70 ปี นักเขียนอาวุโส" อัศศิริ ธรรมโชติ "ออกผลงานล่าสุด  ‘เรื่องสั้นอัศศิริ’กระจกสะท้อนสังคมไทย


เพิ่มเพื่อน    

                                    

 อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ดีที่สุดในแวดวงวรรณกรรมไทย เจ้าของรางวัลซีไรต์ ก่อนจะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ในวาระ 70 ปี อัศศิริ ธรรมโชติ มีการเปิดตัวหนังสือ”เรื่องสั้นอัศศิริ” ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ภายในงานบรรยากาศอบอุ่นไปด้วยศิลปิน นักเขียนรุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ และนักวิชาการด้านวรรณกรรมมาร่วมแสดงความยินดีกับอัศศิริ นักเขียนชั้นครูผู้นี้เนืองแน่น  

 

800 หน้าของหนังสือ”เรื่องสั้นอัศศิริ” คัดเรื่องสั้น 103   เรื่องจากหนังสือเรื่อง ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง,ขอบฟ้าทะเลกว้าง,เหมือนทะเลมีเจ้าของ,นักฟุตบอลบ้านนอก,บ้านริมทะเล,งามแสงเดือน,ขอทาน แมว และคนเมา,ทะเลร่ำลมโศก และเหนือเหน็บหนาวและเร่าร้อน ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีคุณค่า ใช้ภาษางดงาม ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานตลอดชีวิตการทำงานของศิลปินแห่งชาติ ปี 2543  หวังปลุกแรงบันดาลใจและให้หนังสือดีเล่มนี้เกิดประโยชน์ต่อผู้อยากจะโลดแล่นในท้องทะเลวรรณศิลป์ สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)   


คนวรรณกรรมล้อมวงเสวนาคุณค่าเรื่องสั้นของอัศศิริ

 

จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการร่วมหนังสือ”เรื่องสั้นอัศศิริ” กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องสั้นที่เคยรวมเล่มมาแล้ว 9 เล่ม ตั้งแต่รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิต ชื่อ ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง จัดพิมพ์ปี 2516 จนกระทั่งรวมเรื่องสั้นชื่อ เหนือเหน็บหนาวและเร่าร้อน จัดพิมพ์ปี 2545    เรื่องสั้นชุดนี้อายุ 30 ปี เดิมผู้เขียน อัศศิริ จะใช้ชื่อ ชีวิตคือวันวานอันผ่านพ้น แม้จะสะท้อนปรัชญาชีวิตและผลงานของนักเขียน แต่คณะผู้จัดทำหนังสือเสนอว่า ควรใช้ชื่อ”เรื่องสั้นอัศศิริ” เพราะตลอด 70 ปี อัศศิริ ทำงานเรื่องสั้นเป็นส่วนใหญ่ งานเขียนมีบุคลิกเฉพาะ มีลายเซ็นชัดเจน พูดถึงนักเขียนเรื่องสั้นในไทยจะมีเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์  เรื่องสั้นอาจินต์ ปัญจพรรค์ รวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นของลาว คำหอม  เช่นเดียวกับเรื่องสั้นของอัศศิริ ใครได้อ่านจะพบคำนิยามตัวตนนักเขียนผู้นี้ชัดเจน

“ อัศศิริชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก บุคคลที่นักเขียนผู้นี้พูดถึงเสมอ คือ ลุง บวชเป็นพระ  หรือมหาปลื้ม ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์การอ่านให้อัศศิริในวัยเยาว์ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งมีวังอยู่ที่หัวหิน  ทรงมอบหนังสือให้ห้องสมุด ก็ได้อ่านวรรณกรรมที่นั่น ถัดมาหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นแบบอย่างขณะทำงานนักหนังสือพิมพ์ที่สยามรัฐ ซึ่งบุคคลทั้งสาม อัศศิริเขียนคำนำไว้ในเล่มใช้คำว่า กราบคารวะ เป็นบุญคุณมหาศาล ทำให้ได้เขียนหนังสือและมีชีวิตจนปัจจุบัน  สำหรับอัศศิริได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ยืนอยู่ข้างคนทุกข์ยาก เล่มนี้จึงเป็นบันทึกชีวิตคนและการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงเหตุการณ์การเมือง 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ได้อย่างลุ่มลึก  “ จตุพล กล่าว   

  งานนี้ยังจัดเสวนาเรื่อง”เรื่องสั้นอัศศิริ”ช่วยฉายภาพชีวิตและผลงานในหลากหลายมุมมองของคนวรรณกรรม  ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนักเขียนเรื่องสั้นผลิตผลงานเรื่องสั้นที่มีความยาวมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ค่อยเห็น Short Story ตนจะแนะนำนักเขียน นักอ่าน รวมถึงนักศึกษาเสมอให้ศึกษางานของอัศศิริแล้วจะรู้คำตอบ ส่วนตัวชื่นชอบเรื่องสั้นอัศศิริที่หยิบเอาชีวิตเล็กๆ ของคนในสังคมมาเสนอ เป็นวรรณกรรมชีวิต วรรณกรรมโรแมนติก แต่ทำให้เราสะเทือนใจในชีวิตคนเล็กๆ เหล่านั้น ทั้งการใช้แรงงานเด็ก เด็กด้อยโอกาส เขามองโลกอย่างละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ขณะที่ชื่อเรื่องก็สื่ออารมณ์ ส่วนตัวละครไม่ใช่ฮีโร่กลับเป็นคนที่ถอยมาอยู่ข้างนอกแล้วมองเข้าไปข้างใน ทำให้คนอ่านต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง กลวิธีการเขียน ยกตัวอย่างเส้นทางของหมาบ้า อัศศิริเล่าอย่างเรียบง่าย  แต่เหตุการณ์ทั้งหลายนำมาสู่ตอนจบที่พลิกความคาดหมายในใจ  หมาบ้าวิ่งไปตามเส้นทางของตนด้วยโทสะ โมหะ ซึ่งผู้คนรายทางก็เป็นเช่นนั้น  เป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน  

“ งานของเขาอ่านสนุก ไม่ใช่แค่ให้แง่คิด แต่รู้สึกกับสิ่งเหล่านั้น ช่วยปลูกจิตสำนึกผู้อ่าน และอาจถึงขั้นลงมือทำ   ส่วนงานเรื่องสั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง อัศศิริเขียนประวัติศาสตร์อย่างกระชับ รู้สึก และให้คิดว่า ไม่ควรลืม แต่จดจำด้วยเมตตาธรรม  อยากให้คนรุ่นใหม่ได้อ่านเรื่องสั้นอัศศิริ “   ศ.ดร.รื่นฤทัย กล่าว

ด้านทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการสยามรัฐ               ร่วมวงเสวนาด้วย บอกว่า อัศศิริเป็นนักเขียนบรมครูที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญการใช้ภาษาในเชิงพรรณาโวหาร ทำให้คนอ่านเห็นภาพ ขณะที่นักเขียนปัจจุบันไม่เน้นลีลาแบบนี้ งานเขียนที่ออกมาก็โดดเด่น ได้ชื่อว่าเป็นกวีร้อยแก้ว  ผลงานตลอดชีวิตมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ เป็นนักเขียนที่เก็บความเป็นสมประกอบของสังคมและผู้คนที่ถูกรังแก เอาเปรียบ เป็นข้อมูลไว้ในใจแล้วนำมาพล็อตเป็นเรื่องราวเผยให้เห็นความจริง ถือเป็นพรสวรรค์  งานของเขาหลายเรื่องเสนอความเลวของคนที่น่ารังเกียจ น่าล้างแค้น แต่อ่านแล้วกลับสงสาร ต่างจากวรรณกรรมต่อสู้ดุเดือด  สอดรับกับความเป็นคนมีจิตใจอ่อนโยนของอัศศิริ

วงคันนายาว นำโดยอ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แสดงในงานเปิดตัวหนังสือ


หลังจากผู้มาร่วมเสวนา ได้กล่าวถึง อัศศิริ ธรรมโชติ แล้ว ก็ถึงคราวที่เจ้าภาพของงานได้กล่าวบ้าง อัศศิริ ธรรมโชติ ในวัย 70 ปี กล่าวว่า งานวรรณกรรมเป็นมรดกตกทอดทางภาษาจากนักเขียนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ตั้งแต่กุหลาบ สายประดิษฐ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ศรีบูรพา ,อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์,มนัส จรรยงค์ กระทั่งรุ่นตน แล้วก็มาปราบดา หยุ่น เป็นสายธารทางภาษาที่รับกันมา เพียงแต่เปลี่ยนการใช้ภาษาไปตามยุคสมัย ในฐานะที่เป็นนักเขียนรุ่นอาวุโส มีโอกาสได้รับหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมหลายเวที คิดว่า นักเขียนรุ่นใหม่เปลี่ยนจากรุ่นตน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากสื่อที่เติบโตมาอย่างโทรทัศน์ ส่วนตนโตมายุคที่อาจารย์คึกฤทธิ์มีอิทธิพลต่อการเขียนหนังสือ รวมทั้ง ส.ศิวลักษณ์ ก็พยายามศึกษาลักษณะการเขียนจากบุคคลเหล่านี้ 


   " นักเขียนรุ่นใหม่มีลักษณะเหมือนทีวี มีความดราม่า สาระเป็นไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ยุคของผมเป็นยุคเครียด สังคมขาดแคลนข้อมูลข่าวสาร มีแค่ 2 สื่อ วิทยุกับหนังสือพิมพ์ ไม่เหมือนทุกวันนี้ข่าวสารท่วมโลก มาทุกทิศทาง ฉะนั้น วรรณกรรมเป็นวิธีการส่งข่าวสารอย่างหนึ่ง  ให้ผู้ปกครองรู้ว่า คนอยู่อย่างไร ทุกข์ยากแค่ไหน คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบมากน้อยเพียงใด เหมือนคำร้องทุกข์ของประชาชนสู่รัฐบาลที่มีอำนาจ วรรณกรรมสมัยก่อนจึงมีพลัง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อม  แต่ปัจจุบันเป็นสังคมปัจเจกชน มีความส่วนตัวสูง เด็กในปัจจุบันมีปัญหาส่วนตัวมากกว่าปัญหาสังคมหากมองผ่านวรรณกรรม"อัศศิริ กล่าว 


    ปัจจุบันอัศศิริ เป็นนักเขียนอิสระ มีงานเขียนทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความตีพิมพ์ต่อเนื่อง   นักเขียนอาวุโส กล่าวในมุมนี้ว่า  งานเขียนเสนอความดีของทุกชีวิต เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติเป็นสิ่งดีงาม แต่มนุษย์อาจทำชั่วด้วยความจำเป็น ความไม่รู้ รวมถึงความโลภ ทารกออกจากครรภ์แม่จะมีความขาวสะอาด มนุษย์ทุกคนถ้าเลือกได้จะเป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ฉะนั้น งานเขียนทุกประเภทของตน แม้เขียนถึงโจร มิจฉาชีพ จะเปิดช่องทางไปสู่แสงสว่าง เป็นการให้กำลังใจ รับรู้ปัญหาของเขา ส่วนการใช้ภาษาเป็นสไตล์ของนักเขียนของใครของมันเหมือนนักมวย จนวันนี้ก็ยังมีวัตถุดิบอีกมากที่อยากเขียนและสะท้อนผ่านวรรณกรรม 

นอกจากเปิดตัวหนังสือ ตั้งวงเสวนาแล้ว ในโอกาส 70 ปี อัศศิริ ธรรมโชติ ได้มอบหนังสือเรื่องสั้นอัศศิริ ให้แก่ห้องสมุด โรงเรียนต่างๆ และบุคคลทั่วไปที่สนใจในวรรณกรรม อีกทั้งมอบให้มูลนิธิเด็กในโครงการตู้หนังสือเด็ก สมาคมนักเขียน กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม เพื่อนำหนังสือดีไปเผยแพร่ในกิจกรรมด้านวรรณศิลป์อีกด้วย

 

อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคม

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"