การจัดงานอีเวนต์ในไทยเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน มีทั้งขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าการจัดอีเวนต์นั้น จะส่งผลให้เกิดโลกร้อนได้เช่นกัน เนื่องจากมีการใช้พลังงานและทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นงานใหญ่ๆ ก็ยิ่งใช้ทรัพยากรมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับ 22 องค์กรพันธมิตร อาทิ ธนาคารกรุงเทพ โฮมโปร ทรูคอร์ปอเรชั่น ไร่รื่นรมย์ ทีเส็บ อบก. ทิสโก้ บางกอกแอร์เวย์ ฯลฯ เปิดโครงการ “Care the Bear: Change the Climate Change by Eco Event” ส่งเสริมการลดปัญหาโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ จากการจัดกิจกรรมหรือจัดอีเวนต์
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน และหัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจและภาคสังคมต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ปี 2556 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี สูงเป็นอันดับ 21 ของโลก ในภาคธุรกิจก็มีความสำคัญอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้ผนึกกำลังกับองค์กรหน่วยงานเอกชนต่างๆ กว่า 22 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรมักจะมีการจัดงานอีเวนต์ในแต่ละปีมากกว่า 1 ครั้ง โดยริเริ่มโครงการเพื่อลดปัญหาโลกร้อนด้วยการจัดอีเวนต์แบบ Eco Event เป็นการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติของผู้บริโภคให้มีส่วนขับเคลื่อนการลดสภาวะโลกร้อน สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อที่ 13 “Climate Action” หรือเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
ดร.กฤษฎากล่าวต่อว่า ในโครงการนี้ได้ตั้งองค์ประกอบการทำงานขององค์กรพันธมิตรที่รวมไว้ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.รณรงค์ให้เดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาร่วมกัน 2.ลดการใช้กระดาษและพลาสติกจากเอกสารต่างๆ และบรรจุภัณฑ์ 3.งดการใช้โฟมจากบรรจุภัณฑ์ หรือโฟมเพื่อการตกแต่งสถานที่จัดงาน 4.ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน 5.ออกแบบโดยใช้วัสดุตกแต่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 6.ลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เดินสายให้ความรู้แก่องค์กรพันธมิตรและบริษัทจดทะเบียนแล้วร่วม 20 บริษัท ในการนำไปปฏิบัติเพื่อผลลัพธ์ ทั้งการลดโลกร้อน ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมุ่งขยายโครงการ ไปสู่พันธมิตรภาคตลาดทุนในวงกว้าง คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 2,000 ไร่ เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องนโยบายรัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส เมื่อปี 2559 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 โครงการนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาคตลาดทุนในการมีส่วนร่วมลดโลกร้อน นอกเหนือจากกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการองค์กร เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ประเสริฐสุข จามรมาน ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
ขณะที่นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า การเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างงานอีเวนต์ที่คนไทยชอบ ไม่ว่าจะการขายของ ตลาดนัด ซึ่งแน่นอนว่าล้วนส่งผลต่อการทำให้เกิดโลกร้อนทั้งสิ้น ทั้งการใช้ทรัพยากร พลังงาน หรือแม้แต่การก่อให้เกิดขยะ หากช่วยกันตระหนักผ่านกิจกรรมนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยบ้านเมืองได้ รัฐบาลเองก็มีประกาศแน่ชัดว่า ไทยต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 111 ล้านตันให้ได้ในปี 2573 แล้วเราก็ไปร่วมกับประเทศอื่นๆ ว่าจะช่วยกันทำให้อุณหภูมิไม่เพิ่มขึ้น 2 องศา ในปี 2558 ที่ผ่านมาเราก็พยายามลดได้แล้ว 40 ล้านตัน ก็ต้องพยายามกันต่อ ขยับตัวเลขขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญถ้าก๊าซมีปริมาณมาก อุณหภูมิสูงก็ส่งผลกระทบต่อหลายด้าน เช่น ผลผลิตทางการเกษตร แต่ที่สำคัญมากๆ คือสุขภาพ อนามัย ขณะนี้โรคไข้เลือดออกได้กลับมาใหม่อีกครั้ง รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และพบในหลายสถานที่มากขึ้น ซึ่งงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันว่าความร้อนหรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราทั้งนั้น ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ เราก็จะเห็นภาพกันชัดเจนอยู่แล้ว
"เรื่องคำนวณปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพรินท์ ในอุตสาหกรรมโรงงานต่างๆ เขาทำอยู่แล้ว แต่ในองค์กรเอกชนหลายแห่งยังไม่ได้ทำ ก็อยากให้เริ่มกันตั้งแต่ในองค์กร เริ่มจากตัวบุคคล แล้วก็เริ่มในกิจกรรมการทำงาน ปัญหาโลกร้อน 70% มาจากพลังงาน แล้วก็การเกษตร ต่อมาควรตระหนักเรื่องของอาหาร ที่ไม่ควรทานให้เหลือ เพราะมันกลายเป็นขยะที่มีก๊าซมีเทน ส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจก เรื่องนี้น่าห่วงมาก เพราะไทยเราพบขยะมากมายตามชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศกำลังพัฒนาเลย" นางประเสริฐสุขกล่าว
ในส่วนขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็ป (TCEB) เป็นองค์กรที่มีการจัดนิทรรศการ แสดงสินค้าขนาดใหญ่ ถือเป็นกิจกรรมการทำงานที่มีการใช้พลังงานและทรัพยากรมากพอสมควร
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็ป กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์ หรือการจัดประชุมและแสดงสินค้า อีเวนต์ใหญ่ในบ้านเราเติบโตค่อนข้างสูง ไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนมีชื่อเสียงการจัดงานใหญ่ และอยู่อันดับต้นๆ ของโลก ทีเส็ปเองก็ได้ตระหนักเรื่องการลดโลกร้อนเสมอมา เช่น ลดการใช้กระดาษ หันมาใช้แอปพลิเคชันแทน หากมีงานสัมมนาก็จะมีให้ดาวน์โหลดเอกสารผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ข้อมูลการสำรวจการเข้างาน ก็ทำผ่านแอปพลิเคชัน และการรณรงค์ให้มาร่วมงานด้วยการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเลือกสถานที่เดินทางสะะดวก เช่น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สะดวกที่เดินทางโดยรถไฟฟ้า อีกเรื่องที่เพิ่งตระหนักคืออาหารเหลือ ตอนนี้ทีเส็ปก็กำลังพยายามเร่งรณรงค์ แล้วก็พัฒนาแอปพลิเคชันในการช่วยคำนวณค่าการลดก๊าซผ่านการจัดงาน จะได้รับรู้ว่าเราช่วยลดปล่อยก๊าซได้เท่าไหร่ในการดำเนินงานแต่ละครั้ง
ด้านนางสาวมาริสา สุโกศล หนุนภักดี อุปนายก ประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในธุรกิจโรงแรม มีการรณรงค์ให้หลายโรงแรมเข้ามารับรองเป็นกรีนโฮเทล เพื่อพัฒนาให้โรงแรมไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับโรงแรมต่างประเทศ ตั้งแต่การบริหารจัดการภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้หลอดไฟแอลอีดี ปรัปอุณหภูมิในห้องพักให้เป็น 25 องศา ส่วนอาหารที่เหลือจากภัตตาคารก็มีนำไปมอบให้กับสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้า หรือสถานที่ที่เขาต้องการ ต่อไปก็จะคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ แม้จะเป็นการดำเนินงานที่ยากสำหรับคนทำงานโรงแรม แต่ก็จะพยายามทำเพราะว่าหลายประเทศทำแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |