โฆษกรัฐบาลเมียนมาตอบโต้ "บิล ริชาร์ดสัน" อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก อย่างดุเดือดที่บังอาจวิจารณ์นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ระบุเป็นการโจมตีตัวบุคคล หลังจากริชาร์ดสันลาออกจากคณะกรรมการที่นางซูจีแต่งตั้ง อ้างไม่ต้องการฟอกขาวให้วิกฤติโรฮีนจา
นางอองซาน ซูจี เดินทางเยือนอินเดียเมื่อวันพุธ ภาพ AFP
ริชาร์ดสันเป็นกรรมการชาวต่างชาติ 1 ใน 5 คน ของคณะกรรมการชุดพิเศษจำนวน 10 คนที่นางซูจีแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่หาทางออกให้แก่วิกฤติความขัดแย้งในรัฐยะไข่ แต่นักการทูตชาวอเมริกันรายนี้ได้ออกแถลงการณ์ประกาศการลาออกของเขาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2561 พร้อมกับกล่าวประณามนางซูจีว่า ไม่มีความเป็นผู้นำเชิงจริยธรรม
อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐเพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนเมียนมานาน 3 วัน และได้เข้าพบหารือกับนางซูจี แต่ในการหารือนี้เขาได้หยิบยกความห่วงกังวลของรัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับการจับกุมคุมขังและดำเนินคดีนักข่าวของรอยเตอร์ 2 คน สะกิด "ปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโกรธจัด" ของนางซูจี โดยริชาร์ดสันบรรยายในคำให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า นางซูจีโกรธจนตัวสั่น "ถ้าเธออยู่ใกล้กับผมมากกว่านี้อีกนิด เธออาจตบผมก็ได้ เธอโกรธจัดมาก" ไทมส์อ้างคำกล่าวของเขา
วา โลน และจ่อ โซ อู สองนักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมาที่กำลังทำข่าวเกี่ยวกับวิกฤติผู้อพยพชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ถูกรัฐบาลเมียนมากล่าวหาว่าครอบครองเอกสารลับของราชการ โดยพวกเขาได้รับเอกสารนี้จากตำรวจ 2 นายที่นัดพบกัน ทั้งคู่อาจถูกตัดสินลงโทษจำคุกถึง 14 ปีตามกฎหมายความลับทางราชการ
ริชาร์ดสันอ้างว่า สามัญสำนึกของเขาทำให้เขาไม่สามารถเป็นสมาชิกในคณะกรรมการชุดนั้นได้อีกต่อไป "เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมลาออกก็คือ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ฟอกขาวอำพรางความจริง"
วันเดียวกัน จ่อ เทย์ โฆษกรัฐบาลเมียนมา ได้แถลงตอบโต้ผู้แทนสหรัฐรายนี้อย่างดุเดือดว่า ริชาร์ดสันควรทบทวนตัวเองที่กล่าวโจมตีมนตรีแห่งรัฐของเราเป็นการส่วนตัว
"เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเขาเกี่ยวกับนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน แต่กระนั้น เขาก็ต้องทำความเข้าใจเช่นกัน ไม่ใช่มากล่าวโทษประเทศเมียนมาและมนตรีแห่งรัฐ" โฆษกเมียนมากล่าว และว่า การจับกุมนักข่าว 2 รายนี้อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของริชาร์ดสัน และเขาไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาว่ากล่าวกับนางซูจี
ด้านขิ่น ซอ วิน นักวิเคราะห์ชาวเมียนมา ให้ทัศนะว่า คำวิจารณ์เผ็ดร้อนของริชาร์ดสันอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสะกิดเตือนนางซูจีและผู้คนรายล้อมตัวนางที่ไม่ยอมรายงานความจริงให้นางรับรู้
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เคยเป็นขวัญใจของประชาคมด้านสิทธิทั่วโลก ถูกตำหนิอย่างรุนแรงที่ไม่ปกป้องชาวโรฮีนจา และไม่แตะต้องกองทัพที่กระทำโหดร้ายต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งพากันอพยพหนีข้ามแดนเข้าบังกลาเทศแล้วมากกว่า 655,000 คน นับแต่กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |