานาชาติจะต้องมาพินอบพิเนาเอาใจประเทศไทยเพื่อให้ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสจากลำดับที่ 101 เมื่อปี 2016 ขยับขึ้นมาในระดับไม่เกิน 10 ในปีนี้เช่นนั้นหรือจึงจะพอใจ
    "ต้องไม่ลืมภารกิจขององค์กรของตนว่ามีภารกิจเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในสังคมไทย โดยการผนึกกำลังของปัจเจกบุคคล และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันประสบผลสำเร็จ แต่การลาออกจากสมาชิก TI เช่นนี้ จะตอบโจทย์ภารกิจขององค์กรตนอย่างไร หรือเพียงแค่มีผู้บริหารขององค์กรบางคนถูกแต่งตั้งให้ไปมีตำแหน่งในวงจรอำนาจรัฐก็เลยลาออกจาก TI เพื่อไม่ให้อันดับดัชนีชี้วัดความโปร่งใสนานาชาติที่จะประกาศในเดือนหน้านี้ ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ในประเทศไทย กระนั้นหรือ?" แถลงการณ์ระบุ 
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์กรได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแล้ว เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่าการชี้วัดขององค์กรดังกล่าวยังมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย 
    สำหรับนางจุรี ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานด้วย
    ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ไทยไม่เคยถอนตัวจากการจัดอันดับทุจริตโลก (CPI) การประเมินและจัดอันดับคอร์รัปชันของประเทศทั่วโลก เป็นการสำรวจข้อมูลอย่างอิสระโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกประเมินและจัดอันดับทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา และเชื่อว่าจะยังคงมีต่อไป โดยการประกาศผลการประเมินและจัดอันดับประจำปี 60 จะมีขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ เดิมที “มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย” เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติด้วย แต่เมื่อราวสองปีที่แล้วได้ "ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก" เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ แต่ยังคงให้ความร่วมมือและทำกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกันทั้งนี้ “มูลนิธิเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย” ก่อตั้งปี 2543 โดยมีท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นเลขาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในสังคมไทย
     ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไทยไม่ได้ถอนตัว เพราะไทยไม่เคยเป็นสมาชิก เป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน 
    เมื่อถามถึงกรณีการตรวจสอบนาฬิกาและแหวนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ของสำนักงาน ป.ป.ช. นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ถึงขั้นที่บอกว่าใครผิดใครถูก ส่วนการที่จะไปล้วงข้อมูลหรือตรวจสอบว่ามีเบื้องหลังอะไรอีกหรือไม่ ก็เป็นความสามารถของ ป.ป.ช.ที่จะต้องไปจัดการ แม้ พล.อ.ประวิตรจะบอกว่าไปยืมเพื่อน ก็ใช่ว่าจะต้องเชื่อแล้วทุกอย่างจะต้องจบ เรื่องนี้ ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบต่อไป ซึ่ง ป.ป.ช.ได้บอกว่าจะต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อสอบพยานคนสุดท้าย หลังจากนั้นเรื่องจะเข้าสู่คณะกรรมการฯ เพื่อสรุปเรื่องนี้ให้ได้ในเดือน ก.พ. นี้ แสดงว่าเรื่องนี้จะต้องดำเนินการต่อไป
     รองนายกฯ กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า" ตอน "กฎหมายหลายรส เพื่ออนาคตประเทศ" ที่ได้มีการเชิญคอลัมนิสต์และผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริต ทั้ง  ป.ป.ช., ป.ป.ท., ปปง., สตง., ดีเอสไอ และวันนี้มี ศอตช.มาบูรณาการทำงานร่วมกัน และผลงานที่เห็นคือเรื่องการตรวจสอบข้าราชการพัวพันการทุจริต ที่มีคำสั่งและประกาศ คสช.ที่มีพักงานไปแล้ว และในอนาคต ศอตช.อาจจะยกฐานะขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีกฎหมายป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการเล็ดลอดที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ที่อยู่ระหว่างการปรับแก้ของ สนช. และร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่เห็นผู้ที่มีอำนาจและปกปิดอะไรต่างๆ จะถูกกฎหมายเหล่านี้จัดการได้เลย นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ผู้ใด ไม่ได้ยกเว้นให้กับผู้ที่มีอำนาจวาสนา ถ้าจะเล็ดลอดจริงๆ ก็เพราะใช้กฎหมายไม่ได้ผล กฎหมายก็เหมือนกระดาษ เหมือนดาบ ถ้าไม่ชักหรือถอดออกจากฝักก็ไม่สามารถฟันใครได้ อยู่ที่เจ้าหน้าที่บังคับการ ของอย่างนี้อายุความไม่มี หรือมีอายุความยาว ต่อให้รอดวันนี้ แต่ไม่รอดวันต่อไป  วันหนึ่งก็ต้องโดนจนได้ ไม่ว่าจะทุจริตเรื่องใด 
    เมื่อถามว่า รวมถึงการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกเรื่อง หลายเรื่องที่เป็นคดีความไม่ได้เพิ่งมาเกิด เมื่อรัฐบาลพ้นไปก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ วันนี้มีศาลอาญาทุจริตแล้ว กรรมตามทันติดจรวดแน่นอน เพราะทำให้คดีทุจริตพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"