นอกจากความสนุกสนานที่ได้เต้นได้โยกตามจังหวะเสียงเพลงจาก “รำวงย้อนยุค” แล้ว กิจกรรมสันทนาการดังกล่าวยังช่วยคลายเหงาและลดความว้าเหว่ได้ไม่น้อย ประกอบการฟ้อนรำดังกล่าวถูกหยิบมารื้อฟื้นอีกครั้ง เพื่อให้คนสูงอายุในต่างจังหวัดได้ออกกำลังกายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากห่างหายไปจากบ้านเราสักพักหนึ่ง ภายหลังการปกครองของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” อ.ไพฑูรย์ ปานประชา ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมรำวงพื้นบ้านถึงประโยชน์ที่มีต่อคนสูงวัย
(อ.ไพฑูรย์ ปานประชา)
อ.ไพฑูรย์เล่าว่า แรกเริ่มเดิมที “รำวงย้อนยุค” เกิดในช่วงรัชสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวบ้านในภาคกลางอย่าง จ.สระบุรี, อ่างทอง และชัยนาท ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าว เพราะพักผ่อนและคลายเหนื่อยล้าจากการทำนา ซึ่งเดิมทีจะเรียก “รำโทน” เพราะต้องใช้เครื่องดนตรีอย่าง “โทน” เป็นการให้จังหวะช้าๆ และเป็นเพลงสั้นๆ เล่นซ้ำไปซ้ำมา เช่น เพลงลามะลิลา, เพลงงามแสงเทียน เป็นต้น ต่อมาเมื่อท่านจอมพล ป.ได้เห็น ท่านจึงนำมาปรับโดยใส่รำวงมาตรฐาน การร่ายรำแบบไทยเข้าไป จึงออกมาเป็นศิลปะ “รำวง” กระทั่งเรียกขานกันว่า “รำวงย้อนยุค” ในปัจจุบัน
ในอดีตการ “รำโทน” จะเน้นการจับคู่เต้น แต่เมื่อปรับแล้วเราก็จะเห็นว่าเป็นการเต้นและเดินเป็นวงกลมไปพร้อมกันหลายๆ คน ซึ่งสมัยนั้นทุกบ่ายวันพุธจะมีการเต้นรำวงย้อนยุคของข้าราชการ และเวลาที่ผู้นำประเทศไทยไปเยือนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมก็จะมีการรำวงเพื่อความผ่อนคลายและความสัมพันธ์ที่ดี จึงทำให้การ “รำวง” เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยในแง่ของการเผยแพร่วัฒนธรรมไปสู่ต่างประเทศ และยังเป็นการกิจกรรมที่ใช้เลื่อนขั้นเลื่อนยศของข้าราชการยุคก่อนเลยก็ว่าได้ หรือเป็นข้อปฏิบัติซึ่งคล้ายกับกฎหมายยกเลิกกินหมากในสมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งหมดยุคการปกครองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเข้าสู่ยุคของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” กิจกรรมรำวงก็ได้หายไป กระทั่งถูกนำมาพื้นฟูในอีกช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยประยุกต์เป็นกิจกรรมออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดีทั้งในแง่ของสุขภาพและอนุรักษ์วัฒนธรรมการร่ายรำของไทยให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นใหม่
“ถ้าสังเกตให้ดี คนสูงวัยส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามลำพัง ถ้ามีการจัดกิจกรรม “รำวงพื้นบ้าน” ขึ้นก็จะทำให้ผู้สูงวัยได้สังสรรค์ ตรงนี้จะช่วยคลายเหงาและลดความว้าเหว่ให้กับคนชราได้ค่อนข้างดี ที่สำคัญยังได้บริหารกล้ามเนื้อ เพราะการเต้นรำวงจำเป็นต้องเดินไปมา อีกทั้งมีการย่อเข่าตามจังหวะเพลงที่ไม่ได้เร็วมาก ตรงนี้จะช่วยเรื่องการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ และได้บริหารข้อต่อและกล้ามเนื้อ อีกทั้งการได้ยกแขนก็ถือเป็นการบริหารร่างกายทุกส่วนเช่นกัน อีกทั้งการร้องรำที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยในอดีตตั้งแต่เห็นปู่ย่าตายายร้องเล่นเต้นรำตั้งแต่เด็ก กระทั่งวัยสาวยันสูงอายุ สิ่งเหล่านี้เป็นความสุขใจและเป็นความอบอุ่น ทำให้คนแก่มีกำลังใจกับสิ่งที่ท่านคุ้นเคยเมื่อในอดีต”
นักวิชาการวัฒนธรรมคนเดิมบอกอีกว่า ถ้าจะให้ดี ควรแทรกกิจกรรม “รำวงย้อนยุค” ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญตักบาตรภายในชุมชนที่ทาง อบต.หรือ อบจ.จัดขึ้น เพราะกิจกรรมเข้าจังหวะดังกล่าว ถ้าทำบ่อยๆ ผู้สูงวัยอาจรู้สึกเบื่อได้ง่าย ที่สำคัญไม่ควรเต้นนานเกิน 30 นาที โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมต่างๆ เพราะอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย เนื่องจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของการรีเมกกิจกรรมสันทนาการดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์การรำวงให้คงอยู่แล้ว แต่เป็นการใช้รูปแบบการร้องรำทำเพลงเพื่อช่วยให้คนสูงอายุมีกิจกรรมทำโดยที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และรู้สึกว่าตัวเองอยู่ไปแบบไร้ค่า เนื่องจากคนชราส่วนใหญ่จะคิดเช่นนั้น เมื่อไรก็ตามที่ท่านใช้ชีวิตแบบกะปลกกะเปลี้ย นั่นจะทำให้คุณตาคุณยายเป็นผู้ที่นอนติดเตียง ส่วนตัวจึงเห็นด้วยว่า “รำวงย้อนยุค” เป็นกิจกรรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง
“ถ้าจะให้ดี กิจกรรม “รำวงย้อนยุค” ควรเน้นเป็นการออกกำลังกายโดยไม่จำเป็นต้องแต่งตัวให้สวยงาม แต่ให้เน้นทำให้คนสูงวัยได้แจ่มใสและสดชื่นไปตามจังหวะเสียงเพลงที่สนุกสนานและคุ้นเคย อันประกอบไปด้วย 3 สเต็ปคือ การวอร์มอัพร่างกายก่อนเต้น ต่อด้วยการเต้นหรือร่ายรำในท่ากายบริหาร ตามด้วยการลดจังหวะความเร็วในการเต้นและเดินให้ช้าลง หรือที่เรียกกันว่าวอร์มดาวน์ ที่ลืมไม่ได้ สถานที่เต้นรำวงย้อนยุคควรเป็นพื้นกระเบื้องยาง และเป็นสถานที่ที่ไม่มีสิ่งแหลมคม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหกล้มและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากกิจกรรมบันเทิงดังกล่าว”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |