“ประยุทธ์” ย้ำก่อน-หลังเลือกตั้งต้องสงบ ลั่นไม่ใช่นักการเมือง “บิ๊กป้อม” ขู่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-หัวคะแนนอย่าเพิ่งขยับหาเสียง “เด็กเพื่อไทย” ย้อนเกล็ดบิ๊กตู่พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย “มาร์ค” ซัดปิดช่องสื่อสารประชาชนเท่ากับช่วยพรรคการเมืองที่ไม่คิดได้คะแนนบริสุทธิ์ “ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล” เตือนระวังไต้ฝุ่นมังคุดการเมืองหลังสถิติกลุ่ม ”เชียร์-ต้าน” รัฐเริ่มใกล้กัน “วิโรจน์” หวนกลับมาเต็งคุมเพื่อแม้ว เล็งใช้รูปแบบเหมือนยุคยิ่งลักษณ์ที่นายกฯ ไม่ใช่หัวหน้าพรรค
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรีบางส่วนได้ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเลย โดยได้กล่าวในระหว่างเป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชนให้แก่ประธานป่าชุมชน 5 จังหวัด ว่าการเลือกตั้งจะเลือกกันยังไง เลือกจากอะไร พูดในฐานะเป็นรัฐบาลวันนี้ที่ต้องการสร้างความปรองดอง สร้างความสงบสันติในชาติ ในช่วงการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง มันต้องสงบแบบนี้ หรือใครไม่ต้องการ ใครต้องการให้มันตีกันอีก ว่ากันไปว่ากันมาให้ร้ายกันไปกันมา
“ผมระวังที่สุดที่จะไม่ไปก้าวล่วงของใคร เว้นแต่ว่าผมต้องชี้แจงกรณีที่มีหลายคนก้าวล่วงรัฐบาล เพราะผมไม่ได้ไปต่อสู้อะไรในขั้นตอนนี้ ผมไม่ใช่นักการเมืองตอนนี้ ผมทำหน้าที่งานการเมืองให้ท่าน ทำให้คนทั้งประเทศ ไม่ได้ทำให้คนที่ชอบผม แล้วไม่ทำให้คนที่ไม่ชอบผม ไม่ใช่ ทำให้ทุกคน จึงต้องมีแผนแม่บท เราต้องวางแผน 5-10 ปีจะเป็นอย่างไร ไปจนถึง 20 ปีเป็นอย่างไร เราจะเห็นอนาคตของเราในแผนแม่บทตัวนี้ แต่การไปถึงตรงนั้นได้ ทุกรัฐบาลต้องเดินต่อ ทุกรัฐบาลอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี วันนี้หลายคนบอกรัฐบาลนี้อยู่นาน แล้วทำไมให้เขาเข้ามา อยู่กันแบบเดิมเดี๋ยวก็ตีกันต่อไปได้อีก แต่อย่าทำเลย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จำไว้ แผ่นดินของเรา เราไปว่าคนโน้นคนนี้ แล้วกลับมาดูตัวเองด้วยว่าเราทำอะไร ผมไม่ได้ว่าใคร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า การเลือกตั้งจะมาถึงในเร็ววันนี้ ขอฝากท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันระมัดระวังอย่าให้เกิดความวุ่นวายอีกเลย มันก็กลายกลับไปว่ารัฐบาลไม่อยากให้เลือกตั้งอีก มันอยู่ที่ท่านทั้งนั้นแหละ รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลประชาชน ไม่อยากใช้กำลังกฎหมาย ไม่อยากอะไรกับใคร เพราะเราคือคนไทยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อฟังสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนเหล่านี้ วันนี้ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานให้ท่าน ถ้าไม่มีแล้วใครจะช่วยท่าน เรากำลังก่อสร้างปราสาทของเราขึ้นมา เรากำลังสร้างบ้านของเราขึ้นมา กำลังสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาให้เข้มแข็ง ไม่ให้มันพังทลายไป เติมด้วยอิฐ ปูน ทรายลงไปและเชื่อมด้วยน้ำใจของพวกเรา ผสมลงไปในนั้น ความทุ่มเทความเสียสละของทุกคน จะทำให้ปราสาทหลังนั้น บ้านเมืองของเรา หรือประชาธิปไตยของเราเข้มแข็ง ไม่ให้พังลงไปข้างล่าง ไม่ให้ใครมาเซาะฐานราก แกนหลักของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้สำคัญขอฝากทุกคนไว้ด้วย
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมพร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจราชการและมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่ส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยกล่าวในช่วงท้ายว่า ตอนนี้กฎหมายลูกออกมาแล้วเรื่องเตรียมเลือกตั้ง ต้องช่วยกันดูแลเรื่องของการเมืองท้องถิ่นให้ดี ไม่ใช่ใช้อาชญากรรม อาวุธสงคราม และขณะนี้เราก็ปรองดองกันอยู่แล้ว แต่ความคิดการเมืองคิดได้ ต่างได้ แต่การใช้กำลังใช้ไม่ได้เด็ดขาด แบ่งกลุ่ม แบ่งพวกมาตีกัน ฝากผู้ว่าฯ ดูแลด้วย แต่ความคิดทางการเมืองสามารถแบ่งแยกได้ คิดคนละอย่างได้
บิ๊กป้อมขู่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
"ตอนนี้ยังโฆษณาหาเสียงไม่ได้ นโยบายพรรคยังออกไม่ได้ ทุกหน่วยงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอย่าเพิ่งหาเสียง เราคุยกันได้ แต่ที่เราไม่สามารถปลดล็อกได้เพราะกฎหมายมันออกมาอย่างนี้ 90 วันไม่ได้ กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนรับทราบ ปฏิบัติตามด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหัวคะแนนระมัดระวัง นายอำเภอควรประชุมกำนัน ผู้ใหญ่ทุกเดือน ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้างให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะรัฐบาลพยายามช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว" พล.อ.ประวิตรกล่าว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุไม่ใช่นักการเมืองตอนนี้ แต่ทำหน้าที่งานการเมืองว่า ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่าต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ใช่ทหารเข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร จะเห็นได้ว่าสิ่งที่พูดห่างกันเพียง 8 เดือนตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง อาจเรียกได้ว่าพูดไม่อยู่กับร่องกับรอยหรือไม่ ซึ่งผลเสียจะตกอยู่กับท่านคนเดียว และยังทำให้คนไทยทั่วไปถูกมองได้ว่ามีนิสัยโกหกคำโตเหมือนกันหรือไม่
“ขอให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับความจริงว่าเป็นนักการเมือง เหมือนกับที่เคยให้ความเห็นไว้แล้วเมื่อ 3 ม.ค. เมื่อยอมรับว่าเป็นนักการเมือง จะได้เข้าใจว่าทำไมนักการเมืองและคนไทยโดยทั่วไปต้องการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” นายชวลิตกล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงคำสั่งของ คสช.คลายล็อกถือว่ามีความชัดเจนหรือไม่ว่า จะบอกว่าไม่ชัดเจนก็คงไม่ได้ เพราะเรื่องการหาสมาชิกพรรค หากไม่ทำกิจกรรมหรือพูดโน้มน้าวก็หาได้ยาก ซ้ำยังต้องให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคอีก สะท้อนให้เห็นว่า คสช.ไม่เข้าใจงานการเมือง เพราะงานธุรการกับงานการเมืองแยกจากกันไม่ได้ งานการเมืองไม่ใช่แค่หาเสียง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องมีทัศนคติว่าพรรคการเมืองมีไว้หาเสียงเท่านั้น พรรคการเมืองที่ดีต้องทำงานตลอด พรรคเสียดายที่คิดจะปฏิรูปการเมือง แต่กลับมองว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่เพียงเท่านี้
“ไม่อยากให้มองการทำกิจกรรมเป็นการจำกัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่อยากให้มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ของประชาชนมากกว่า เพราะคนที่จะได้คะแนนบริสุทธิ์จากประชาชนต้องทำงานการเมือง ยิ่งจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่าไหร่ เท่ากับยิ่งช่วยพรรคการเมืองที่ไม่คิดจะได้คะแนนเสียงที่บริสุทธิ์ให้ได้คะแนนมาโดยง่าย ผมฝากถาม คสช.ว่าอยากได้การเมืองแบบไหน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษก พท.กล่าวเรื่องนี้ว่า เมื่อคลายล็อกแล้วไม่ควรนำมาตรา 44 มาใช้กับกระบวนการเลือกตั้ง หรือจะทำการเลือกตั้งให้เป็นแค่พิธีกรรม เพื่อบอกนานาอารยประเทศว่ามีเลือกตั้งแล้ว คสช.ไม่ควรทำตัวเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียเอง การใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมืองในการสื่อสารนโยบายอะไรทำได้ทำไม่ได้ควรให้ กกต.ชี้แจง หากฝ่ายการเมืองทำผิดก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้อยู่แล้ว รัฐบาลประกาศ internet of things ไทยแลนด์ 4.0 แต่การดำเนินการจริงสวนทางกับที่ประกาศหรือไม่ ประชาชนจับตาดูความจริงใจของรัฐบาล คสช.ในการนำพาประเทศชาติไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
ส่วนนายสิระ พิมพ์กลาง หัวหน้าพรรคเพื่อนไทย กล่าวว่า หลังจาก คสช.คลายล็อกแล้ว แต่พรรคยังไม่ได้รับการรับรองเป็นพรรคอย่างสมบูรณ์จาก กกต. จึงขอความกรุณาให้ กกต.เร่งตรวจสอบ เอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อพรรคจะได้ดำเนินงานการเมืองตามที่กฎหมายระบุไว้ และในวันที่ 28 ก.พ.หากพรรคได้รับคำเชิญไปร่วมพูดคุยกับ กกต.ก็พร้อมร่วมแลกเปลี่ยน และสอบถามถึงความชัดเจนเรื่องข้อห้ามหาเสียงในโซเชียลมีเดียว่ามีกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง
เตือนไต้ฝุ่นมังคุดการเมือง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้วิเคราะห์การเมืองจากสถิติของโพลในหัวข้อ “ระวังไต้ฝุ่นมังคุดการเมืองในไทย” ว่า ตัวเลขทางสถิติที่สำรวจเจอแสดงให้เห็นถึงการก่อตัวขึ้นแบบเผชิญหน้า ทุกๆ ฝ่ายต้องมีวินัยและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่เป็นต้นตอของความขัดแย้งเสียเอง เพราะตัวเลขสถิติทางการเมืองไทยที่อาจก่อตัวจนกลายเป็นไต้ฝุ่นมังคุดการเมืองไทย คือ ตัวเลขที่อยู่ในกลุ่มคนสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบ
“ตัวเลขของทั้งสามกลุ่มนี้เปรียบเสมือนน้ำและตะกอนในแก้ว 3 ใบ และน้ำเป็นกระแสถ่ายเทได้ไปอยู่ในแก้วใบอื่นได้ โดยทั่วไปแก้วการเมืองแต่ละใบมีตะกอนของตัวเองตัวเลขจะอยู่ประมาณ 5-10% ในฐานสนับสนุนรัฐบาลและไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มพลังเงียบที่อาจไหลไปตามกระแสข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ถูกฝ่ายการเมืองพยายามมาช่วงชิงไปเป็นพวกของตน ด้วยการปั่นกระแสเพื่อใช้เป็นตัวประกันต่อรองแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์” ดร.นพดลวิเคราะห์
ดร.นพดลย้ำว่า ตัวเลขทางสถิติเริ่มก่อตัวออกมาแล้ว ที่น่ากลัวจนอาจกลายเป็นไต้ฝุ่นมังคุดสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนได้คือ ถ้าตัวเลขทางสถิติสูงขึ้นในฐานสนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล โดยเริ่มจาก 70:30 เป็น 60:40 และตัวเลขที่น่ากลัวที่สุดคือตัวเลขเผชิญหน้าคือ 50:50 คือ คนหนุนกับคนต้านพอๆ กัน และเวลานั้นฝ่ายการเมืองก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง แต่จะกลายเป็นต้นตอความขัดแย้งทำลายล้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และความมั่นคงของประเทศก็จะสั่นคลอน ดังนั้นประชาชนทั้งประเทศต้องรู้เท่าทันเกมแย่งชิงอำนาจนี้ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ให้ยึดหลักผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แต่ก็ยาก
“สุดท้ายแล้วแต่ละคนก็มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว จึงจำเป็นต้องใช้ตัวแทนอำนาจรัฐ และตัวแทนอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจรัฐที่พอจะคุยกันรู้เรื่องมาเป็นหนึ่งเดียวกันแบบไร้รอยต่อ เอาหัวกะทิส่วนใหญ่แม้ไม่ได้ทั้งหมดของแต่ละกลุ่มมาคุยกัน โจทย์คือต้องเป็นหัวกะทิแท้จริง มาทำงานร่วมกันเพื่อสยบการก่อตัวไต้ฝุ่นมังคุดการเมืองในไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน และบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้อย่างสบาย” ดร.นพดลระบุ
วันเดียวกัน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และคณะได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน กรณีไลฟ์เฟซบุ๊กรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และเพจอนาคตใหม่ - future forward party ซึ่งนายธนาธรระบุว่ามารับข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธ โดยจะให้การเป็นลายลักษณ์ภายใน 45 วัน ซึ่งไม่กังวลและจะไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป เพราะสื่อโซเชียลเป็นช่องทางที่ถูกที่สุดในการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค
“พ.ร.บ.คอมพ์เป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ปิดปากสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากพรรคมีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลก็จะอยากเสนอแก้ไขด้วย” นายธนาธรกล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวในการบริหารจัดการภายในพรรคนั้น ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีการประชุมทีมกฎหมายของพรรค โดยนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการ ภท.กล่าวภายหลังว่า ได้พิจารณาเรื่องข้อบังคับ ประกาศอุดมการณ์และนโยบายพรรค เพื่อนำเสนอต่อการประชุมกรรมการบริหารพรรค ที่จะประชุมในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ส่วนการประชุมใหญ่จะประชุมในวันที่ 2 ต.ค.61 เวลา 09.30 น. ที่ทำการพรรค
'วิโรจน์' หวนเต็งเพื่อไทย
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ขั้นตอนการประชุมใหญ่พรรคเพื่อเห็นชอบร่างข้อบังคับพรรค รวมถึงการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อย่างเป็นทางการ คาดว่าอาจเสร็จสิ้นภายในช่วงไม่เกิน 2 สัปดาห์ถัดจากนี้ ซึ่งตอนนี้พรรคกำลังพิจารณาร่างข้อบังคับพรรคฉบับใหม่ รวมถึงนโยบายพรรค คำประกาศอุดมการณ์ของพรรคที่ต้องทำออกมาที่เป็นเรื่องใหม่ตามกฎหมายพรรคการเมือง
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม และประธานภาคอีสานเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าว พล.ต.ท.วิโรจน์จะนั่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ปัจจุบันเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว เรื่องอาวุโสก็ไม่มีปัญหา คิดว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ก็น่าไปได้ เพราะมีทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ถือว่ามีพร้อม
“พรรคก็ผลักดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมา แต่การเป็นผู้นำพรรคกับการขับเคลื่อนนโยบายพรรคจะไม่เหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าต่างก็ต้องอาศัยประสบการณ์มาช่วยอยู่ดี” นายประยุทธ์กล่าว
มีรายงานว่า พล.ต.ท.วิโรจน์อาจได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากอยู่กับพรรคมานานและคนในพรรคยอมรับ อีกทั้งจะได้ไม่ทำให้เกิดปัญหาภายในหากมีการดันใครขึ้นมาแล้วบางฝ่ายไม่ยอมรับ ส่วนแกนนำเพื่อไทยคนอื่นๆ ก็ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ประกาศชื่อได้ 3 ชื่อ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยใช้มาแล้วตอนช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2554 ที่ให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเป็นหัวหน้าพรรค และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานมาเป็นเลขาธิการพรรค และให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกฯ
ด้านนายไกลก้อง ไวทยการ ว่าที่นายทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคจะมีการเผยแพร่อุดมการณ์ หาสมาชิก ระดมทุน รวมถึงการจัดทำนโยบาย ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือน ต.ค.พรรคจะจัดตั้งอย่างเป็นทางการ
ส่วนที่สำนักงาน กกต. นายโชติวุฒิ เขียนนิลศิริ ว่าที่เลขาธิการพรรคพลังชาติไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือในนามของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรค เพื่อถอนรายชื่อ 8 กรรมการบริหารพรรคออก เนื่องจากทั้ง 8 คนได้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค เพราะได้แจ้งให้นายทะเบียนได้รับทราบ และทั้ง 8 คนไม่ใช่ตำแหน่งหลัก ประกอบกับข้อบังคับพรรคกำหนดว่ามีกรรมการบริหารพรรคไม่เกิน 30 คน การเลือกมา 28 คน แล้วลาออก 8 คนก็ยังถือว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือไม่น้อยกว่า 15 คน
“เมื่อทั้ง 8 คนมีอุดมการณ์และแนวคิดไม่ตรงกัน ทางพรรคก็พร้อมให้ถอนชื่อออก โดย พล.ต.ทรงกลดก็ยืนยันที่จะเดินหน้าสร้างพรรคพลังชาติไทยเพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนต่อไป” นายโชติวุฒิระบุ
นายสุรพัฒน์ หมื่นศรีรัชต์ กรรมการบริหารพรรคที่ลาออกให้เหตุผลว่า การทำงานไม่ราบรื่น ล้ำเส้น ซ้ำซ้อน ทำงานได้ยาก ประชุมพรรค 2 ครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้รับการจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรค จึงเป็น 2 เหตุผลหลักยื่นขอถอนชื่อ โดยนอกจากทั้ง 8 คนแล้วยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 50 เขต ที่เป็นอดีต ส.ส., ส.จ., นายก อบต. และคนหน้าใหม่อยากเข้ามาทำงานการเมืองก็จะลาออกไปด้วย โดยได้รับการประสานงานจาก 2 พรรคการเมืองที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกพรรค โดยพรรคหนึ่งเป็นพรรคที่จะประชุมใหญ่ปลายเดือนนี้ ส่วนอีกพรรคเป็นพรรคที่ข้าราชการและครูให้การสนับสนุน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |