ฝักถั่วยืดโรดแมป90วัน ลงมติสลอน196เสียงเลือกตั้งก.พ.62'พงษ์ชัย'เสนอเลื่อน5ปี


เพิ่มเพื่อน    

ไม่พลิก! สภาฝักถั่วยกมือสลอน 196 เสียงยืดเวลาใช้กฎหมายว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.ไป 90 วันหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา อึ้ง! พ.ต.ท.พงษ์ชัยเสนอยาว 5 ปี สนช.ฉะยับเรื่องตัดสิทธิ์ ก่อนหั่นทิ้งห้ามสมัครทำงานในสังกัดรัฐสภาถ้านอนหลับทับสิทธิ์ ส่วนจัดมหรสพตีกรอบวงเงินแค่ 20% หลังที่ประชุมอัดเละ “วิษณุ” เผยไม่ว่าใครแม้แต่ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปเลือกตั้ง แต่กลับถูกคาดคั้นประกาศให้ได้ ลั่นนับนิ้วมือ-นิ้วตีนจริงขยับ 3 เดือนได้หย่อนบัตร ก.พ.2562   
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม มีการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 4/2561 โดยมีวาระเรื่องด่วนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ..... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และ 3
โดยที่ประชุมเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 2 เป็นรายมาตรา ซึ่งในมาตรา 2 ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง กมธ.เสียงส่วนใหญ่มีมติแก้ไขให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศแล้ว 90 วัน แต่มี กมธ.เสียงข้างน้อย 2 กลุ่มสงวนคำแปรญัตติ โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ.วิสามัญฯ ชี้แจงความจำเป็นในการเลื่อนเวลาบังคับใช้  90 วัน ว่าเพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด 
ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลา กล่าวว่า สิ่งที่ กมธ.เสียงข้างมากทำเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่ กรธ.กำหนดไว้ เพราะทั้ง กรธ.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วางแผนและกรอบทำงานไว้อย่างยืดหยุ่นสามารถปฏิบัติงานได้ จึงไม่จำเป็นต้องขยายเวลา รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่เคยขอให้ กกต.มาทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 เลย
ส่วนนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลา 120 วัน ระบุว่า การขยายเวลา 90 วันไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแก่พรรคการเมืองไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน กลายเป็นแรงกดดัน รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเริ่มต้นในเดือน มี.ค.และ เม.ย. ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป 6 เดือน แต่ถ้าขยายเวลาออกไป 6 เดือน จะถูกวาทกรรมยื้อเวลา สืบทอดอำนาจมากดดัน จึงเห็นว่าควรขยายเวลา 90 วันน่าจะเพียงพอ แต่เมื่อมีขั้นตอนหลายอย่างต้องใช้เวลามาก เช่น การทบทวนรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวต ขณะที่ กกต.มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์ เช่น การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น หากไปกำหนดเงื่อนเวลา 90 วัน จะทำแบบกล้าๆกลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นจึงเห็นควรขยายเวลาเป็น 120 วันจะเหมาะกว่า
จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.อภิปรายในมาตราดังกล่าว โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ความจริงแล้วอยากได้ 180 วัน แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรเป็น 90 วัน ก็ต้องเคารพและสนับสนุน กมธ.เสียงข้างมาก ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาค้าน ก็ขอให้กล้าเอาความจริงมาพูด เพราะไม่ต้องการระบบไพรมารีโหวตหรือไม่ จึงออกมาคัดค้าน ดังนั้นอย่ากล่าวหา สนช.ว่าขยายเวลาเพื่อต่อเวลาให้ตัวเอง
อึ้ง! ชงยืดเวลา 5 ปี
ด้าน พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สนช. กล่าวว่า ถ้าไม่มีวันที่ 22 พ.ค.2557 เราจะไม่มีประเทศแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ ขอถามว่าที่ผ่านมานักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือนหรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
จากนั้น นายณัฏฐ์ เล่าห์สีสวกุล ตัวแทน กกต.ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วัน เพราะอำนาจขยายเวลาบังคับใช้เป็นของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของ กกต. ดังนั้นปฏิทินการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัดเจนในเดือน มิ.ย.2561 ซึ่งกิจกรรมพรรคการเมืองเริ่มได้เมื่อไหร่ ก็อยู่ในเดือน มิ.ย.เช่นกัน และระยะเวลาภายใน 150 วัน ถ้าให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด คาดว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 70 ของ 150 วันหลังจากพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตแล้ว ดังนั้นการขยายเวลา 90 วัน น่าจะเพียงพอ
ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ประชุมพิจารณามาตรา 35 ว่าด้วยเรื่องการจำกัดสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันควร ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากได้เพิ่มตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) การตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งรองผู้บริหาร ผู้ช่วยและที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกำหนดการตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปี
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กมธ.เสียงข้างน้อยอภิปรายว่า เห็นด้วยการตัดสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิสมัครรับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) เพราะข้าราชการรัฐสภามีการสมัครสอบบรรจุตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของ กร. เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 40   
ด้านนายอัชพร จารุจินดา กรธ. ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่สงวนความเห็นให้คงตามร่างเดิม ชี้แจงว่า การตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้งควรทำเท่าที่จำเป็น ไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร สิ่งที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่ม (4) จำกัดสิทธิสมัครรับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภานั้น สุ่มเสี่ยงกับการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ประกอบกับมาตรา 26 และ 27 ซึ่งการตรากฎหมายโดยเฉพาะเช่นนี้ จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะจำกัดเพียงสำนักงานรัฐสภาเพียงแห่งเดียว ส่วนการจำกัดสิทธิ์การได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ผู้บริหาร รองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งกระบวนการได้มาของคนเหล่านี้เป็นไปตามกฎหมายเมื่อได้รับเลือกมาแล้วแต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งด้วยการถูกจำกัดสิทธิ์ตามมาตรานี้จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ซ้ำซ้อนหรือไม่
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. อภิปรายว่า การตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ เป็นการตัดสิทธิเกินควร มีเจตนาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญชัดๆ ไม่รู้ทำทำไม หรือเพื่อต้องการให้มีการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการเมืองล้วนๆ ไม่มีเหตุผลรองรับ ดังนั้นขอให้ กมธ.ถอนการเพิ่ม (4) ออกไป
นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. อภิปรายว่า หากเพิกถอนออกไปได้ก็ควรดำเนินการ หากไม่ยอมคงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
ชี้อยากตัดสิทธิมากกว่านี้
ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างมาก ยืนยันว่า ไม่ได้อยากตัดสิทธิใคร และไม่มีเจตนาหรือตั้งใจให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้บัญญัติเรื่องการเสียสิทธิเอาไว้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการระบุเรื่องการตัดสิทธิที่ไม่ไปใช้สิทธิเอาไว้ และคงต้องถาม กรธ.ด้วยว่า ใน (1) (2) (3) ที่บัญญัตินั้นมีเจตนาอะไร เพราะมีการใช้คำว่าจำกัดสิทธิการสมัคร ซึ่งถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเหมือนกัน
        “เมื่อจะเขียนเพื่อกระตุ้นให้คนมาลงคะแนน ก็ต้องเขียนให้สมบูรณ์ ซึ่งเดิมคิดไปไกลถึงขั้นตัดสิทธิการรับราชการทั้งหมด หรือผู้มีตำแหน่งในปัจจุบันก็พ้นจากตำแหน่งด้วย ทั้งหมดเจตนาเพื่อให้มาลงคะแนน หากป่วยหรือมีความจำเป็น หรือติดภารกิจก็สามารถแจ้งได้ทั้งก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง ยืนยันว่าเราเจตนาเขียนเพื่อให้คนมาลงคะแนนมากๆ เพื่อสู้กับคะแนนที่เกิดจากการซื้อเสียง” นายเสรีกล่าว
    ต่อมาเวลา 15.20 น. ที่ประชุมพิจารณามาตรา 75 เกี่ยวกับข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากมีมติให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ จากเดิมที่ห้ามการแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง อีกทั้งยังห้ามรณรงค์โหวตโนด้วย
    โดยนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะจัดมหรสพ เพราะการกำหนดผิดไปจากการโฆษณาหาเสียงของนโยบายพรรค และจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการโฆษณาที่เกิดความเหลื่อมล้ำในวิธีการหาเสียง ทำให้การเลือกตั้งเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนโยบาย ที่สำคัญคือ การปฏิรูปด้านการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองที่มีมาตรฐาน ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ จึงสำคัญกับการพัฒนานโยบายพรรคเพื่อนำมาโฆษณาหาเสียง แต่ไม่ใช่ใช้มาตรการอื่นมาชักจูง จนทำให้ประชาชนไขว้เขวในระบบการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
อ้างมหรสพสู้คุมเสียง!
นายเสรีในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก กล่าวว่า การให้มีมหรสพจะช่วยป้องกันการเกณฑ์คนมาได้ การบอกว่าไม่มีมหรสพจะทำให้คนสนใจนโยบายมากกว่านั้นเป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น เรื่องการได้เปรียบหรือเสียเปรียบไม่ใช่ปัญหา เพราะเราควบคุมการใช้จ่ายเงินได้ การมีมหรสพจะแก้เรื่องเกณฑ์คนและควบคุมเสียงเลือกตั้งได้
ด้านนายตวงกล่าวว่า วันนี้เขาไปรวมกันในโลกไซเบอร์ ซึ่งต้องเข้าไปดูแล ถ้าบอกว่าจะสร้างมิติการเมืองสมัยใหม่ก็ควรคำนึงในค่านิยมปัจจุบันด้วย และถ้าจะให้มีมหรสพ ทาง กกต.ควรจะมีงานวิจัยหรือการศึกษาว่าอันไหนที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งที่มีคุณภาพมากกว่ากันระหว่างมีหรือไม่มีมหรสพ ซึ่งเรื่องมหรสพเป็นเรื่องเก่าที่เคยมีมาแล้ว และจะทำให้เกิดเป็นปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
นายณัฏฐ์ชี้แจงว่า กมธ.ได้นำข้อศึกษาของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่มีนายเสรีเป็นประธานมาใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนการคิดค่าใช้จ่ายค่าตัวดารานักร้องนั้น ทาง กกต.เตรียมจะออกระเบียบเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แม้ผู้สมัครจะเชิญศิลปินโดยอ้างว่าคิดค่าตัวแค่ครึ่งหนึ่งหรือช่วยฟรี ทาง กกต.จะยึดราคาตลาดปัจจุบันของศิลปินนั้นๆ รวมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งของผู้สมัครด้วย
ต่อมาเวลา 17.00 น. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ กมธ.เสียงข้างมาก กล่าวว่า กมธ.ได้รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก สนช.หลายคนและมีการหารือนอกรอบแล้ว ยืนยันว่าการให้จัดมหรสพระหว่างการหาเสียงยังต้องมีไว้ แต่จะให้ กกต.ไปวางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในวิสัยตามควรแก่กรณี ไม่ใช่ให้จัดได้โดยเสรี และเพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเล็กพรรคใหญ่จะให้ปรับปรุงวงเงินสูงสุดในการว่าจ้างมหรสพของแต่ละเขตพื้นที่ไม่เกิน 20% ของวงเงินหาเสียงในแต่ละเขต
ในช่วงเย็นได้มีการอภิปรายในเรื่องมาตรา 87 ว่าด้วยวัน-เวลาเลือกตั้ง ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากได้มีการแก้ไขจากเดิมที่ กรธ.เสนอมาให้เปิดหีบเลือกตั้งตั้งแต่ 08.00 น.และปิดหีบเลือกในเวลา 16.00 น. โดยแก้ไขเป็นเปิดหีบเลือกตั้ง 07.00 น. และปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น.    
จากนั้น เวลา 20.30 น. ภายหลังที่สมาชิก สนช.อภิปรายครบถ้วนทั้ง 178 มาตรา ที่ประชุม สนช.เริ่มลงมติเป็นรายมาตราที่แก้ไข ตั้งแต่คำปรารภ แต่ประธานที่ประชุมได้ขอให้ลงคะแนนเป็นหัวข้อสุดท้าย จากนั้นที่ประชุมจึงได้ลงมติรายมาตราที่แก้ โดยมาตรา 2 ว่าด้วยการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผลปรากฏที่มีประชุมเห็นด้วย 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 คะแนน 
ขณะที่มาตรา 35 ที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้มีการตัดสิทธิการเข้ารับราชการในสังกัดรัฐสภา ด้วยคะแนน 118 ต่อ 92 งดออกเสียง 13 เสียง แต่เห็นด้วยให้ตัดสิทธิการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารท้องถิ่นแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติม
ต่อมาในการลงมติว่าเรื่องมหรสพได้มีการถกเถียงกันอย่างมากในเรื่องของวงเงินค่าใช้จ่ายก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติเรื่องดังกล่าวเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ก่อนที่จะประชุมจะมีการลงมติตามมาตราที่มีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ก่อนปิดประชุม 
ลั่นอย่างช้าสุด มี.ค.2562
ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวช่วงหนึ่งในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า" ตอน "กฎหมายหลายรส เพื่ออนาคตประเทศ" ถึงกรณีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคเก่าหรือพรรคใหม่ เพราะมีเวลาทำกิจกรรมพอๆ กัน ซึ่งการเลื่อนบังคับใช้ก็ไม่กระทบโรดแมปมากถึง 1-2 ปี เต็มที่แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น โดยหากเลื่อนไป 90 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งประมาณเดือน ก.พ.2562 แต่ถ้าเลื่อนเป็น 120 วัน การเลือกตั้งก็เลื่อนออกไปอย่างช้าที่สุดก็คือ มี.ค.2562
“ไม่ว่าใครก็ตามในประเทศนี้ ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแมปเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำไป พูดก็พูดเถอะ แม้แต่นายกฯ ก็ไม่ควรพูด แต่เพราะว่าถูกถาม และคาดคั้นให้ตอบให้ได้ จึงต้องตอบจากความน่าจะเป็นไปได้ที่สุด และก็ถือว่าไม่ผิด ซึ่งกรณีนี้ไม่ว่าใคร นับนิ้วมือ นิ้วตีน ก็นับได้อย่างนั้นจริงๆ ผมก็นับให้คุณฟัง ถ้าเราตัดปัจจัยที่มันเพิ่งโผล่ขึ้นมา มันก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามีโน่นนี่โผล่ขึ้นมา เช่น 90 วัน แล้วใครมาบอกว่านี่โกหก ไม่มีสัจจะ มันไม่ใช่สัจจะ แต่เราถูกบีบคอให้พูด เรื่องแบบนี้ปัจจัยที่ทำให้ไม่เป็นไปตามกำหนดเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 นั้น ไปอธิบายนานาชาติ ชาติไหนเขาก็เข้าใจ เว้นแต่จะแกล้งและพยายามไม่เข้าใจ” นายวิษณุกล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สิ่งที่ดีในการร่างฯ นี้คือ ขยายเวลาเลือกตั้งจาก 08.00-15.00 น. เป็น 07.00-17.00 น. ซึ่งประชาชนจะได้มีเวลาออกมาใช้สิทธิมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ดีคือ การให้ผู้สมัคร-พรรคการเมืองจัดมหรสพได้ คนรวยได้เปรียบคนจน แม้มีกรอบเพดานเงินหาเสียง แต่อาจมีลูกเล่นซุกค่าใช้จ่ายได้ รวมทั้งการตัดสิทธิคนไม่ไปใช้สิทธิ ห้ามสมัครเป็นข้าราชการรัฐสภา ที่มองว่าไม่เห็นเป็นสาระ เพราะข้าราชการรัฐสภามีสักกี่คน รับปีละสักกี่ราย ไม่มีผลอะไร ทางที่ดี สนช.ที่ขาดประชุมเกินครึ่ง ควรตัดสิทธิรับเงินเดือน
     “เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน ไม่ได้ช่วยให้ใครพร้อมขึ้นสักเท่าไร อาจช้าไปเดือน พ.ย. เวลาแค่ 1 เดือน ได้กำไรมา 1 เดือน ไม่ทำให้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพิ่มขึ้น แต่ถูกด่าเป็นชุดไปอีกนาน คุ้มไม่คุ้มคิดเอง” นายสมชัยโพสต์
วันเดียวกันในช่วงเช้า นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เพื่อให้คงมาตรา 11 (14) ในการแบ่งกลุ่มผู้สมัครตามมาตรา 11 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ....ที่ กรธ.ร่างไว้ หลัง กมธ.เสียงข้างมากมีการยุบกลุ่มสตรี ซึ่งนายสุรชัยยืนยันว่า เห็นด้วยที่จะแยกกลุ่มสตรีออกเป็นกลุ่มเดียวโดยเฉพาะ และจะข้อเสนอนี้ไปมอบให้กับสมาชิก สนช.ทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"