'เอกชน'แห่ชงครม.สัญจร ชี้บัตรคนจน=ประชานิยม


เพิ่มเพื่อน    

    เพชรบูรณ์ชงยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจรับ ครม.สัญจร รัฐบาลลุยคลอดโปรเจ็กต์แก้จนเพิ่ม โพลเผยบัตรคนจนลดเหลื่อมล้ำไม่ได้ ซ้ำรอยประชานิยม นักวิชาการชี้ ศก.ไทยโดนกินรวบจากเจ้าสัวไม่กี่ตระกูล  ผ่านระบบอุปถัมภ์การเมือง แนะยกเลิกหลักสูตรคอนเนกชั่น แก้ผูกขาดอำนาจ 
    ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะทำงาน ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น-เพชรบูรณ์-เลย   พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปกรณีถนนทรุดตัวของทางหลวงหมายเลข 2331, โครงการขยายช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 12 และการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว จังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นเดินทางไปที่หมวดทางหลวงภูเรือ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย ติดตามโครงการขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 21 ตอนหล่มเก่า-ตำบลร่องจิก-ตำบลสานตม-จังหวัดเลย ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) วันที่ 18 ก.ย. ที่จังหวัดเพชรบูรณ์
    ด้านนายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้าเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เตรียมข้อเสนอโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสนอต่อ ครม.สัญจร เช่น ยุทธศาสตร์ประตูเศรษฐกิจ ภาคเหนือ-ภาคอีสาน (ทางหลวงหมายเลข 12) ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวไทย-ลาว (เพชรบูรณ์-เลย-หลวงพระบาง) ทางหลวงหมายเลข 21 ต่อ 2399 ยุทธศาสตร์เขาค้อป่าอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว แก้ปัญหาเร่งด่วนทางขึ้นทับเบิก ขึ้นทะเบียนศรีเทพเป็นมรดกโลก เพชรบูรณ์จีโอปาร์คเป็นมรดกโลก รวมถึงยุทธศาสตร์ความสุขของผู้อยู่และผู้มาเยือน ซึ่งจะเป็นการผลักดันในเรื่องของโรงพยาบาล โดยขอขยายห้องผ่าตัดเพิ่มที่โรงพยาบาลจังหวัดเพชรบูรณ์ และขอตึกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลหล่มสัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในการใช้บริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น
    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในประเด็นที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องใน 6 ด้านสำคัญ คือ แก้จน แก้เหลื่อมล้ำ แก้โกง ปฏิรูปราชการ การมีส่วนร่วม และการสร้างอนาคต ให้เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการดีๆ ที่กำลังเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้เกษตรกร เช่น โครงการสืบสานกระจายผลแนวทางการทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ธนาคารปูม้าทั่วอ่าวไทยและอันดามัน ชุมชนไม้มีค่า (ธนาคารต้นไม้) ตลอดจนโครงการที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้โครงการเหล่านี้เป็นของขวัญ เพื่อที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยหลายสิบล้านคน นำไปสู่การแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย? พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.84 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 17.80 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด 
    เมื่อถามถึงการเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระดับใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.08 ระบุว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.30 ระบุว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.08 ระบุว่าบัตรดังกล่าวไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.00 ระบุว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่แตกต่างจากนโยบายประชานิยม เพราะมีแนวทางในการแก้ไข ช่วยเหลือ ปัญหาความยากจนเหมือนกัน แค่ใช้ชื่อเรียกที่ต่างกัน 
    ที่ห้องประชุมอนุสรณ์ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “นโยบายและมาตรการป้องกัน การผูกขาดทางเศรษฐกิจและข้อเสนอที่เป็นธรรม” จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และเครือข่ายภาคประชาชน โดยมีนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายพิชาย รัตดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละจำกัด ร่วมเสวนา
    นายนิพนธ์กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทย เกิดจากความสูญเสียที่สืบเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ จากการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งในหลายอุตสาหกรรมมีผู้ประกอบการเพียง 2-4 ราย ขณะที่ดัชนีความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคธุรกิจยังมีต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะห่างกันมากกว่าเดิม ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้วิธีการหลากหลายในการแทรกแซง อาทิ การเข้าสู่การเมืองโดยตรง หรืออาศัยนอมินีลงเล่นการเมือง ให้เงินสนับสนุนทางการเมืองแก่ทุกพรรค หรือใช้อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จะอาศัยการสร้างสายสัมพันธ์ ผ่านหลักสูตรที่เปิดสอนต่างๆ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เป็นต้น
    นายพิชายกล่าวว่า กระบวนการการผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจผูกขาดทางการเมืองของสังคมไทย ที่ผ่านมามีสถาบันระดับสูงทำหน้าที่อบรมข้าราชการและนักธุรกิจ อาทิ วปอ. ก่อนจะมีการขยายสถาบันในลักษณะเดียวกันอย่างแพร่หลาย ลามไปถึงกระทรวงยุติธรรมและองค์กรอิสระต่างๆ นั้น เป็นการทำให้ระบบพวกพ้องของชนชั้นระดับบนของประเทศขยายตัว จากสายสัมพันธ์เหล่านี้ ส่งผลให้ประเทศถูกควบคุมโดยกลุ่มคนเหล่านี้ เมื่อพวกเขาผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ่งที่ปรากฏคือการเกื้อหนุนพวกเดียวกัน และกีดกัดคนต่างกลุ่มและผู้ประกอบการรายเล็ก 
    ทั้งนี้ หากไม่หยุดการผูกขาด ท้ายที่สุดจะเหลือเพียงไม่กี่ตระกูลที่ผูกขาดระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งช่วงเริ่มของรัฐบาลชุดนี้ มีการถ่ายรูปร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ 24 เจ้าสัว ซึ่งเป็นตัวแสดงที่ชัดเจนถึงสายสัมพันธ์ของรัฐและกลุ่มทุนใหญ่ ที่ตอกย้ำการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน หากดำเนินอย่างนี้ต่อไป อาจนำไปสู่วงจรวิบัติ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งของกลุ่มคนในสังคม นำไปสู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการอพยพออกนอกประเทศ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา
    “สถาบันเหล่านี้เป็นตัวตอกย้ำให้ระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยแข็งแกร่ง หากยกเลิกสถาบันเหล่านี้ได้ อาจเป็นอีกทางหนึ่งเพื่อป้องกันระบบพวกพ้องสืบทอดกันในสังคมไทย และทำให้มีโอกาสการแข่งขันเกิดขึ้นบ้าง เช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างยุติธรรมโดยไม่ต้องเกรงใจสายสัมพันธ์ของเครือข่ายเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน นักการเมือง นักธุรกิจ ให้ตระหนักถึงปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมา” นายพิชายระบุ
    นางสาวสฤณีกล่าวว่า การเข้าถึงอำนาจรัฐเป็นวิธีหลักที่กลุ่มทุนใหญ่ใช้แสวงหาอำนาจเหนือตลาด ขณะที่มิติอื่นๆ อาทิ การฮั้วราคา ล็อกสเปก หรือการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งการที่มีการดำเนินการลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ จนเป็นเรื่องปกติ และทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้สำนึกหรือรู้สึกผิด สอดคล้องกับชุดความคิดของสังคมไทยที่เชื่อว่า เรื่องสายสัมพันธ์สำคัญกว่าความรู้ความสามารถของตนเอง 
    “การเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาผูกขาด ทุกคนควรมียุทธศาสตร์ร่วมอย่างชัดเจน โดยไม่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อทางการเมือง ว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องจัดการปัญหาผูกขาดทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งการตื่นตัวกันของทุกภาคส่วนจะเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลดลงไปจากสังคมไทย และสุดท้ายประโยชน์เหล่านี้จะตกมาอยู่ที่ประชาชนทุกคน” นางสาวสฤณีกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"