'ขยะพลาสติก' ปัญหาขบคิดระดับชาติ


เพิ่มเพื่อน    

 

ขยะพลาสติกในทะเล เครดิตภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

      ขยะพลาสติกในประเทศไทยติดโผมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่ากังวลก็คือ ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลจำนวนมาก กลายเป็นแพขยะในทะเลขนาดใหญ่ 
    วิกฤติขยะพลาสติกยังเป็นปัญหารุนแรงต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง นำมาสู่การเดินหน้าทำแผนลดขยะ และเพิ่มวิธีรีไซเคิลพลาสติก โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  (กก.วล.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กก.วล. มีมติแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติก จำนวน 3 คณะ เมื่อต้นเดือน ส.ค.2561 ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการขยะพลาสติก เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย  เพื่อจัดการขยะพลาสติก คณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการขยะพลาสติก และคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก เพื่อร่วมกันพัฒนา หารูปแบบและวิธีการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2570  

 


    เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงปัญหาขยะพลาสติกว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางจัดการขยะพลาสติก เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จึงได้จัดเสวนาเรื่อง 'แนวทางการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต" ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว เมื่อวันก่อน 
    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะพลาสติกสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะขยะทะเลซึ่งสลายตัวกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติก  ปลากินพลาสติก คนกินปลา เวลานี้ระบบห่วงโซ่อาหารสะสมด้วยไมไครพลาสติก ขยะในทะเลล้วนมาจากบนบก เช่น เกาะสมุยมีปริมาณขยะ 1 แสนตัน ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง ขยะพลาสติกก็ไหลลงทะเล แม้แต่ขยะลอยเกลื่อนคลองกลางกรุงก็ลงทะเล แม่น้ำสายต่างๆ นำขยะพลาสติกสู่ทะเล 70% ไทยสร้างขยะ 27 ล้านตัน จัดการถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ไทยต้องหาทางออกจัดการขยะพลาสติก การสร้างที่ฝังกลบ เตาเผาขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะถูกต่อต้าน แต่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ไทยมีบทเรียนหลายโครงการ หากเทคโนโลยีไม่มีประสิทธิภาพจะกระทบความเป็นอยู่ประชาชน 
    "ไทยสร้างขยะ 27 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตัน แต่ละคนสร้างขยะ 1 กิโลกรัม 1 ขีด ต่อวัน เป็นถุงพลาสติก 8-10 ใบต่อวัน ไทยสร้างขยะเปียกมากกว่า 62%  ถ้าสามารถจัดการขยะเปียก ผัก ผลไม้ จะมีทางออก แต่ถ้าเลือกฝังกลบหมด เราต้องการพื้นที่อีกมาก ขณะที่นำไปเผาก็ไม่เกิดประโยชน์ กระแสโลกให้ความสำคัญขยะอาหาร ส่วนขยะพลาสติก ขยะในทะเลไหลมาจากแม่น้ำมากที่สุด แม่น้ำโขงเป็นแหล่งกำเนิดขยะพลาสติกในทะเลมากสุดแห่งหนึ่งในโลก จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร  ขยะทะเลที่พบอันดับ 1 ถุงพลาสติก ตามด้วยหลอด ฝาพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร สัตว์น้ำ 200 ชนิด ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซากวาฬ ปลา เต่า เสียชีวิตพบเศษพลาสติก" ดร.วิจารย์ชี้ปัญหา

 

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพย์

 
    ปลัดกระทรวงทรัพย์กล่าวด้วยว่า ทั่วโลกตื่นตัวปัญหาขยะพลาสติก ออกมาตรการหลายรูปแบบ อย่างชิลีออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก ส่วนอินเดียให้คำมั่น หยุดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ไต้หวันขยายมาตรการเพิ่มห้ามใช้พลาสติกความหนาน้อย เพราะใช้ครั้งเดียวต้องทิ้ง ในทวีปอเมริกา บราซิลรณรงค์ให้ประชาชนลดใช้ถุงพลาสติก หลายเมืองในสหรัฐห้ามใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายไม่ได้ ร้านค้าขายถุงแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกไทยต้องศึกษาและวิเคราะห์มาตรการจัดการขยะพลาสติกต่างประเทศ ปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐและเอกชนผนึกกำลังกันลดขยะพลาสติก ทั้งยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หรือ Cap seal งดนำเข้าโฟม ถุงหูหิ้วเข้าอุทยานฯ   ปัจจุบันไทยผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบ ใช้ในตลาดสดกว่า 20,000 ล้านใบ ซึ่งมีการตั้งเป้าลดใช้ถุงหูหิ้ว  4,000 ล้านใบต่อปี 
    งานเสวนายังสะท้อนการเร่งจัดการขยะพลาสติกของสหภาพยุโรป สุทธิยา จันทวรางกูร Programme Officer คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า  สหภาพยุโรป (อียู) เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน มอง 4 เรื่อง คือ กระบวนการผลิต บริโภค กำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ และเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันอียูนำเข้าทรัพยากรมากกว่าส่งออก หวั่นเกิดปัญหาวัตถุดิบและนวัตกรรมในการกำจัด 

 

สุทธิยา จันทวรางกูร ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย      


    ผู้แทนอียูระบุเมื่อ 10 ปีก่อนมีคำว่า Green Economy และ Green Growth แต่ปัจจุบันใช้แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเป็นการเน้นใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะดีขึ้น และนำขยะพลาสติกกลับเข้ารีไซเคิล เป็นส่วนหนึ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่ระบบนิเวศได้รับผลกระทบน้อยลง อียูหยิบประเด็นขยะพลาสติกออกเป็นแผนปฏิบัติการในปี 61 วันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมาจับมือกับสหประชาชาติเปิดโครงการลดพลาสติกใช้ครั้งเดียว ปี 58 ตัวเลขนำเข้าพลาสติกของอียู 49 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นบรรจุภัณฑ์เกือบ 40% กลายเป็นขยะต้องเร่งจัดการ ปัจจุบันรีไซเคิลพลาสติก 30% อียูอยากเห็นตัวเลขมากขึ้น รวมถึงพลังงานขยะต้องเพิ่มขึ้น ส่วนฝังกลบให้ลดลง โดยมีกรอบทำงานและข้อบังคับชัดเจน 28 ประเทศสมาชิกอียูต้องนำไปแปลงเป็นกฎหมายและแนวทางปฏิบัติตามวิถีแต่ละชาติ 
    "กลยุทธ์อียูมี 4 เสาหลัก คือ จำกัดการใช้พลาสติกและการทิ้งพลาสติก ปรับปรุงกระบวนการผลิต การรีไซเคิล และออกแบบวิธีการ นอกจากนี้ อียูกระตุ้นทุกภาคส่วนในโลกลดพลาสติกใช้ครั้งเดียว โดยไทยเป็นหนึ่งในผู้ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลติดอันดับโลก ปลายปีนี้จะร่วมดำเนินกิจกรรมลดขยะพลาสติกกับไทย" สุทธิยาเผย
    อีกแนวคิดจัดการขยะที่ฮอตมากในอียูก็คือ การออกนโยบายส่งเสริมให้ออกแบบวัสดุที่มีดีไซน์และคงทนมากขึ้น มีส่วนที่นำมารีไซเคิลใหม่ได้มากขึ้น นอกจากนี้ มีการโปรโมตสินค้ามือสองให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันพบร้านขายของมือสองที่อังกฤษ เยอรมนี เบลเยียม มีลูกค้าที่ไม่ใช่กลุ่มคนยากจนเพิ่มขึ้น นี่คือเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้มีกรอบเอื้อต่อการผลิตอย่างยั่งยืน ภาคเอกชนลงทุน  กฎหมายจูงใจ แต่สิ่งสำคัญสุดคือผู้บริโภค เป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 
    ปัญหาขยะทางทะเล อียูก็หนักหน่วงไม่แพ้ไทย สุทธิยาเผยว่า 276 ชายทะเล กับ 4 คาบสมุทรของยุโรป มีขยะไหลลง กระทบทรัพยากรธรรมชาติ ผลศึกษาชี้อันดับหนึ่งขวดน้ำ ถัดมาก้นบุหรี่ คัตตอนบัต ถุงขนมก๊อบแก๊บ ถุงพลาสติก ตามลำดับ นำมาสู่แนวทางจัดการขยะแต่ละประเภท ทำให้กลุ่มอียูตั้งเป้าในปี 2568 ต้องมีการแยกขยะที่เป็นขวดออกมาให้หมด และไม่ได้มีแต่นโยบาย ยังมีการมอนิเตอร์ติดตามผล ประเมินทุก 6 ปี ทั้งนี้ เพื่อขันนอตแก้ปัญหาขยะพลาสติก ควบคู่สร้างความตระหนักแก่ประชาชน  
    การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพลาสติก ให้ยั่งยืนเป็นอีกหัวข้อน่าสนใจ มีตัวแทนรับและผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยล้อมวงแลกเปลี่ยน ขายไอเดียใหม่ๆ  สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ไทยมีการผลิตเม็ดพลาสติก 8.5 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น ส่งออก 5.2 ล้านตัน อีก 3.3 ล้านตันผลิตใช้ในประเทศ และนำเข้าบางส่วน ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พลาสติกที่ใช้ในประเทศเป็นบรรจุภัณฑ์ 45% เครื่องใช้ไฟฟ้า 15% งานก่อสร้าง 12% และอื่นๆ  
    "ขยะพลาสติก 2 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 25% อีก 75% อยู่ในกองขยะ โดยเฉพาะถุงก๊อบแก๊บขนาดบางเบา ไม่มีมูลค่า ขายไม่มีคนซื้อ กำลังสร้างปัญหาให้สภาพแวดล้อม เพราะเราใช้ถุงหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี  กำจัดยาก ย่อยสลายยาก ส่วนแผนจัดการขยะพลาสติกไทย เราชูนโยบายลดตั้งแต่ต้นทาง เลิกใช้ทั้งถุงหูหิ้ว ถุงร้อน ถุงเย็น แก้วน้ำพลาสติกใช้ครั้งเดียว กล่องโฟม และพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอกชนจะมีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ สุดท้ายคัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี" สุณีย้ำ 
    ด้าน ประทรรศน์ สูตะบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด สภาพอากาศแปรปรวน และขยะตกค้างในทะเล หากจะแก้ปัญหาต้องลดขยะ ลดการเน่าเสียของอาหาร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มองว่าพลาสติกไม่ใช่ตัวร้าย จากการศึกษาอุตสาหกรรมพลาสติกใช้พลังงานในการผลิตและขนส่งน้อยลง 80% เทียบกับวัสดุอื่น แถมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า นวัตกรรมพลาสติกที่ยั่งยืนต้องรีไซเคิลได้ ไม่ใช่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัท ดาวฯ พัฒนามาตลอด เช่น ถาดใส่อาหารทำให้อาหารเน่าเสียช้าลง ปัจจุบันนวัตกรรมพัฒนาไปถึงขั้นไม่จำเป็นต้องมีถาด ใช้เพียงพลาสติกซีลชิ้นเนื้อ น้ำหนักแค่ 3 กรัม หรือถุงเมล็ดพันธุ์ แม้บาง แต่คุณสมบัติต้านทานการเจาะและฉีกขาด 
    "การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก เรายึดหลักใช้น้อย แต่มีประสิทธิภาพดี ปัจจุบันพลาสติกมี 7 ประเภท นอกจากนี้ยังมีพลาสติกย่อยสลายในสิ่งแวดล้อมควรสนับสนุนและพัฒนาต่อไป ส่วนขยะพลาสติกถ้าจัดการดีสามารถทำถนนลาดยางมะตอยผสมพลาสติก ทำอิฐบล็อกตัวหนอน รวมทั้งนำเศษพลาสติกผสมขี้เลื่อยผลิตไม้เทียม หรือทำแท่งพลังงาน แต่ปัญหาหลักพฤติกรรมผู้บริโภคยังจัดเก็บ คัดแยกไม่ถูกต้อง" ผู้บริหารดาวฯ กล่าว และฝากในท้าย การพิชิตเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"