สูญเสีย‘ชัยอนันต์-น้าหว่อง’


เพิ่มเพื่อน    

  ประเทศไทยสูญเสีย 2 ผู้ยิ่งใหญ่ "ชัยอนันต์ สมุทวณิช-มงคล อุทก" ในคราเดียวกัน "น้าหงา" เสียใจสุดซึ้งถึงเพื่อนลาจาก คารวาลัย ไปดี ไปดี

    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า “ตื่นเช้าขึ้นมาพร้อมกับข่าวเศร้า นอกจากการเสียชีวิตกะทันหันของพี่หว่อง คาราวานแล้ว ยังเพิ่งทราบข่าวว่าท่านอาจารย์  “ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” ได้จากพวกเราไปแล้วอย่างสงบเมื่อกลางดึก ขอแสดงความอาลัยและเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวท่านด้วยครับ”
    ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ศ.ดร.ชัยอนันต์เสียชีวิตเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่บ้านพัก
         ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
    ชื่อเล่นว่า ปิ๋ง เกิดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2487เป็นบุตรของ พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช นามสกุล "สมุทวณิช" เป็นนามสกุลพระราชทาน ในสมัยรัชกาลที่ 6สมรสกับนางสุภาธร สมุทวณิช (สกุลเดิม สาครบุตร) มีบุตร 3 คนคือ นายพชร สมุทวณิช ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, พลอย จริยะเวช นักเขียน นักแปล (สมรสกับ พันโทธีระ จริยะเวช กรมยุทธบริการ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และนายพลาย สมุทวณิช
          ศ.ดร.ชัยอนันต์ จบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยคะแนนเพียง 57.3% แต่พยายามจนสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ แผนกนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จ เรียนอยู่ 1 ปี สามารถสอบชิงทุนโคลัมโบ ไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ 
    ต่อมาสำเร็จปริญญาโทและปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2511 กลับมาเมืองไทยเข้าทำงานครั้งแรกที่กรมวิเทศสหการ จากนั้นสมัครเข้าเป็นอาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และต่อมาได้โอนย้ายมาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          ศ.ดร.ชัยอนันต์ มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และในปี พ.ศ.2531 ได้ร่วมกับนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ และ รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์รวบรวมนักวิชาการ 99 คน ลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรณรงค์เรื่องนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้ง
          ล่าสุด ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้นายทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549
       ศ.ดร.ชัยอนันต์ยังเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่มีบทความลงตีพิมพ์และเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ
    ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี วันเดียวกันนี้ นางลาวัลย์ อุทก อายุ 55 ปี พร้อมด้วยบุตรสาวและเพื่อนๆ นักดนตรี ได้เดินทางมารับศพ นายมงคล อุทก หรือหว่อง คาราวาน นักดนตรีเพื่อชีวิต และจิตรกรชาวไทย อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114/46 หมู่ 10 ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง เสียชีวิตกลางดึก ที่ร้านอาหารครัวสมเกียรติอาหารป่า ย่านซอยบุญประเสริฐ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี เมื่อคืนวันศุกร์เช่นกัน
     นางลาวัลย์เผยว่า เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อขอรับซึ่งศพของน้าหว่อง หลังจากได้ศพแล้วจะนำไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดปากน้ำพิบูลสงคราม นนทบุรี ศาลา 1 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นเวลาทั้งหมด 7 วัน 
    เธอเล่าว่า โดยปกติน้าหว่องจะมีโรคประจำตัวคือ ความดันและหอบหืด แต่ช่วงหลังที่น้าหว่องเริ่มออกกำลังกาย ร่างกายก็เริ่มดีขึ้น แต่เมื่อคืนทราบเพียงว่าน้าหว่องเป็นลม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่คิดเลยว่าจะมาเสียชีวิต ก่อนที่รถโรงพยาบาลจะเดินทางไปถึง ซึ่งในเบื้องต้นแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุสาเหตุการตายเบื้องต้นว่า ระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากภาวะหัวใจโต
          สำหรับนายมงคล อุทก หรือหว่อง คาราวาน เป็นนักดนตรีเพื่อชีวิตและจิตรกรชาวไทย หนึ่งในสมาชิกวงคาราวาน ร่วมกับวงดนตรีของนายสุรชัย จันทิมาธร และเป็นอดีตสมาชิกวงบังคลาเทศแบนด์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2494 เป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด มีผลงานแต่งเพลงให้กับวงคาราวาน คือ เพลงลุกขึ้นสู้ และกุหลาบแดง มีผลงานแต่งหนังสือเล่าเรื่องราวประสบการณ์ในแวดวงเพลงเพื่อชีวิต ชื่อ เพลงพิณพนมไพร ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2544
    ขณะที่ น.ส.วัลย์รวี อุทก บุตรสาวของน้าหว่อง ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยจากการจากไปของบิดาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "วันใจสลาย ครั้งสุดท้ายที่คุยกัน 2 วันที่แล้ว พ่อบอกว่า พิณเกิดมาเหมือนพ่อ มีความคิดเหมือนพ่อ พ่อเป็นพ่อที่ดีที่สุดหรือยัง เราตอบว่า พ่อดีที่สุดในโลกแล้ว พ่อบอกว่า 'พ่อรักลูกนะ'” กำลังรวบรวมสติและจะแข็งแรง พิณรักพ่อมากตลอดกาล อาจจะยังทำอะไรที่พ่อขอไว้ยังไม่หมด แต่จะทำให้เห็นนะ จะชาติไหนก็ขอเป็นลูกพ่อคนนี้ทุกชาติไป"
    เพื่อนสนิทอย่าง สุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน นักร้อง แต่งเพลง นักเขียน กวี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อาลัยต่อการจากไปของเพื่อนรักว่า  “เสียใจสุดซึ้ง-ถึงเพื่อนลาจาก เพลงพิณวิบาก-เมืองพนมไพร คาราวานหว่องสิ้น-ราวแผ่นดินไหว-คารวาลัย-ไปดี ไปดี”
    น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ นักร้องนักดนตรีแนวเพื่อชีวิต เจ้าของฉายากวีศรีชาวไร่ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวงดนตรีเพื่อชีวิตคาราวานยุคเริ่มต้น ได้โพสต์รูปภาพครั้งถ่ายร่วมกับน้าหว่อง คาราวาน พร้อมข้อความอาลัยต่อการจากไปของน้าหว่อง คาราวาน ว่า  "วันนี้เพื่อนเดินทางไปสู่เส้นทางสวรรค์แล้ว เราเดินทางร่วมกันบนโลกนี้ในเส้นทางวิบากมานานแสนนาน วันนี้เพื่อนเดินก้าวไปอีกโลกหนึ่งแล้ว ไปดีนะ จะกี่ภพกี่ชาติ เราจะเดินร่วมทางกับหว่องทุกเส้นทาง "รักเพื่อนมาก"
          ด้านศิลปินเพื่อชีวิต นายระพิน พุทธชาติ “น้าซู” หรือวงซูซู  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของครูเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ในวงการว่า “ครู คาราวาน พิณพนมไพร กล้าหาญ แรงบันดาลใจ ลูกหลาน สู่สวรรค์ สุคติ ครับครูหว่อง”.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"