ชิงเก้าอี้ หน.ปชป.จบก็คือจบ


เพิ่มเพื่อน    

 ชิงเก้าอี้ หน.ปชป. จบก็คือจบ คำยืนยันอดีตแกนนำกลุ่ม 10 มกรา

            พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เรียกกันว่า คำสั่งคลายล็อกพรรคการเมือง ที่มีสาระสำคัญข้อหนึ่งคือ การให้พรรคการเมืองทำกิจกรรรมต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งได้ เช่น การจัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง, กรรมการบริหารพรรค โดยต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนด 90 วันนับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  พ.ศ.2560 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา อันหมายถึงทุกพรรคการเมืองต้องเลือกหัวหน้าพรรค, เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคให้เสร็จสิ้นก่อน 12 ธ.ค.61

            ผลการคลายล็อกดังกล่าวทำให้การเมืองกลับมาคึกคักอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่และถูกมองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ร่วม 72 ปี ที่ตอนนี้นอกเหนือจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคที่จะลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.แล้ว ล่าสุดก็มีชื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผลงานเรื่องคดีรับจำนำข้าวที่ก็จะลงสมัครด้วย ความเคลื่อนไหวในเรื่องการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.เวลานี้ พบว่ามีกองเชียร์จำนวนหนึ่งก็เริ่มหวั่นว่าเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดรอยร้าวในพรรค แบบที่เคยเกิดในอดีตเช่นยุค กลุ่ม 10 มกรา ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์หรือไม่ 

            ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและนักการเมืองอาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำกลุ่ม 10 มกรา ที่เคยย้ายออกจากพรรค ปชป.ไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนกับแกนนำกลุ่ม 10 มกราด้วยในอดีต กับบทบาทล่าสุดเวลานี้คือ ผู้ยกร่างข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ฉบับล่าสุดที่รอส่งให้ที่ประชุมใหญ่เห็นชอบ กางเอกสารข้อบังคับในมือไล่ลำดับขั้นตอนกระบวนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ว่า เมื่อ คสช.มีคำสั่งเมื่อ 14 ก.ย.ให้คลายล็อกพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น การหาสมาชิกพรรค การจัดประชุมใหญ่พรรค พรรคก็ได้เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันจันทร์ที่ 17 ก.ย.นี้ จากนั้นคาดว่าจะสามารถเรียกประชุมใหญ่ได้ในสัปดาห์ถัดไปคือวันจันทร์ที่ 24 ก.ย. ที่คาดว่าจะมีวาระการพิจารณาสำคัญเพียงเรื่องเดียวคือ การเห็นชอบการแก้ไขข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรค, กรรมการบริหารพรรคจะเกิดขึ้นในการประชุมใหญ่นัดถัดไป ไม่ใช่ในการประชุมใหญ่นัดแรก  เพราะต้องเว้นช่วงเวลาให้มีการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคตามที่ได้เขียนไว้ในข้อบังคับพรรคฉบับใหม่เสียก่อน จากนั้นเมื่อหยั่งเสียงเสร็จก็จะมีการนัดประชุมใหญ่ต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ที่จะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 250 คนตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองและตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ล่าสุดที่ออกมาได้ลงมติเลือกหัวหน้าพรรค  

            ถวิล-นักการเมืองอาวุโสของพรรค ปชป. กล่าวภายใต้น้ำเสียงเชื่อมั่นว่า การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ที่จะมีขึ้นจะไม่ทำให้พรรคเกิดปัญหาตามมา 

การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.หลายต่อหลายครั้งที่มีการแข่งขันเรื่องหัวหน้าพรรคก็มีการแข่งขันกัน สู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง แล้วก็มีการแตกแยกกันบ้างในบางครั้ง เช่นกรณีสมัยที่เกิดกลุ่ม 10 มกรา แต่ตอนนั้นมันมีรากฐานเรื่องอื่นด้วย ผมคิดว่าการที่พรรคใช้เสียงสมาชิกพรรคปชป.ทั้งประเทศ แล้วจะทำให้เกิดปัญหาแตกแยก ผมว่าไม่น่าจะเป็นไปได้" อดีตแกนนำกลุ่ม 10 มกรา ที่ปัจจุบันกลับมาอยู่กับ ปชป.ตั้งแต่ปี 2539 กล่าวอย่างเชื่อมั่น

ถวิล-ผู้ยกร่างข้อบังคับพรรค ปชป.ฉบับใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้ร่างข้อบังคับที่เขียนขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายพรรคการเมืองได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างข้อบังคับดังกล่าวมีเรื่องใหม่ที่เขียนขึ้นมาก็คือ เรื่องการให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคเขียนขึ้นมาเองในร่างข้อบังคับพรรค ไม่ได้อยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง  

ที่มาที่ไปของเรื่องการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ดังกล่าว ถวิล สรุปความเป็นมาว่า ในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง พรรค ปชป.โดยหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีแนวคิดมานานแล้ว มีการคุยกันกับคนในพรรคว่า ปชป.ควรจะต้องใช้วิธีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค

จริงๆ แล้วหากกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันไม่ได้บัญญัติว่า การเลือกหัวหน้าพรรค, กรรมการบริหารพรรค ต้องให้ที่ประชุมใหญ่พรรคพิจารณาเห็นชอบ หัวหน้าพรรค(อภิสิทธิ์) ก็จะให้มีการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. โดยการให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศหยั่งเสียงเลือกกันไปเลย ใครได้รับเลือกก็ให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ไปเลย ไม่ต้องมาให้ที่ประชุมใหญ่พรรคพิจารณาลงมติ

...แต่เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ให้การเลือกหัวหน้าพรรคต้องทำโดยที่ประชุมใหญ่พรรค  พรรคก็เลยจะให้สมาชิกหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าแล้วให้มีผลไปเลยไม่ได้ เมื่อทางข้อกฎหมายทำไม่ได้  นายอภิสิทธิ์ก็คิดว่าวิธีการที่จะทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจริงๆ ก็คือการหยั่งเสียง  เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ เมื่อกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ พรรค ปชป.ก็มาวางข้อบังคับของพรรคขึ้นมาเองว่าการหยั่งเสียงสมาชิกพรรค ปชป.เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคจะต้องทำอย่างไร หัวหน้าพรรคปชป.ก็เลยอยากให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่ทั่วประเทศเดิมร่วม 2 ล้านกว่าคน แต่เมื่อ คสช.ให้โอกาสสมาชิกพรรคมายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคเพียงแค่เดือนเดียว (เมษายน 2561) ซึ่งผมก็เชื่อว่าบุคคลที่ไม่ได้มายืนยันในช่วงดังกล่าวยังมีความผูกพันกับพรรค ปชป. เมื่อเป็นเช่นนี้หัวหน้าพรรคก็เลยมีความคิดว่า ต้องให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค โดยให้คนที่มีคุณสมบัติเช่นเคยเป็นอดีต ส.ส.ของพรรคปชป.มีสิทธิ์ลงสมัครเพื่อให้มีการหยั่งเสียง หรือคนบางคนอาจเสนอชื่อ เช่นนาย ก.ให้มาลงสมัครหยั่งเสียง หากว่านาย ก.มีคุณสมบัติครบตามข้อบังคับพรรค

สำหรับคุณสมบัติของผู้จะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. พรรคมีเขียนไว้อยู่เดิมแล้ว เช่นต้องเป็นสมาชิกพรรค ปชป.อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปีติดต่อกัน ต้องเคยเป็น ส.ส.ในนามพรรค เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี คือต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ถึงจะเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ได้

กฎเกณฑ์ของการเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. มีหลักสำคัญกฎเดียวก็คือ คนคนนั้นจะต้องเคยเป็นอดีต ส.ส. ในนามพรรคและยังเป็นสมาชิกพรรค ปชป. เรื่องการเป็นสมาชิกพรรคสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน

...อย่างกรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรค ปชป. เคยเป็นสมาชิกพรรค แต่ตอนนี้ได้ลาออกไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นคนนอก ซึ่งคนนอกหากจะมาลงหยั่งเสียงเพื่อเลือกเป็นหัวหน้าพรรคปชป.จะต้องมีคุณสมบัติที่เข้าหลักเกณฑ์

ถวิล กล่าวต่อไปว่า การหยั่งเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือดังกล่าวเรียกว่า การลงคะแนนหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเป็นเพียงการหยั่งเสียง โดยในข้อบังคับพรรค ปชป.ฉบับใหม่เขียนไว้ว่า การเลือกหัวหน้าพรรคให้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงด้วย แต่ไม่ต้องคำนึงก็ได้เพราะในกฎหมายเป็นสิทธิของที่ประชุมใหญ่ เช่น ผลการหยั่งเสียงสมาชิกพรรค ปชป.ออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เลือกผม แต่ตอนประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคไม่เอาชื่อผมก็ได้ ก็อาจจะไปเสนอชื่อคนอื่นตอนโหวตวันประชุมใหญ่พรรค โดยไม่ได้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงก็ได้

เรื่องการหยั่งเสียงสมาชิกพรรค กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้เขียนไว้ เป็นการเสริมของพรรค ปชป. ที่เราต้องการให้การหยั่งเสียงเหมือนกับการเลือกตั้งกลายๆ ว่าหัวหน้าพรรค ปชป.ต้องเป็นคนชื่อนี้ แต่ตอนประชุมใหญ่พรรค ที่กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติให้ต้องมีคนมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่า  250 คน จะไม่เอาก็ได้ เพราะข้อบังคับพรรคได้เขียนไว้ว่า ให้พึงคำนึงถึงสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากการหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค คือเขาไม่ต้องคำนึงถึงผลการหยั่งเสียงก็ได้ เพราะไม่ได้บังคับ

                -แต่เมื่อสมาชิกพรรคทั่วประเทศหยั่งเสียงออกมาแล้ว การที่ทางที่ประชุมพรรคจะไม่เอาด้วยจะไม่แปลกๆ หรือ?

            ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สมมุติว่าคุณเป็นคนที่เข้าประชุมใหญ่พรรคที่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 250 คน คุณจะไม่เอาคนที่ประชาชนเป็นหมื่นๆ เลือกหรือ เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม

-คือในความเป็นจริงก็ต้องฟังอยู่แล้ว

ใช่ ในความเป็นจริง

ฏิทินหยั่งเสียงเลือก หน.ปชป. 

            สำหรับขั้นตอนการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. ถวิล กางเอกสารข้อบังคับพรรค ปชป.ในมือ ไล่ลำดับเวลาให้ฟังว่า อันดับแรกจะมีการประกาศให้ผู้จะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.มาสมัครหรือมีคนเสนอชื่อผู้อื่นให้มาสมัคร โดยทั้งสองกรณีเจ้าตัวต้องยินยอม เช่นผมเสนอชื่อนาย ก. ตัวนาย ก.ต้องยินยอมให้เสนอชื่อได้ มีหลักฐานมา และต้องมีผู้รับรอง โดยกรณีที่หากผู้ลงสมัครเป็นสมาชิกพรรค ปชป.อยู่แล้ว อย่างกรณีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากจะลงสมัครจะต้องมีอดีต ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 20  คน และต้องมีสมาชิกพรรคทางภาคต่างๆ เซ็นรับรองให้นายอภิสิทธิ์ภาคละ 500 คน 4 ภาคก็ 2,000 คน อันนี้กรณีเป็นสมาชิก ซึ่งจะไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ก็ได้ หรืออย่างกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ก็เป็นสมาชิกพรรค เป็นอดีต ส.ส.อยู่แล้ว

สำหรับกรณีคนนอก หากเขาจะเข้ามาอันดับแรกต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อน เช่นนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ตอนนี้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว หากจะลงก็ต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อน เมื่อสมัครแล้วคนนอกที่จะลงจะต้องมีอดีต ส.ส.อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 40 คนรับรอง และมีสมาชิกแต่ละภาครับรองภาคละ 1,000 คน รวมสี่ภาคก็ 4,000 คน  เมื่อครบกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ขั้นตอนต่อไปเช่นมีผู้สมัครรวม 5 คน ในข้อบังคับเขียนไว้ว่าให้ผู้สมัครทั้ง 5 คนมาตกลงกันว่าจะเลือกใครบ้างมาเป็น กรรมการจัดการหยั่งเสียง ซึ่งกรรมการชุดนี้จะต้องเป็นกลางอย่างแท้จริงเพราะจะต้องควบคุมการหยั่งเสียง โดยผู้สมัครทั้ง 5 คนก็จะเลือกกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรค ปชป.

ยกตัวอย่างมีนาย ก.กับนาย ข.ลงสมัคร เมื่อครบกำหนดวันรับสมัคร นาย ก.กับนาย ข.ก็มาตกลงกันว่าจะให้กรรมการจัดการหยั่งเสียงมีใครบ้างในจำนวน 5 รายชื่อ ซึ่ง 5 รายชื่อดังกล่าวจะต้องเป็นสมาชิกพรรค ปชป.ด้วย เมื่อได้กรรมการดังกล่าวแล้ว กรรมการก็จะต้องออกประกาศว่าจะเริ่มเปิดให้มีการหยั่งเสียงเมื่อใด กรรมการต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์การหยั่งเสียง รวมถึงต้องกำหนดออกมาว่าการหยั่งเสียงดังกล่าวของสมาชิกพรรค ปชป.จะใช้การหยั่งเสียงด้วยระบบแอปพลิเคชันอะไร ที่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้านไอที ซึ่งกรรมการชุดนี้สามารถตั้งได้ว่าจะให้ใครมาพิจารณาว่าการหยั่งเสียงผ่านแอปพลิเคชันจะทำอย่างไร เช่นคุณเป็นสมาชิกพรรค ปชป. เมื่อได้ออกเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือเบอร์ที่ใช้หยั่งเสียงไปแล้ว สมาชิกคนอื่นจะมาขอยืมมือถือเบอร์ดังกล่าวมาออกเสียงบ้าง จะทำไม่ได้ เบอร์โทรศัพท์หนึ่งเบอร์ให้หยั่งเสียงได้คนเดียว ซึ่งก็จะมีวิธีการล็อกเอาไว้

ขั้นตอนการหยั่งเสียงดังกล่าว รายละเอียดต่างๆ กรรมการจัดการหยั่งเสียงก็ต้องไปพิจารณา หากพบว่าใครกระทำมิชอบก็ให้กรรมการรายงานกรรมการบริหารพรรคเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยช่วงเวลาการใช้สิทธิ์หยั่งเสียงก็อยู่ที่กรรมการ ที่อาจใช้เวลาเช่น 1-3 วัน เมื่อเสร็จสิ้นผู้สมัครแต่ละคนก็จะรู้ผลอยู่แล้ว เพราะมีตัวแทนของผู้สมัครอยู่ในกรรมการ 5 คนดังกล่าว โดยเมื่อได้ผลการหยั่งเสียงออกมาก็ให้กรรมการรายงานผลให้กรรมการบริหารพรรคทราบ จากนั้นกรรมการบริหารพรรคก็จะนัดประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค

โดยลำดับแรกวาระดังกล่าวก็จะต้องเลือกหัวหน้าพรรคก่อน แต่ตอนนั้นทุกคนก็ทราบกันแล้วว่าผลการหยั่งเสียงออกมาเป็นอย่างไร โดยในที่ประชุมจะมีผู้เสนอชื่อคนให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเลือกเป็นหัวหน้าพรรค โดยการเสนอชื่อต้องมีผู้ให้การรับรองด้วยจำนวนเสียงของผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เช่นเสนอชื่อนาย ก. จากผลการหยั่งเสียง แต่คนอื่นจะเสนอชื่อคนอื่นที่ไม่ใช่นาย ก.ก็ได้ คือจะเสนอชื่อคนที่ไม่ได้ไปสมัครเป็นหัวหน้าพรรคตอนหยั่งเสียงก็สามารถทำได้ เช่นตอนหยั่งเสียงมีสองคน  แต่ตอนประชุมใหญ่จะเสนอชื่อคนอื่นอีกก็ได้ แต่ตอนนั้นก็รู้อยู่แล้วว่าตอนหยั่งเสียงใครชนะ แล้วจะไปเสนอชื่อคนอื่นหรือ แต่ทั้งหมดที่ประชุมใหญ่พรรคคือผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการเลือกหัวหน้าพรรค เพราะหลักสำคัญของกฎหมายพรรคการเมืองคือ ให้ที่ประชุมใหญ่พรรคเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของพรรคการเมือง  ที่ในกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน

"คือจะไม่เอาชื่อที่หยั่งเสียงมาก็ได้ เอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ ได้ทั้งนั้น  แต่หากสมมุติผมลงแล้วผมได้คะแนนตอนหยั่งเสียงมา 5-6 หมื่นเสียง แล้วเขาจะไม่เอาผม ก็แปลกประหลาดแล้ว พวก 250 คนที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่พรรคถูกโจมตีแน่

            อย่างไรก็ตาม ถวิล ยอมรับว่าเมื่อ คสช.ยังไม่คลายล็อก ก็ไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนได้ว่า กระบวนการหยั่งเสียงดังกล่าวและการประชุมใหญ่พรรค ปชป.เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค สุดท้ายแล้วจะเริ่มต้นและเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะตอนนี้พรรคการเมืองจะทำอะไรไม่ได้เลยหาก คสช.ไม่คลายล็อก หากจะให้พรรคการเมืองมาทำทุกอย่างตอนช่วงปลดล็อกคือตอนเลย 90 วัน หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ก็จะมีปัญหาเรื่องเวลาแล้ว กระบวนการหยั่งเสียงจะเริ่มได้เมื่อ คสช.คลายล็อก พรรคก็เริ่มขั้นตอนต่างๆ ได้เลย เช่นประชุมกรรมการบริหารพรรค แล้วออกประกาศกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้มีการรับสมัคร พอปิดรับสมัครก็กำหนดวันเวลา วิธีการหยั่งเสียง การประชาสัมพันธ์อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อให้มีการหยั่งเสียง

            อลงกรณ์ทิ้งพรรค ปชป.ไปแล้ว

            ถามถึงกรณีนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่มีข่าวว่าถูกทาบทามให้มาลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. บอกว่า ข้อบังคับพรรคดังกล่าว ในกรณีคนนอก ที่ให้อดีต ส.ส.ปชป.มารับรอง 40 คน เพื่อมาแข่งกับหัวหน้าพรรคตัวเอง ในทางปฏิบัติมันทำได้ยาก เพราะหากคนที่ไปรับรองให้มาแข่งกับหัวหน้าพรรค สุดท้ายเกิดแพ้ พวกที่ไปรับรองก็อาจอยู่ในพรรคลำบาก เรื่องนี้ ถวิล ตอบกลับว่า ถ้าคุณคิดแบบนั้นคุณหาสมาชิก หาอดีต ส.ส.มารับรองไม่ได้ คุณก็ลงไม่ได้ คุณก็รู้ระบบพรรคดีอยู่แล้ว ยืนยันว่าข้อบังคับพรรคเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคดังกล่าวมีความเป็นธรรม เพราะในตัวข้อบังคับบอกว่า ต้องเป็นอดีต ส.ส. แต่คุณออกจากพรรคไปแล้ว เท่ากับว่าคุณ อย่างกรณีคุณอลงกรณ์ เท่ากับว่าทิ้งพรรคไปแล้ว คุณไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ที่เราเขียนข้อบังคับแบบนี้เราไม่ได้หมายถึงตัวคุณอลงกรณ์ แต่หมายถึงคนอื่นก็ได้ คนนอกทั่วไปก็ได้ แต่คุณต้องหาคนมารับรอง ไม่ใช่ไม่มีผู้รับรอง ก็ไม่ถูก

            ถามไปว่า อลงกรณ์ที่เคยอยู่กับ ปชป. เสนอว่า หากจะต้องกลับไปทำงานที่พรรค ปชป.ต่อ พรรคจะต้องปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆ สี่ด้าน เช่น เรื่องนโยบาย วิสัยทัศน์ มาเสนอแบบนี้คนก็มองว่าอลงกรณ์ที่เคยอยู่กับ ปชป.มาหลายปี แสดงว่า ปชป.ไม่เคยปฏิรูปอะไร ถวิล ตอบว่า เรื่องนี้ผมว่าเขาพูดไม่หมด เขาเคยเสนอปฏิรูปพรรค และแก้ไขข้อบังคับพรรค ซึ่งที่ประชุมพรรคก็เอาตามที่เขาเสนอหลายอย่าง แล้วอยู่ๆ ก็ออกไป ผมก็ไม่อยากพูดถึง

-แต่หลักเกณฑ์คนนอกมาลงสมัครที่วางไว้ อาจทำให้คนนอกที่สนใจอยากเข้ามาทำงานกับประชาธิปัตย์ เช่น นักธุรกิจ นักวิชาการ อาจไม่อยากเข้ามาเพราะดูแล้วคงเข้ามาได้ยาก?

อันดับแรกเขาก็ต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อน ที่เราก็รับอยู่แล้ว ใช้เวลาไม่นาน สิบนาทีก็เสร็จ แต่ว่าเขาก็ต้องไปหาอดีต ส.ส.ให้มารับรอง 40 คน หากคุณเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถ พวกอดีต ส.ส.ของพรรค ปชป.เขาเองก็ต้องคิดเหมือนกัน

- เคยเป็นอดีต ส.ส.ในกลุ่ม 10 มกรา คนมองกันว่ารอบนี้อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง คลื่นใต้น้ำภายในพรรค ปชป.ขึ้นอีกครั้ง?

การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.หลายต่อหลายครั้งที่มีการแข่งขัน เรื่องหัวหน้าพรรคก็มีการแข่งขันกัน สู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง แล้วก็มีการแตกแยกกันบ้างในบางครั้ง เช่น กรณีสมัยที่เกิดกลุ่ม 10 มกรา แต่ตอนนั้นมันมีรากฐานเรื่องอื่นด้วย

ผมคิดว่าการที่พรรคใช้เสียงสมาชิกพรรค ปชป.ทั้งประเทศ แล้วจะทำให้เกิดปัญหาแตกแยก ผมว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ในเมื่อคนส่วนใหญ่นับจำนวนหมื่นเอาคนนี้ พอคุณอีกคนไม่ได้มาแล้วจะมาอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนี้สังคมรับไม่ได้ เราให้โอกาสอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม เช่น ให้คนของผู้สมัครมาเป็นกรรมการจัดการหยั่งเสียงฯ หัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์) ก็ไม่มีสิทธิ์ตั้งกรรมการชุดนี้

ส่วนที่มีการพูดเรื่องผู้รับรอง เมื่อคุณเคยเป็นอดีต ส.ส. เคยอยู่ในพรรค ปชป. เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีของพรรค คุณก็ต้องหาคนมารับรองได้

“ถ้าคุณบอกว่าเสียเปรียบ ก็ในเมื่อคุณออกจากพรรคไปโดยที่เราไม่ได้มีอะไรกันเลย จู่ๆ ก็มาออกจากพรรค ที่จริงทางหัวหน้าพรรค (อภิสิทธิ์) ยังเคยกับพวกเราเลย หากคุณอลงกรณ์จะสมัครก็เป็นเรื่องดี จะได้มีการแข่งขันที่หลากหลาย ซึ่งพวกเราหลายคนก็เห็นด้วยว่าควรต้องให้มีความหลากหลาย”

            ถวิล-ผู้ยกร่างข้อบังคับพรรค ปชป. ยอมรับว่า เรื่องการให้สมาชิกพรรคร่วมหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ตอนแรกๆ แนวคิดดังกล่าวก็อาจจะมีคนไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่รู้ขั้นตอน ระเบียบข้อบังคับเป็นอย่างไร พออธิบายตอนหลังส่วนใหญ่ต่างก็โอเคกันหมด โดยข้อดีของการให้สมาชิกพรรคร่วมหยั่งเสียงด้วยก็คือ ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วม และเขาก็จะพอใจ และต่อไปเมื่อคนที่เขาเลือกตอนหยั่งเสียงแล้วได้เข้าไปถึงช่วงเช่นตอนเลือกตั้ง เขาก็จะไปช่วยหาเสียงให้ เช่น คุณเลือกผม ตอนหยั่งเสียงแล้วชื่อผมผ่านที่ประชุมใหญ่พรรค แล้วตอนเลือกตั้งคุณจะไม่ตื่นเต้นจนไม่มาช่วยหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ผมซึ่งคนหยั่งเสียงให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ได้เป็นนายกฯ หรือ สมาชิกเขาก็จะมีความภูมิใจว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค พรรคของเขาเอง ซึ่งเดิมทีไม่มี เพราะเป็นการเลือกทางอ้อม เช่น ผ่านสาขาพรรค เมื่อเขาเลือกด้วยตัวเองเขาก็จะภูมิใจ

            ตั้งคำถามว่าก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า แรงสนับสนุนในพรรค ปชป.ต่อตัวนายอภิสิทธิ์ยังมีสูง ถวิล กล่าวว่า ผมก็ยังเชื่อว่าอย่างนั้น การที่เปิดโอกาสให้สมาชิกหยั่งเสียงได้ ท่านเป็นคนที่เลือดเนื้อเชื้อไขเป็นนักประชาธิปไตย และเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย

-เท่าที่ได้คุยกับคนในพรรค ปชป. ยังมีเสียงสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เยอะหรือไม่?

ก็ยังไม่มีเสียงไหนที่บอกจะไม่เอาคุณอภิสิทธิ์ แต่อันนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะอย่างไร แต่ผมก็เชื่อว่าท่านเป็นคนที่เหมาะสมคนหนึ่ง

-เลือกหัวหน้าพรรค ปชป.เสร็จ ทุกอย่างจะจบเลยหรือไม่?

จบเลย ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าจะไม่มีปัญหาและจะเป็นการทำให้รากฐานของพรรค ปชป.เข้มแข็งขึ้น และผมเชื่อว่าคนที่ไม่ชนะในการหยั่งเสียงจะเข้ามาร่วมมือกันเพื่อพรรคมากขึ้น

“การหยั่งเสียง เป็นการทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคที่ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรค ปชป.อย่างจริงจัง เป็นการปฏิรูปพรรคอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้ เพราะเราใช้ระบบวงกว้างมาเลือกผู้นำพรรค”

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่พรรค ปชป.กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคต่างกับพรรคอื่นเยอะ เราต่อสู้อย่างจริงจังมากในการเลือกแต่ละครั้ง

..เรื่องไพรมารีโหวต ที่ สนช.ไปคิดโมเดลมา จริงๆ แล้วประชาธิปัตย์มีข้อบังคับพรรคที่ใช้กันมานานแล้วว่า การเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จะต้องมีขั้นตอน เช่น ทุกเขตเลือกตั้ง เมื่อกรรมการสรรหาพรรคเลือกได้แล้วต้องส่งชื่อไปให้ที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคพิจารณา ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคเห็นชอบด้วยกับรายชื่อดังกล่าว พรรคถึงจะส่งชื่อดังกล่าวลงเลือกตั้งได้ หากที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคไม่เห็นชอบก็จะให้กรรมการสรรหาฯ พิจารณาร่วมกันกับสาขาพรรค

เรื่องนี้พรรค ปชป.ทำไว้นานแล้ว พรรคอื่นไม่เคยทำ พรรค ปชป.จึงเห็นด้วยกับเรื่องการให้ทำไพรมารีโหวตมาตลอด แต่ว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าทุกพรรคต้องพร้อม หาก คสช.ให้เวลาพรรคการเมืองจำกัด ทุกพรรคการเมืองก็ทำไม่ทัน การคลายล็อกของ คสช.มีการแก้ไขกระบวนการทำไพรมารีโหวต จากเดิมให้มีการโหวตในระดับสาขาพรรคประจำจังหวัดโดย คสช.ไปแก้ให้มีกรรมการ 11 คนมาพิจารณาแทน พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปเขียนเรื่องการทำไพรมารีโหวตให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

..........................................................................................

ปชป.ตัวแปรตั้งรัฐบาล?

            เมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ และหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งคลายล็อกพรรคการเมืองมาแล้ว ทำให้ขณะนี้ก็เริ่มเข้าสู่โหมดเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

 ถวิล ไพรสณฑ์ นักการเมืองอาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ มองถึงผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ขณะนี้ยังพูดได้ยาก เพราะยังไม่ลงตัว แต่พูดได้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบันพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีอำนาจต่อไป ซึ่งเราไม่ว่ากัน การที่มีการหนุนพรรคการเมืองต่างๆ โดยคนในรัฐบาลมีส่วนสำคัญ เช่น กรณี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีข่าวออกมา ความเห็นส่วนตัวผมไม่ได้ติดใจอะไร แต่ผลจะเป็นอย่างที่เขาคิดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปัญหาที่ผมอยากย้ำก็คือ เพราะการเขียน รธน.แบบนี้จึงสร้างปัญหาให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจเองที่เขียน รธน.แบบคิดว่า เขียนแบบนี้แล้วผู้ได้รับประโยชน์คือฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่ลืมคิดไปว่าในทางปฏิบัติแล้วมันยากมาก เช่น กรณีให้ใช้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตรลงคะแนนใบเดียวเพื่อให้เลือกทั้งคนและพรรค ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ทั้งที่ควรให้ประชาชนเลือกด้วยความสบายใจว่าชอบผู้สมัครคนไหน ชอบพรรคการเมืองใด

อีกทั้งเวลานี้รัฐบาลใช้โอกาสหาเสียงโดยค่อนข้างได้เปรียบ เช่น ตระเวนไปประชุม ครม.ตามที่ต่างๆ แล้วรับปากเรื่องต่างๆ เอาไว้ ก็น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้งจะมีงบประมาณที่ไหนไปใช้บริหารประเทศ เพราะมีการใช้จ่ายเงินล่วงหน้าไปมากแล้ว เช่น การทำโครงการใหญ่ต่างๆ

สำหรับโอกาสของพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ผมว่าคราวนี้ ปชป.เราได้หาข้อมูลต่างๆ มามากพอสมควรในช่วงที่พรรคการเมืองทำกิจกรรมไม่ได้ ก็มีการหาข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ โดยคนของพรรค ปชป.บางคนก็ทำในนามบุคคล เช่น นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลังที่เดินทางไปพบชาวนา เกษตรกรตามที่ต่างๆ ก็ทำให้เราได้รู้ข้อมูลพื้นฐานทั่วประเทศ ทุกอาชีพ เราก็จะนำเสนอเป็นนโยบายที่เชื่อว่าจะเป็นนโยบายที่ประชาชนพอใจเพราะทำออกมาจากข้อเท็จจริง

ชูเลือกตั้งผู้ว่าฯ-รัสวัสดิการ

            ถวิล-นักการเมืองอาวุโสของพรรค ปชป. กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรค ปชป.พร้อมชูนโยบายการกระจายอำนาจในช่วงหาเสียง เพราะปัจจุบันเป็นโลกยุคกระจายอำนาจ ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจ เราต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เมืองไทยตอนนี้เป็นรัฐข้าราชการ ข้าราชการเป็นใหญ่ แล้วข้าราชการทุจริตก็มีมากมาย โดยข้าราชการวางตัวเหนือประชาชน จึงต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ใช้วิธีการกระจายอำนาจก็ไม่มีวิธีไหน เพราะการกระจายอำนาจจะสร้างบุคลากรทางการเมืองที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเมือง

            การให้มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แค่ 1-2 ปีก็ย้ายไปที่อื่น ไม่รู้จักพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่รู้จัก แต่ถ้าผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง จริงอยู่ช่วงแรกๆ เราอาจได้คนที่คิดว่าอาจไม่ใช่คนดี แต่ถ้าเลือกบ่อยครั้งประชาชนก็จะรู้เอง แนวทางพรรคก็คือให้เลือกในจังหวัดที่มีความพร้อม ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอาจจะมีการต่อต้านจากกระทรวงมหาดไทยก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ หายไป แต่แปลกมาก ตอนชุมนุม กปปส. พวกอดีตผู้ว่าฯ ขึ้นเวที กปปส. เห็นด้วยทั้งสิ้นกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ตอนยังไม่เกษียณไม่เห็นเขาพูดถึงเลย ยังไงก็หนีไม่พ้น ในอนาคตต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ แน่นอน ไม่อย่างนั้นประเทศไปไม่รอด

ดูอย่างปัจจุบัน การขออนุญาตอะไรต่างๆ ในจังหวัด เช่น นราธิวาส คนที่ทำต้องมาทำเรื่องขอถึงในกรุงเทพฯ ทั้งที่อำนาจควรอยู่ที่ท้องถิ่น แล้วก็ไปเขียนกำหนดไว้ว่าบางเรื่องไม่ใช่หน้าที่ของท้องถิ่น ให้เป็นหน้าที่ของส่วนกลางไป เช่น เรื่องทหาร การก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เรื่องศาล ส่วนเรื่องการให้บริการประชาชนให้เป็นเรื่องท้องถิ่นเช่นที่ขอนแก่นที่เขาทำรถไฟฟ้า ทำไมเขาทำได้ จะมารอส่วนกลางไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปเริ่มทำที่ไหน แต่หากท้องถิ่นเขาพร้อมเขาทำเองได้

พรรค ปชป.ก็จะชูนโยบายกระจายอำนาจให้ประชาชนเขาจัดการตนเอง โดยการให้เลือกผู้ว่าฯ โดยตรงในจังหวัดที่มีความพร้อม ของไทยเราตราบใดที่ท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง การเมืองจะไม่เข้มแข็งเลย เพราะว่าท้องถิ่นเป็นเวทีสอนประชาธิปไตยให้กับประชาชนได้เรียนรู้การปกครองตั้งแต่รากหญ้าขึ้นมา นอกจากนี้พรรค ปชป.ก็อาจชูนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะยิ่งต่อไปผู้สูงอายุจะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

            เมื่อถามในฐานะที่อยู่ทั้งประชาธิปัตย์และก็เคยอยู่กับพรรคพลังธรรมสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ว่า ที่ผ่านมา ปชป.แพ้การเลือกตั้งให้กับทักษิณมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยว่าเป็นเพราะเหตุใด เรื่องเงินหรือเรื่องนโยบาย ถวิล ให้ความเห็นว่า เรื่องนโยบายไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดเพราะนโยบายของ ปชป.อย่างเรื่องการประกันพืชผลการเกษตรเป็นนโยบายที่ดีที่สุด รัฐไม่ต้องเสียเงินมากมายเหมือนรับจำนำข้าว แต่นโยบายของพรรคที่คุณทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค เขาก็กล้าออกนโยบายที่ทำโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบางเรื่อง และไปโดนใจชาวบ้าน แต่ของ ปชป.ทำอย่างรอบคอบ จนเขาอาจมองว่าเราเชื่องช้า แต่เพราะเราก็ต้องมองถึงผลที่จะตามมาด้วย เช่น จำนำข้าว จำนำได้อย่างไรเกวียนละ 15,000 บาท ทำได้อย่างไร ทั้งที่ราคาแค่เกวียนละ 9,000 บาท ส่วนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะมีโอกาสที่ ปชป.จะชนะเพื่อไทยหรือไม่ ยังตอบยาก เพราะ อย่างเช่นก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ดูแล้วผลการเลือกตั้งคะแนนเสียงคงแตกไปหลายพรรค

            ถวิล ยอมรับว่าการที่ปัจจุบันพรรค ปชป.ไม่มีแกนนำอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่กับ ปชป.แล้ว ก็ต้องยอมรับความจริงว่าก็มีผลกระทบบ้างแต่คงไม่มาก ส่วนที่มีการมองกันว่าพรรค ปชป.จะเป็นตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล เรื่องนี้มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ยังไงพรรคที่จะตั้งรัฐบาลต้องได้เสียงเกิน 250 คน หากเสียงไม่ถึงก็ทำงานได้ลำบากมาก การหา 250 เสียงจะหาอย่างไร พรรคที่ประกาศหนุนอยู่ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่รู้จริงหรือไม่ หัวหน้าพรรคอะไรก็ไม่มี แต่ประชาธิปัตย์เขาก็อาจมองอยู่ เพราะ ปชป.อาจได้ ส.ส.มากขึ้น

“หากเราไปรวมด้วย ก็ไม่ต้องไปหาพรรคให้มากมายเพื่อให้ครบ 250 เสียง เขาก็คงคิดถึงเรา แต่เราก็มีนโยบายอยู่แล้วตามที่หัวหน้าพรรคเคยบอกไว้ เช่น ต้องดูว่านโยบายสอดคล้องกันหรือไม่ และเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย”

.............................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"