16 ก.ย.2561 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “คสช.กลัวอะไรนักหนา จึงไม่ยอมปลดล็อก” โดยมีเนื้อหาอย่างยาวระบุว่า เห็นคำสั่งคลายล็อกที่กลายเป็นล็อกแน่นเข้าไปอีก โดยเฉพาะเรื่องห้ามหาเสียง แล้วก็รู้สึกว่าเป็นตลกร้าย จะขำก็ขำไม่ออก เพราะคำสั่งนี้กำลังทำลายการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นให้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือกำลังเป็นการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลน้อยที่สุด มีส่วนร่วมน้อยที่สุดคือสักแต่ว่าให้ไปหย่อนบัตรโดยไม่ต้องรู้อะไรเลย
ที่พิลึกกึกกือที่สุดคือห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง ซึ่งก็ไม่รู้คำว่า”หาเสียง”ว่าแปลว่าอะไร การหาเสียงตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นจะหมายถึงการไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือเลือกนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว เป็นช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซึ่งจะมีระเบียบว่าในการหาเสียง ห้ามทำอะไรบ้างเช่นซื้อเสียง จัดมหรสพ สัญญาว่าจะให้เป็นต้น แต่ไม่ใช่ห้ามพูดนโยบายหาเสียง เว้นโจมตีใส่ร้ายคู่แข่งด้วยความเท็จก็ต้องถูกดำเนินคดีไป
เวลานี้ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งและวันรับสมัครเลือกตั้ง จึงยังไม่มีการหาเสียงเลือกตั้งที่ กกต.จะต้องออกระเบียบอะไร ใครจะไปให้ทานแจกเงินใคร จัดมหรสพให้ใครดูก็ไม่ผิดกฎหมาย ส่วนการพูดถึงนโยบายหรือพูดหาเสียงยิ่งไม่ผิดกฎหมาย ทำได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้คำว่า “หาเสียง” ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือพูดให้คนชอบหรือเกิดความนิยมในตัวผู้พูดหรือองค์กรของผู้พูด เช่นการที่ พล.อ. ประยุทธ์ก็พูดอยู่ทุกวัน เพียงแต่ไม่แน่ว่าจะทำให้คนชอบหรือไม่เท่านั้น หรือการที่นักการเมืองอาจจะพูดถึงผลงานของตนเองในการดึงงบประมาณเข้าจังหวัดตัวเองได้มาก การหาเสียงเหล่านี้ย่อมไม่ผิดกฎหมาย แต่คำสั่งคลายล็อกนี้กลับทำให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงนโยบายของพรรคการเมือง การพูดถึงบุคลากรหรือสิ่งที่พรรคทำอยู่การเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ทราบเหมือนกันว่าออกคำสั่งอย่างนี้กันมาได้อย่างไร
ผมมีประสบการณ์กับการหาเสียงมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กช่วยพ่อหาเสียง ด้วยการปิดป้ายเล็กๆตามเสาไฟฟ้าบ้างและการเอาใบปลิวไปให้เพื่อนช่วยไปแจกต่อๆกันบ้าง สมัยนั้นก็ได้ยินเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนๆมีผู้สมัครจัดฉายหนังในหมู่บ้าน ผู้สมัครอีกคนมีเงินน้อยกว่าก็เอาไต้ไปยืนแจกตอนชาวบ้านที่มาดูหนังจะกลับบ้าน แย่งคะแนนกับคนจัดฉายหนัง ในยุคต่อมามีการหาเสียงด้วยการแจกปลาทูบ้าง สังกะสีบ้าง จนกระทั่งแจกเงินซื้อเสียงกันเป็นระบบก็มี
ผมเองเคยหาเสียงด้วยการปราศรัยเป็นจุดเล็กๆบ้าง ตามงานบวชบ้าง กว่าจะพูดกับคนให้ทั่วถึงได้ก็ต้องเหนื่อยและใช้เวลามาก พอมีการเชิญผู้สมัครไปออกรายการทีวี ก็ช่วยได้พอสมควร แต่ผู้ที่ได้รับเชิญก็มีจำนวนจำกัด ส่วนการจัดปราศรัยที่กกต.หรือจังหวัดจัด ส่วนใหญ่มีคนไปฟังน้อยมาก คือก็มักเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครไปฟังกันเอง ไม่เกิดประโยชน์อะไร
ย้อนหลังไป 30-40 ปีก่อนหรือแม้แต่ 20 ปีก่อน การหาเสียงด้วยการพูดเรื่องนโยบายมีคนสนใจน้อย เพราะรัฐบาลมักเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค บางช่วงก็มีคนนอกหรือคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมักใช้นโยบายที่ทางราชการเขียนให้ นักการเมืองที่ไปหาเสียงด้วยนโยบายไว้ พอเข้าสภามาก็ทำไม่ได้ ต้องกลับไปขอโทษหรือแก้ตัวกับประชาชนว่าเป็นพรรคเล็ก เสียงไม่พอ บ่อยๆเข้าคนก็สรุปว่าเลือกพรรคไหนก็ไม่สามารถทำตามนโยบายได้ทั้งนั้น ก็เลยหันไปเลือกด้วยเหตุผลอื่นๆเสียมากกว่าเรื่องนโยบาย
เพิ่งประมาณ 17-18 ปีมานี้ ที่พฤติกรรมการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งเปลี่ยนไปมากคือประชาชนให้ความสนใจต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยพบว่าแม้การซื้อเสียงยังมีอยู่ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ การซื้อเสียงกลับได้ผลน้อยเพราะประชาชนต้องการได้นโยบายที่เป็นประโยชน์หรือได้คนที่ตนชอบเป็นนายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า พรรคการเมืองจึงต้องแข่งขันกันทำนโยบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน กลายเป็นกระบวนการที่ประชาชนสามารถกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาลและรัฐบาลควรมีนโยบายอย่างไร ผ่านการเลือกตั้งซึ่งเน้นที่พรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้คือพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทยที่ทำให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดการบริหารประเทศได้มากขึ้นเช่นเดียวกับที่หลายๆประเทศที่เจริญก้าวหน้าเขาทำกันมานานแล้ว แต่กระบวนการที่ว่านี้กลับเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในขณะนี้ไม่เพียงไม่เชื่อถือ รังเกียจ ดูถูกดูแคลน แต่ยังหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่งด้วย เป็นเพราะความเกลียดกลัวการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนกลายมาเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองแทนผู้ที่มีอำนาจมาแต่เดิมนี่เอง ทีทำให้คสช.กับพวกจ้องหาทางทำลายการเลือกตั้งไม่ให้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น การเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้จึงกำลังถูกทำให้พิกลพิการไปเสียหมด พรรคการเมืองถูกห้ามไม่ให้จัดทำนโยบายโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบอาชีพต่างๆก็ผิดฐานชุมนุมมั่วสุมเกินห้าคน จะไปประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการทำกิจกรรมใดๆก็ไม่ได้ พอคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าเมื่อมีการรับสมัครแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งจะถูกจำกัดอย่างมากจากกฎระเบียบของกกต. ยิ่งพอคำสั่งคลายล็อกออกมา แม้ช่วงที่ยังไม่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนเพราะถือว่าเป็นการหาเสียงที่ต้องห้าม
ส่วนวิธีการสื่อสารนั้น ในยุคปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางวิธีการที่สามารถช่วยให้การสื่อสารกับประชาชนเป็นไปได้สะดวกรวดเร็วและกว้างขวางมาก ค่าใช้จ่ายก็น้อยมากด้วย ล่าสุดมีการทำโพลพบว่าประชาชนเกือบ 70 % ต้องการให้พรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับประชาชน แต่การสื่อสารวิธีนี้ก็กลับถูกห้ามตั้งแต่วันนี้และอาจจะห้ามเรื่อยไป ด้วยการห้ามใช้ในการหาเสียง ซ้ำยังให้อำนาจ กกต.และ คสช.ห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรืออาจสั่งห้ามการประชาสัมพันธ์ใดๆตามใจชอบได้ด้วย
ที่ผ่านมาการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.หรือรัฐบาลทางโซเชียลมีเดียมักถูก คสช.แจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามพรบ.คอมพิวเตอร์แบบเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยๆ แม้การนั่งแถลงข่าววิจารณ์ผลงานคสช.ก็ถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินห้าคนและฝ่าฝืนกฎหมายอาญามาตรา 116 คำสั่งคลายล็อกนี้จะยิ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาลทำได้ยากยิ่งขึ้น
การห้ามโน่นห้ามนี่ทั้งหลายเหล่านี้ อาศัยข้ออ้างตลอดกาลของ คสช.คือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย แท้จริงแล้วสิ่งที่ คสช.กับพวกต้องการก็คือทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าพรรคใดมีนโยบายอย่างไรและ คสช.กับรัฐบาลทำความเสียหายแก่ประเทศชาติไว้อย่างไรบ้างและจะยิ่งเสียหายมากขึ้นอย่างไรหากปล่อยให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปอีกหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ที่น่าเกลียดก็คือคำสั่งนี้นอกจากมัดมือมัดเท้า ปิดปากพรรคการเมืองและปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ คสช.จากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองและประชาชน ทั้งๆที่ผู้นำ คสช.เองก็กำลังจะเสนอตัวเข้าแข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งด้วย
ที่น่าเศร้าก็คือสุดท้ายแล้วการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นเพียงสิ่งที่ คสช.กับพวกจำยอมต้องให้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้อับอายขายหน้าชาวโลกนานเกินไป แต่เมื่อใจจริงไม่อยากให้มีและยังหวาดกลัวว่าประชาชนจะไม่เออออห่อหมกด้วย ก็เลยทำเสียจนกระทั่งการเลือกตั้งนี้ต้องพิกลพิการไป ไม่มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่ คสช.กับพวกอาจจะมองผิดไปอย่างหนึ่งก็คือประชาชนไม่ได้โง่อย่างที่พวกเขาคิด ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |