ขีดเส้น29มค.กปปส.เบี้ยวเจอจับ


เพิ่มเพื่อน    

อัยการขีดเส้น 29 ม.ค.นี้ ให้ผู้ต้องหาคดีกบฏ "กปปส." เบี้ยวนัดรายงานตัวส่งหลักฐานก่อนสั่งฟ้อง 14 มี.ค. เผยจะพิจารณามาตรการเบาไปหาหนัก  หากประวิงเวลา-หลบหนี ขอศาลออกหมายจับได้ ด้าน 40 ส.ส.พท.จี้ ป.ป.ช.หยุดไต่สวนปมเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย ซัดก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ รัฐบาลเร่งตีปี๊บแผนปฏิรูปประเทศ เล็งบรรจุหลักสูตร ปชต.ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา หวังลดขัดแย้งทางการเมือง
    เมื่อวันที่ 25 มกราคม แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ต้องหา 34 คน ที่ขอเลื่อนการเข้าฟังคำสั่งคดีกบฏของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ผู้ต้องหาทั้ง 34 คน ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้ามารับฟังคำสั่งคดี ซึ่งแต่ละคนอ้างเหตุผลไม่เหมือนกัน เช่น อ้างว่าติดสอนหนังสือ, เจ็บป่วย, ติดประชุมสภา บางคนก็มีการแสดงพยานหลักฐานเป็นหนังสือเชิญประชุม, ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดโรงพยาบาล 
    "ซึ่งอัยการก็รับพิจารณาและให้โอกาส แต่ในส่วนของบางคนที่มีการกล่าวอ้างเลื่อนลอยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง อัยการก็จะให้โอกาสยื่นพยานหลักฐานจนถึง‪วันจันทร์ที่ 29 ม.ค.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการประชุมคณะทำงานพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร  หากมีการยื่นพยานหลักฐานเข้ามา พยานหลักฐานจะพอเชื่อถือได้หรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร"
     แหล่งข่าวบอกว่า ผู้ต้องหาที่กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมีประมาณกว่า 20 คน ซึ่งอัยการให้โอกาสไปนำพยานหลักฐานตรงนี้มา เช่น อ้างว่าป่วย ก็ไปหาใบรับรองแพทย์มา อัยการก็จะต้องพิจารณาดูอีกว่าใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเขียนอาการป่วยไว้มากน้อยเพียงใด ป่วยจนถึงไม่สามารถเดินทางมาฟังคำสั่งได้หรือไม่ หรือถ้าเป็นการประชุมที่สำคัญ และมีการนัดล่วงหน้าไว้ก่อน และไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ ตรงนี้อัยการจะพิจารณาอย่างละเอียด ซึ่งแต่ละรายก็จะมีเหตุผลไม่เหมือนกัน มาตรการของเราจะมีตั้งแต่เบาไปหาหนัก
     "การขอศาลออกหมายจับจะต้องดูว่ามีเหตุประวิงคดี ไปวุ่นวายกับพยานหลักฐาน หรือมีเหตุจะหลบหนีคดี ถึงจะขอออกหมายจับได้ ตรงนี้อัยการจะต้องดูหลัก เกณฑ์ตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปขอศาลออกหมายจับได้" แหล่งข่าวกล่าวถึงมาตรการระดับหนักจะถึงขั้นขอศาลออกหมายจับหรือไม่  
    เมื่อถามว่า อัยการมีอำนาจที่จะสามารถถอนประกันในชั้นสอบสวนได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผู้ต้องหาทุกคนก็มามอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เองถึงส่งมารายงานตัว ชั้นอัยการจึงมองว่าไม่มีเหตุที่จะหลบหนี สำหรับในวันที่ ‪14 มี.ค.นี้ อัยการนัดเฉพาะผู้ที่มีพยานหลักฐานประกอบการขอเลื่อน ส่วนผู้ที่หลักฐานขอเลื่อนไม่ชัดเจน หากอัยการนำตัวมาได้ และเข้าเหตุประกอบทางกฎหมาย เมื่อได้ตัวมาเราก็อาจจะนำตัวฟ้องไปก่อนเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูเหตุองค์ประกอบตามกฎหมายเป็นหลักว่าอัยการจะยื่นฟ้องเขาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นอัยการก็ไปรวมฟ้องวันที่‪ 14 มี.ค.ทีเดียว ศาลก็จะง่ายต่อการพิจารณาหลักฐาน
     เมื่อถามว่า หากนำตัวผู้ต้องหาชุดหลังมาฟ้องได้‪ในวันที่ 14 มี.ค. จะขอรวมสำนวนกับจำเลยอีก 9 คนที่ถูกฟ้องไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค.แล้วหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้อัยการและศาลก็คงอยากจะให้รวมฟ้องไปในทีเดียว เนื่องจากศาลเองก็คงไม่อยากที่จะสืบพยานหลายรอบ เพราะพยานหลักฐานต่างๆ ก็เป็นชุดเดียวกัน เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในข้อหาเดียวกัน ตามหลักการจึงควรพิจารณาทีเดียวกัน
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนอดีต 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ, นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี, นางสมหญิง บัวบุตร อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ, นายธวัชชัย สุทธิบงกช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ
    โดย นพ.เชิดชัยอ่านคำแถลงว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นกระบวนการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด คณะ 40 ส.ส.จึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง อนุกรรมการฯ จะนำไปเป็นเหตุฟ้องหรือตั้งข้อกล่าวหาไม่ได้เป็นอันขาด และเป็นกระบวนการหนึ่งในการตรากฎหมายที่อยู่ในงานของรัฐสภาโดยเฉพาะ ที่ผ่านมามีการตรากฎหมายเช่นนี้ถึง 23 ฉบับ ซึ่งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการขัดหรือแย้งต่ออนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชัน ไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการไปเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ สำหรับข้อกังวลว่าจะมีผลต่อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีที่ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 46,000 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใดๆ แก่ผู้ได้รับนิรโทษฯ ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น 
    นพ.เชิดชัยกล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่ ส.ส.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะที่เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ในขณะนั้นมีการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันถึง 6 ฉบับ มีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมเช่นกันทุกฉบับ ล้วนมีเจตนาที่ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นของคนในชาติ ให้อภัยต่อกัน และในท้ายที่สุดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่าคณะ 40 ส.ส.ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ  
    "เมื่อเทียบเคียงกับกรณีประธาน ป.ป.ช.และประธานอนุกรรมการไต่สวนได้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน อันเป็นลักษณะเดียวกับการเสนอและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั่วไป ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลทั้งสอง และหากจะถือว่าเป็นการกระทำในฐานะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งมีความร้ายแรงยิ่งกว่ากรณีของคณะ 40 ส.ส. ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงใดสนับสนุนว่ามีการกระทำความผิดเลย" นพ.เชิดชัยระบุ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงเรื่องแผนปฏิรูปประเทศไทย ในการจัดกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า" ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ 11 ด้าน บวก 2 คณะ คือ ตำรวจและการศึกษา ทุกคณะร่างพิมพ์เขียวเสร็จแล้วได้ยกร่างที่หนึ่งจนเป็นแผนปฏิรูปที่ชัดเจน ว่าแต่ละด้านมีประเด็นและกิจกรรมอะไรบ้าง รวมถึงหน่วยงานไหนดำเนินการและใช้งบประมาณเท่าไรอย่างไร จากนี้ไปประมาณเดือน ก.พ. จะเสนอแผนให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในเดือน มี.ค. หรือต้นเดือนเม.ย. จะเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ โดยจากนี้ไปจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือสื่อ พร้อมกับเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์ โดยจะนัดแถลงเป็นกลุ่ม เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยให้ประธานแต่ละคณะ แถลงข่าวทุกช่องทางการสื่อสาร
    "เหตุผลที่เราต้องดำเนินการปฏิรูป เพราะความต้องการของประชาชน ภาวะติดขัดทางเศรษฐกิจ และกระแสโลกาภิวัตน์หรือแรงกดดันจากต่างประเทศ เพราะทุกประเทศต่างปฏิรูปประเทศตัวเอง เบื้องต้นได้ตรวจสอบความสอดคล้องแผนปฏิรูปประเทศกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ หรือประเทศที่มีรายได้สูง และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" 
    นายวิษณุกล่าวด้วยว่า แผนปฏิรูป 11 ด้าน มีการนำเสนอข้อเสนอแนะ ทั้งที่เป็นข้อเสนอใหม่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมด้วย และบางข้อเสนอเป็นงานประจำของหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วที่ต้องไปดำเนินการ หรือบางข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย สามารถรวบรวมได้ จำนวน 119 ฉบับ บางส่วนเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่และปรับปรุงกฎหมายเดิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป สำหรับข้อเสนอของแต่ละคณะที่น่าสนใจ อาทิ คณะปฏิรูปการเมือง เน้นการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยจะให้มีโรงเรียนประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ด้วยการบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษ สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา โดยไม่ได้เป็นการตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นมา เป็นต้น
       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะเป็นการปูทางเพื่อเข้าสู่การเมืองหรือไม่ว่า ตนเพิ่งเห็นคำสั่งดังกล่าว คิดว่านายกฯ คงอยากเห็นความชัดเจนการทำงานแต่ละเรื่องให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นในช่วงท้ายนี้ ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาต่างๆ ที่นายกฯ พูดถึงคงอยากให้มีการขับเคลื่อน ส่วนจะมีเสียงวิจารณ์ว่าปูทางสู่การเลือกตั้งหรือไม่นั้น ตนอยากให้ทุกคนมองว่าเป็นเจตนาที่ดี. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"