รุมจวกห้ามโซเชียล ซัดคสช.ไม่เอื้อประชาธิปไตย4.0/จตุพรบี้'บิ๊กตู่'เลือกสถานะ


เพิ่มเพื่อน    

    ซูเปอร์โพลเผย ปชช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยคลายล็อก แนะเตรียมพร้อมเลือกตั้งแบบค่อยเป็นค่อยไป ชี้เป็นการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง หวั่นขัดแย้งบานปลายช่วงเลือกตั้ง ด้านพรรคการเมืองรุมโต้ คสช.ห้ามใช้โซเชียลมีเดียหาเสียงไม่เอื้อต่อการพัฒนา ปชต.ยุค 4.0 "จาตุรนต์" ข้องใจ "หาเสียง" แปลว่าอะไร โวย คสช.ยังมัดมือมัดเท้าปิดปากนักการเมือง-ปิดหูปิดตา ปชช. "จตุพร" กระตุก "บิ๊กตู่" อยากเป็นนักกีฬาต้องลาออกจากกรรมการ "ไก่อู" ย้ำบอกแล้วว่าคลายล็อกมีมาตรการผ่อนคลายเป็นระยะ
    เมื่อวันอาทิตย์ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลโพลเรื่อง คลายล็อกพรรคการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,014 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 เห็นด้วยต่อการคลายล็อกพรรคการเมือง เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 14.9 ไม่เห็นด้วย เมื่อจำแนกออกเป็นกลุ่มที่จะเลือกตั้งครั้งแรก กับกลุ่มที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว พบความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ กลุ่มเลือกตั้งครั้งแรกส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 และกลุ่มที่เคยเลือกตั้งแล้วส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.3 เห็นด้วยต่อการคลายล็อกพรรคการเมือง เตรียมพร้อมเลือกตั้ง
    ที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.2 ระบุความเห็นต่อการเตรียมพร้อมเลือกตั้ง แบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ร้อยละ 23.8 ระบุควรเร่งรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.3 รับรู้ต่อการเคลื่อนไหวการเมืองวันนี้ เพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 30.7 รับรู้ต่อการเคลื่อนไหวการเมืองวันนี้เพื่อช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งและความเดือดร้อนของประชาชน
    ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ยังคงกังวลต่อความขัดแย้งรุนแรงบานปลายช่วงเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ไม่กังวล 
        นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “คสช.กลัวอะไรนักหนา จึงไม่ยอมปลดล็อก” ระบุว่า คำสั่งคลายล็อกกลายเป็นล็อกแน่นเข้าไปอีก โดยเฉพาะเรื่องห้ามหาเสียง แล้วก็รู้สึกเป็นตลกร้าย  เพราะคำสั่งนี้กำลังทำลายการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นให้เป็นการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลน้อยที่สุด มีส่วนร่วมน้อยที่สุด คือที่พิลึกกึกกือที่สุดคือห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง ซึ่งก็ไม่รู้คำว่า "หาเสียง" แปลว่าอะไร เวลานี้ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งและวันรับสมัครเลือกตั้ง จึงยังไม่มีการหาเสียงเลือกตั้งที่ กกต.จะต้องออกระเบียบอะไร ใครจะไปให้ทานแจกเงินใคร จัดมหรสพให้ใครดูก็ไม่ผิดกฎหมาย ส่วนการพูดถึงนโยบายหรือพูดหาเสียง ยิ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่คำสั่งคลายล็อกนี้กลับทำให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายของพรรคการเมืองเป็นเรื่องต้องห้าม
    นายจาตุรนต์ระบุว่า ประมาณ 17-18 ปี ที่พฤติกรรมการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งเปลี่ยนไปมาก ประชาชนให้ความสนใจต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในขณะนี้ไม่เพียงไม่เชื่อถือ รังเกียจ ดูถูกดูแคลน เกลียดกลัวการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนกลายมาเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ทำให้ คสช.กับพวกจ้องหาทางทำลายการเลือกตั้งไม่ให้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น การเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงกำลังถูกทำให้พิกลพิการไปเสียหมด 
ยังมัดมือมัดเท้านักการเมือง
    "การห้ามโน่นห้ามนี่ อาศัยข้ออ้างตลอดกาลของคสช.คือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย แท้จริงแล้วต้องการทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่ให้มีส่วนร่วมในการกำหนดการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่ให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าพรรคใดมีนโยบายอย่างไร และ คสช.กับรัฐบาลทำความเสียหายแก่ประเทศชาติไว้อย่างไรบ้าง และจะยิ่งเสียหายมากขึ้นอย่างไร หากปล่อยให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปอีก ที่น่าเกลียดก็คือคำสั่งนี้นอกจากมัดมือมัดเท้า ปิดปากพรรคการเมืองและปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ คสช.จากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองและประชาชน ทั้งๆ ที่ผู้นำ คสช.เองก็กำลังจะเสนอตัวเข้าแข่งขันเป็นนายกฯ ด้วย ที่น่าเศร้าก็คือการเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งที่ คสช.จำยอมต้องให้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้อับอายขายหน้าชาวโลกนานเกินไป สิ่งที่ คสช.กับพวกอาจจะมองผิดไปอย่างหนึ่งก็คือ ประชาชนไม่ได้โง่อย่างที่พวกเขาคิด ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป" นายจาตุรนต์ระบุ 
    ด้านนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/61 ที่ยังไม่ปลดล็อกอย่างเต็มที่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น การไปประชุมรับฟังความเห็นประชาชนในการจัดทำนโยบาย การสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล ที่เป็นการหาเสียง ยังถูกห้ามไม่ให้ทำ ซึ่งพรรคการเมืองไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันเพราะขาดโอกาสที่จะหาเสียงอย่างเท่าเทียม แต่ถ้าคิดกลับกันและทำให้การเมืองไทยก้าวหน้า การปลดล็อกและการให้ใช้สื่อโซเชียลสื่อสารทางนโยบายจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เนื่องจาก 
    "1.จะมีเวลาไปพบปะประชาชนและฟังความเห็นมากลั่นกรองจัดทำนโยบาย การทำนโยบายที่ดีใช้เวลา อุปมาเหมือนการแกะสลักไม้ ไม่ใช่แค่ตัดไม้ทำท่อนซุง  2.ทุกพรรคจะแข่งกันทำนโยบายที่ดี เพื่อให้ประชาชนเลือก 3.ในหน้าสื่อและในสังคมจะมีวาระนโยบายมาถกเถียงกันมากขึ้น 4.ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ว่ากึ๋นของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร 5.การสื่อสารทางสื่อออนไลน์มีค่าใช้จ่ายน้อย สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง จึงเอื้อให้แต่ละพรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็กแข่งขันอย่างเป็นธรรม ดังนั้นถ้าเอาประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง การปลดล็อกและการให้ใช้สื่อออนไลน์หาเสียงจะไม่ยากเลย" นายนพดล กล่าว 
      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อก ยังไม่ยกเลิก ม.44 เท่ากับชี้ให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยยังไม่ปกติ ทั้งที่ 4 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง รัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเท่านั้น แต่ผลร้ายกลับตกอยู่แก่ประเทศชาติและประชาชนที่ถูกต่างชาติมองว่าประเทศไทยยังไม่ปกติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความคิด ควบคุมประเทศด้วยอำนาจพิเศษตาม ม.44 เวลาที่เหลือควรดำเนินการใน 2 เรื่องใหญ่คือ 1.สนับสนุน กกต.จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม 2. สร้างความปรองดองประชาชนในชาติ 
      นายศักดา นพสิทธิ์ อดีดโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภายหลังมีการประกาศ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และพ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ส่งผลให้การประกาศขยายตัวทางธุรกิจภาคเอกชนเริ่มมีความตื่นตัวสูงขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน แสดงการตอบรับการเลือกตั้ง เป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้รัฐบาล ควรรับฟังว่า การเลือกตั้งเป็นรูปแบบและแนวทางการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและเติบโตตามหลักสากล การคงมีคำสั่งห้ามพรรคการเมืองและห้ามประชาชนชุมนุม ถือเป็นการจำกัด สิทธิ และเสรีภาพ ซึ่งขัดต่อหลักการสากล อยากให้นายกฯ ทบทวนกรณีนี้ และไม่อยากให้แสดงความรักประเทศชาติ ด้วยการผูกขาดอำนาจไว้ผู้เดียว
     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เฟซบุ๊กไลฟ์ “วิกฤติรออยู่ข้างหน้า ตอน 2" ว่า กลไกรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้เกิดวิกฤติ หรือสามารถทำให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา เมื่อการเลือกตั้งยึดตามเกมรัฐธรรมนูญ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ผลลัพธ์ย่อมไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนเดิมอีก ถ้าซีกการเมืองใดรวมตัวกันเป็นหนึ่งจะแพ้ ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งกันได้เลย จึงไม่แปลกใจว่าบางซีกนั้น กลุ่มร่วมขบวนการเดียวกัน แยกกันไปเกินกว่า 5 พรรคที่ปรากฏ เพราะเขาต้องการแต่งตัวให้เข้ากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีทางเดียวที่จะนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤติอันนี้ได้ คือการคุยกัน ถ้าคุยกันทุกฝ่าย ผู้มีอำนาจมานั่งหัวโต๊ะ แล้วพรรคการเมืองต่างๆ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดคือว่าผ่านยกที่หนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราสามารถแก้ไขปัญหากันได้ทั้งหมด เพราะวิกฤติเรื่องราวอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญรอกันอยู่
เป็นนักกีฬาต้องออกจาก กก.
    “ถ้าเป็นผู้เล่น ต้องไม่เป็นกรรมการ เพราะถ้าเป็นกรรมการแล้วยังสามารถยิงประตูฝ่ายตรงกันข้ามได้ เขาไม่เรียกว่าเป็นกีฬา ฟุตบอลชุนมุนอยู่หน้าประตู ปรากฏว่ากรรมการยิงประตูฝ่ายตรงกันข้ามได้ กีฬานี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าเป็นประเทศไทยหรือสังคมโลกก็ตาม ถ้าอยากเป็นนักกีฬา ต้องลาออกจากกรรมการ หากอยากจะเป็นกรรมการ ต้องไม่เป็นนักกีฬา ไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง และไม่เจตนาจะให้ขุ่นเคือง แต่ต้องการจะบอกว่า อะไรก็ตามที่จะไปทำให้สังคมเคลือบแคลงใจ ทุกฝ่ายช่วยกันเลิกเถอะ เชื่อว่าท่านรักชาติบ้านเมือง เราร่วมหาทางออกด้วยกัน" นายจตุพร กล่าว 
     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้ คสช.หารือร่วมกับ กกต.ในการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารของพรรคการเมือง สมาชิก และผู้สมัคร เพราะการกำหนดกว้างๆ นั้น เป็นการไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นประเทศไทย 4.0 เพราะขณะนี้สังคมก้าวหน้าไปมาก มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารกว้างขวาง แต่เรากลับมาห้าม ทั้งที่เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในเรื่องนี้ไม่เป็นการกระทบความมั่นคงประเทศแต่อย่างใด และหากพบว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดกระทำผิด ก็สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ หลังจากนี้การดำเนินการทางการเมืองใดๆ ควรเป็นไปอย่างโปร่งใส เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าเราจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
    นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการคลายล็อกว่า  สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่คือ การติดต่อสมาชิกพรรคโดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องนี้คงต้องขอความชัดเจนจาก คสช. หรือ กกต.ให้เร่งพิจารณา แล้วมีแนวทางที่ชัดเจนให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติ เพราะในโลกออนไลน์นั้นมีรายละเอียดซับซ้อน มีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น เฟซบุ๊ก ของพรรคการเมืองจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เปิดเป็นสาธารณะเพื่อให้สื่อสารกับสมาชิกได้อย่างเดียว หรือแม้แต่เว็บไซต์ของพรรค จะต้องทำอย่างไรก็ยังนึกไม่ออก การพูดคุยหรือสิ่งที่ดำเนินไปบนโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้น เป็นอะไรที่ยากมาก
    "จากนี้ไปทุกพรรคการเมืองจะต้องเดินหน้าหาสมาชิก เมื่อถึงเวลาทุกพรรคย่อมถามไปที่ กกต. แล้วฐานสมาชิกฐานข้อมูลหรือระบบการปฏิบัติการของ กกต. มีความพร้อมในการรองรับหรือไม่ ส่วนเรื่องพรรคการเมืองจะไปหาเสียงก็ได้กำหนดไว้อีกว่านโยบายที่จะนำเสนอต่อสาธารณะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องส่งให้ กกต. เป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องใช้งบประมาณจากไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อทุกพรรคการเมืองเสนอเข้าไปแล้ว กกต.จะสามารถพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบายได้หรือไม่ กกต.มีบุคลากร ที่มีความพร้อมในการนั่งวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละพรรคที่มี 30-40 พรรคหรือไม่ จึงเป็นห่วงมากว่า กกต.จะทำงานทันหรือไม่" นายวราวุธ กล่าว  
     นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้พรรคพลังชลคงต้องเตรียมหารือกับกรรมการบริหารพรรคแล้วกำหนดวันประชุมใหญ่ที่เหมาะสม ยืนยันว่าพรรคพลังชลไม่ยุบรวมกับใครอย่างที่มีกระแสแน่นอน ส่วนกระแสเรียกร้องของพรรคการเมืองให้ คสช.ปลดล็อก ไม่เพียงแค่คลายล็อกนั้น พรรคพลังชลถือว่าการทำงานทางการเมืองมีเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว หาก คสช.คลายล็อกมากแค่ไหนเราก็ทำงานการเมืองได้ เพราะที่ผ่านมา 4 ปี เราทำงานทางการเมืองภายใต้ข้อจำกัดมาตลอด และเราทำได้ เพราะถือว่าไม่ใช่ภาวะปกติ ดังนั้นเราต้องยอมรับในสถานการณ์ 
     นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า มั่นใจว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปอย่างแน่นอน หลังจาก คสช.คลายล็อกแล้ว ทุกพรรคการเมืองก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ยังห้ามหาเสียง เข้าใจว่าทาง คสช.เกรงจะเกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อทุกพรรคยังมั่นใจในฐานคะแนนเสียง ก็อย่าไปจิตตกเกินเหตุ ในเมื่อทุกพรรคต้องการให้มีการเลือกตั้ง ก็เอาเวลาไปเตรียมการต่างๆ เพื่อไปสู่การเลือกตั้งจะดีกว่า ส่วนการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย หากเป็นการดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ ก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ขนาดยังไม่เลือกตั้งแต่ละกลุ่ม ก็เริ่มสาดโคลนใส่กันแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเห็นการเมืองแบบสร้างสรรค์เพื่อนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ไม่จมปลักอยู่กับความขัดแย้ง 
ย้ำคลายล็อกเป็นระยะ
    นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่  กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ คสช.เพียงแค่คลายล็อกแต่ไม่ยอมปลดล็อก เพราะไม่มีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติและประชาชน ควรจะปลดล็อกให้ทุกพรรคดำเนินการทางการเมืองได้ปกติเหมือนในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป ถ้าพรรคใดใช้สิทธิ์ก่อให้เกิดความวุ่นวายความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อบ้านเมือง คสช.ก็สามารถใช้ ม.44 ดำเนินการตามกฎหมายได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ คสช.ควรจะคงไพรมารีโหวตไว้ แล้วใช้ ม.44 เลื่อนกำหนดวันประกาศรับสมัคร ส.ส.ทั้ง 2 ระบบของ กกต.ไปอีกสัก 2 เดือน ทุกพรรคที่มีความพร้อมก็จะสามารถทำไพรมารีโหวตทัน แม้ว่า คสช.จะยกเลิกไพรมารีโหวต ไปแล้ว แต่พรรคพลังธรรมใหม่ยังคงยืนยันที่จะใช้หลักการไพรมารีโหวตในการคัดเลือก ส.ส.ของพรรคพลังธรรมใหม่ทั้ง 2 ระบบ เพราะสิ่งนี้คือหลักการสำคัญของพรรคพลังธรรมใหม่ ที่จะทำให้พรรคเป็นของสมาชิกพรรคทุกๆ คน 
     ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวว่า คสช.ควรจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไป รวมทั้งสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกันอย่างเสรี เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพื่อให้ได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่ถูกกำจัดสิทธิ์ เนื่องจากทั้งประชาชนและสื่อมวลชนมิได้อยู่ในข่ายที่รัฐบาลเผด็จการ คสช.กำหนดเฉกเช่นนักการเมือง และ คสช.ไม่ต้องกังวลว่าปลดล็อกให้ประชาชนแล้วจะเกิดการชุมนุมก่อความวุ่นวาย เพราะสังคมไทยต้องการความรู้รักสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รอคอยความปีติที่กำลังจะเกิดขึ้น
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งส่งผลบวกต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจ หากมีการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ.62 ค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งและกิจกรรมทางการเมืองจะทำให้เงินสะพัดตั้งแต่ไตรมาส 4 ไม่ต่ำกว่า 50,000-65,000 ล้านบาท แต่การไม่เปิดเสรีภาพ (ไม่ปลดล็อก ทำเพียงแค่คลายล็อก) ให้พรรคการเมืองและประชาชนจะลดทอนผลบวก และทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ การเลือกตั้งที่เป็นเพียงพิธีกรรมย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว การทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน ย่อมทำให้กระแสการลงทุนไหลออกของกลุ่มทุนไทยชะลอตัวลง  
      ทางด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองวิจารณ์ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.คลายล็อกไม่ปลดล็อก ว่า ก็บอกแล้วว่าคลายล็อก ก็ต้องเป็นระยะๆ ไป ซึ่งก็คิดว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่เคยมีการแจ้งไว้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดวันนี้ว่าจะค่อยๆ คลายล็อก และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ชี้แจงแล้วว่ายังมีเวลาพอที่จะดำเนินการ ซึ่งเข้าใจว่าคงทำอะไรได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินไปถึงวันเลือกตั้งได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเสียก่อน
    เมื่อถามว่า คสช.ใช้ความไม่สงบเป็นข้ออ้างในการไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมือง พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า แล้วไม่กลัวความไม่สงบหรือ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็เคยชี้แจงไปแล้วว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เอาเป็นว่าจะมีการคลายล็อกเป็นระยะ ขอให้อดทนหน่อยแล้วกัน
    ส่วนกรณีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าการไม่ปลดล็อกและไม่ยกเลิกใช้มาตรา 44 ทำให้ต่างชาติเห็นว่าไทยยังไม่ปกติหรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ท่านสรรหาเหตุผลมาเพื่อที่ท่านอยากจะทำการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์เต็มในเวลานี้ ก็พยายามหยิบยกหลายเรื่องมา แต่ขอให้เข้าใจว่า คสช.พยายามคลายล็อก มีมาตรการผ่อนออกมาเป็นระยะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"