โบราณคดีใต้น้ำไทยก้าวหน้า เตรียมนำ"หุ่นยนต์'สำรวจแทนมนุษย์


เพิ่มเพื่อน    

นักโบราณคดีใต้น้ำสาธิตการทำงานร่วมกับยานสำรวจใต้น้ำที่สระเดชพิรุฬห์
 

     นับตั้งแต่ที่งานโบราณคดีใต้น้ำเริ่มขึ้นช่วงปี 2517 พบซากเรือโบราณ รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกจำนวนมากจมอยู่ในร่องน้ำใกล้เกาะคราม จ.ชลบุรี หลายคนก็หวังว่าจะมีงานสำรวจ ขุดค้น เก็บกู้โบราณวัตถุใต้น้ำทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทะเล แม่น้ำ คลอง อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ซึ่งตอนนี้งานโบราณคดีใต้น้ำยังไม่หยุดพัฒนา  เพราะมีแผนใช้หุ่นยนต์รับผิดชอบงานโบราณคดีใต้น้ำมากขึ้น 
    การนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์กบนักโบราณคดีใต้น้ำ จะช่วยให้การทำงานสำรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่การดำน้ำลึก, การขุดค้น, การบันทึกข้อมูล และถ่ายรูป เป็นต้น โดยขณะนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือการผลิตหุ่นยนต์ดำน้ำกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือแล้ว ซึ่งจะมีการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์จริง ทดสอบการทำภารกิจใต้น้ำในอีก 1-2 ปีนี้ 

 


    ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กล่าวว่า กองโบราณคดีใต้น้ำมีหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อศึกษา วิจัย สำรวจ ขุดค้นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ วิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้านตามกระบวนการศึกษาวิจัย ก่อนนำผลศึกษางานโบราณคดีใต้น้ำเผยแพร่ รวมถึงให้คำปรึกษา แนะนำ แปลและตีความข้อมูล นอกจากนี้มีภารกิจจัดฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีใต้น้ำ ซึ่งตั้งเป้าเป็นศูนย์ฝึกโบราณคดีใต้น้ำระดับอาเซียน 
    "อีกหน้าที่ของงานโบราณคดีใต้น้ำต้องพัฒนาและปรับปรุงเทคนิค และอุปกรณ์ปฏิบัติงานใต้น้ำให้เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด เพราะการปฏิบัติงานใต้น้ำมีความเสี่ยงสูง นักดำน้ำต้องดำน้ำลึก เผชิญแรงกดดันของน้ำในการสำรวจค้น ต่างจากการหายใจปกติ สภาพใต้น้ำขุ่น คลื่นลม กระแสน้ำแรง พบสัตว์มีพิษใต้น้ำ อีกทั้งต้องกินนอนบนเรือ ปฏิบัติการแรมเดือน เราเคยสูญเสียนักโบราณคดีใต้น้ำขณะปฏิบัติงานมาแล้ว ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร จะต้องพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำตัวใหม่มาช่วยทำงาน" ร้อยเอกบุณยฤทธิ์กล่าว

 ยานสำรวจใต้น้ำเก็บกู้เครื่องถ้วยสังคโลก 
  

      หุ่นยนต์ดำน้ำตัวนี้ ผอ.กองโบราณคดีให้ภาพว่า จะทำภารกิจสำรวจ ขุดค้น บันทึกแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ ลงพิกัดใต้น้ำได้ถูกต้อง ช่วยลดระยะเวลาในการค้นหา เน้นภารกิจดำน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 100 เมตร สามารถตรวจจับเสียงสะท้อนกลับ ถ่ายภาพ และส่งข้อมูลพื้นที่จริงกลับมายังศูนย์หรือเรือ เพื่อวิเคราะห์หลักฐานที่ได้ หุ่นยนต์ดังกล่าวจะเคลื่อนย้ายได้สะดวก สามารถนำใส่เรือแววมยุรา เรือปฏิบัติการทางทะเลของกองโบราณคดีใต้น้ำได้ นับเป็นอีกการพัฒนางานเก็บกู้โบราณวัตถุซึ่งมั่นใจว่าจะได้ผลสำเร็จ โดยในปี 2562 จะเป็นงานทางทะเลสำรวจขุดค้นแหล่งเรือจมเกาะมันนอก อ.แกลง จ.ระยอง รวมถึงทำงานเชิงรุกมากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นเชิงรับ เมื่อได้รับแจ้งข่าวจากชาวประมง พบเครื่องถ้วย เรือจม เรือโบราณ นักโบราณคดีใต้น้ำก็เข้าไปตรวจสอบ ปีหน้าจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำอาเซียนด้วย 

 


    งานโบราณคดีใต้น้ำพัฒนาอุปกรณ์ให้ทันสมัย

     ปัจจุบันกองโบราณคดีใต้น้ำยังคงปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงจัดฝึกอบรมด้านโบราณคดีใต้น้ำทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการทำงานโบราณคดีใต้น้ำ และอนุรักษ์มรดกใต้ท้องทะเลไทย โดยมีสระฝึกดำน้ำเดชพิรุฬห์ สุดทันสมัย ตั้งอยู่ที่ค่ายเนินวง อ.เมือง จ.จันทบุรี ใช้ฝึกอบรมดำน้ำและทดสอบการดำน้ำ ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร มีความลึก 3 ระดับ ได้แก่ 1.2-2 เมตร, 5 เมตร และ 12 เมตร ด้านทิศตะวันตกติดกระจกอะครีลิกกว้าง 1.2 เมตร ยาว 4 เมตร หนา 10 เซนติเมตร ใช้สังเกตการณ์ฝึกขั้นสูงระหว่างมีกิจกรรมดำน้ำ ที่น่าทึ่งได้เป็นศูนย์ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกแห่งสำคัญ ทั้งนี้ ในพื้นที่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี เปิดให้เข้าชมด้วย ภายในจัดแสดงเรื่องพาณิชย์นาวี เส้นทางเดินเรือ เมืองท่าโบราณ ตลอดจนจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบ แล้วยังมีห้องของดีเมืองจันท์.  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"