ก็พอเขาจากไปก็กลายเป็นคนไม่ดี...งั้นเหรอ


เพิ่มเพื่อน    

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างก็พยายามหาคนที่จะมาลงสมัครในนามพรรคของตนหรือกลุ่มของตน จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกขานกันว่าพลังดูด ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ข่าวสารที่พวกเราได้รับรู้ก็คือ นักการเมืองหน้าเดิมๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีความตั้งใจที่จะย้ายพรรค ซึ่งคนที่มีข่าวว่าจะย้ายก็เป็นที่กล่าวขานกันว่าถูกดูด และเมื่อถูกดูดออกไปจากพรรคที่นักการเมืองเหล่านั้นมองว่าเป็นพรรคที่สิ้นมนต์เสน่ห์หรือเป็นพรรคที่พวกเขามองว่าไม่น่าจะกลับคืนสู่อำนาจได้ คนที่ย้ายออกไปหรือที่เรียกว่าถูกดูดนั้นก็จะกลายเป็นคนไม่ดีในสายตาของคนที่ยังอยู่ ข้อความที่พวกเขาพูดถึงคนเหล่านั้นเพื่อจะบอกกับสาธารณชนมีมากมายหลายประเด็นที่จะทำให้สาธารณชนมองว่าคนที่ถูกดูดไปนั้นเป็นคนไม่ดี (ที่ครั้งหนึ่งก็เคยร่วมพรรคเดียวกับเขา) บัดนี้พอพวกเขาประกาศตัวย้ายออกไปพวกเขาก็จะกลายเป็นคนไร้อุดมการณ์ (ที่ผ่านมานักการเมืองเขารวมกันเป็นพรรคด้วยอุดมการณ์ด้วยหรือ) พวกเขาเป็นคนที่ไม่มีดีอะไร อยู่กับพรรคต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ (ประโยชน์ของ ส.ส.ที่มีต่อพรรคคืออะไรไม่ทราบนอกจากเพิ่มจำนวนมือที่ยกผ่านกฎหมายแบบเผด็จการทางรัฐสภา หรือพวกเขาย้ายไปเพราะต้องการเงินต้องการตำแหน่ง (พูดแบบนี้ด้วยการวิเคราะห์การกระทำของคนอื่นหรือพูดจากประสบการณ์ของพรรคตนเอง ที่เคยใช้เงินและตำแหน่งในการดึงคนเข้าพรรค) พูดเรื่องราวเหล่านี้แล้วก็กล่าวขอบคุณคนที่ถูกดูดว่าเป็นคนแก่ เป็นคนเก่า เป็นคนไม่ดี ดังนั้นการย้ายออกไปเท่ากับเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ (ข้อนี้อาจจะจริงว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่ม ปัญหามันอยู่ที่ว่า คนใหม่เหล่านี้ดีกว่าคนเก่าหรือไม่ มีอุดมการณ์หรือไม่ยอมพายเรือให้โจรนั่งหรือไม่)

การที่คนใดคนหนึ่งย้ายออกจากพรรคใดพรรคหนึ่งนั้นอาจจะมาจากเหตุผลหลายๆ อย่างแตกต่างกันไป อาจจะเป็นเหตุผลเพียงข้อเดียวหรือจากหลายข้อก็ได้ อาจจะเป็นเหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรืออาจจะเป็นเหตุผลเพื่อประโยชน์ส่วนตน คนที่อยู่คนละพรรค หรือคนที่ไม่ใช่นักการเมืองจะวิพากษ์วิจารณ์คนย้ายพรรคเหล่านี้ในแง่ไม่ดีอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของพวกเขา และพวกเราที่ได้ยินได้ฟังคำวิจารณ์เหล่านั้น ก็สามารถนำเอาคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมาวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สมเหตุสมผล มีความน่าเชื่อถือพอที่เราจะเห็นด้วยได้หรือไม่ แต่คนที่เคยอยู่ในพรรคเดียวกันมาก่อน เคยไปชวนมาร่วมพรรคมาก่อนในอดีต แล้วมาด่าว่าคนที่ย้ายออกไปเป็นคนไม่ดี ไม่น่าเชื่อถือและคงไม่เหมาะนัก แค่พูดว่าการจะอยู่พรรคเดิมหรือจะย้ายพรรคออกไปเป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคน และเราก็เคารพการตัดสินใจของเขา ส่วนเมื่อย้ายออกไปแล้วจะดีกว่าหรือแย่กว่าการอยู่กับพรรคเดิมนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป พูดแค่นี้พอไหม ด่ากันทำไม จากคนดีที่เคยร่วมพรรคกลายเป็นคนไม่ดีที่จากไป “น้ำเน่า” จริงๆ เรื่องการสาดโคลนใส่กันแบบนี้ เมื่อไหร่จะหมดไปจากวัฒนธรรมการเมืองของไทยเสียที นักการเมืองตระหนักรู้บ้างไหมทำไมสาธารณชนจึงเบื่อนักการเมือง มองพวกท่านเป็นคนโกหก บิดเบือนความจริง ทำงานการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจและประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองเป็นเช่นนี้ทุกคน แต่มีที่เป็นเช่นนี้มีมากพอจนกลายเป็นภาพรวมของนักการเมืองในสายตาของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดจะกล่าวหาว่านักการเมืองไม่ได้ทำอะไรให้ประเทศชาติเลย เพราะความเป็นจริง นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศนั้นก็มีนโยบายและโครงการหลายอย่างที่พัฒนาประเทศ สร้างความเจริญให้ประเทศ และเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ข่าวที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คือเรื่องของ “เงินทอน” ที่เมื่อก่อนเป็นเรื่อง 10% แต่ปัจจุบันสูงถึง 30-40% สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สาธารณชนบางคนบางกลุ่มกลายเป็นคนกลัวการพัฒนา (development phobia) คือกลัวที่จะมีโครงการต่างๆ เพราะเกรงว่าภาษีที่นำมาใช้ในทำโครงการต่างๆ นั้นจะไม่ลงไปที่โครงการเพื่อการพัฒนา 100% แต่มันจะเข้าไปที่กระเป๋าใครบ้างก็ไม่รู้ ซึ่งสูงถึง 30-40% ยิ่งถ้าเป็นโครงการใหญ่ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ถ้ามีเงินทอน นักการเมืองที่ได้เงินทอนได้ไปเท่าไหร่ พอเรื่องพวกนี้เป็นคดีขึ้นมา และเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วปรากฏว่านักการเมืองทำผิดจริงตามข้อกล่าวหานั้น สาธารณชนตกใจกับยอดเงินที่พวกเขาโกงไป เพราะมันไม่ใช่สิบล้านร้อยล้าน แต่มันสูงถึงพันล้านหมื่นล้าน และบางโครงการเป็นแสนๆ ล้านก็มี แบบนี้แล้วจะให้สาธารณชนไว้ใจนักการเมืองได้อย่างไร แม้ว่านักการเมืองไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกคน แต่ในบางพรรคนั้นเราก็จะเห็นว่าคนที่เป็นแกนนำของพรรคก็มักจะเป็นนักการเมืองที่ทำเลวทำชั่ว คนที่ย้ายหรือคนที่ถูกดูดนั้นอาจจะจากไปเพราะมองเห็นความชั่วร้ายของพรรคเดิมและรับไม่ได้อีกต่อไป เพราะจากผลของการพิจารณาคดีต่างๆ ผลออกมาชัดเจนว่าผิดจริง

บางคนก็อาจจะย้ายเพราะทัศนะ (หรืออุดมการณ์) ไม่ตรงกัน ก็ไม่รู้ว่าที่ผ่านมานั้นพวกเขามีอุดมการณ์กันบ้างหรือไม่ บางคนอาจจะย้ายเพราะคิดว่าอยู่พรรคเดิมอาจจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะพรรคหมดมนต์เสน่ห์ที่จะเป็นที่ชื่นชมของสาธารณชนแล้ว อยากจะชนะเลยย้าย บางคนอาจจะย้ายเพราะอยากอยู่กับพรรคที่พวกเขาคิดว่าจะชนะการเลือกตั้ง เพราะอยากจะอยู่กับพรรครัฐบาลมากกว่าที่จะอยู่กับฝ่ายค้าน บางคนก็อาจจะย้ายไปเพราะหวังที่จะมีตำแหน่ง เพื่อ หาได้ใช้ความรู้พัฒนาประเทศ เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อเป็นเกียรติของวงศ์ตระกูล บางคนอาจจะย้ายไปเพราะได้รับผลประโยชน์อะไรบางอย่าง จะเป็นเงิน เป็นทรัพย์ หรือให้ตนเองหรือญาติการหลุดพ้นคดีอะไรบางอย่าง ใครย้ายเพราะอะไรเราก็ไม่รู้ได้ มีทั้งเจตนาดีและเจตนาที่ไม่ดี ชี้แต่คนที่เคยอยู่พรรคเดียวกันอย่าด่ากันเองจะดีกว่า ถ้าจะมีใครด่าขอให้เป็นคนนอกพรรคเถอะ ภาพลักษณ์ ความเป็นน้ำเน่าของนักการเมืองจะได้หมดไปเสียที.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"