ไทยติดบัญชีประเทศน่าละอาย


เพิ่มเพื่อน    

    ไทยติดบัญชี 38 ประเทศ "น่าละอาย" ของยูเอ็น ที่แก้แค้นหรือข่มขู่คุกคามผู้ที่ให้ความร่วมมือกับยูเอ็นในด้านสิทธิมนุษยชน พบยักษ์ใหญ่ทั้งจีนและรัสเซียติดกลุ่มด้วย รวมถึงชาติอาเซียนทั้งเมียนมาและฟิลิปปินส์ กรณีไทยมีทั้งกรณีใหม่และกรณีค้างเก่า
    อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นำเสนอรายงานประจำปีที่่ว่าด้วยการตอบโต้ที่ประเทศต่างๆ ที่ใช้วิธีปฏิบัติที่น่าละอายต่อเหยื่อและต่อผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยรายงานฉบับนี้เป็นปีที่ 9 นับแต่ยูเอ็นเริ่มจัดทำรายงานว่าด้วยการตอบโต้ครั้งแรกเมื่อปี 2553 รายงานที่เผยแพร่ที่นครเจนีวาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ระบุชื่อประเทศ 38 ประเทศที่ถูกระบุว่าตอบโต้ล้างแค้นหรือข่มขู่คุกคาม บางประเทศในบัญชีนี้เป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นด้วย 
    รายงานจำแนกกลุ่มประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเทศที่เกิดกรณีใหม่ ซึ่งมี 29 ประเทศ และอีกกลุ่มเป็นประเทศที่เกิดคดีต่อเนื่องหรือยังดำเนินอยู่ มี 19 ประเทศ ประเทศทั้ง 38 ประเทศนี้ถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีปฏิบัติที่น่าละอาย อาทิ ฆ่า, ทารุณทรมานและปฏิบัติแย่ๆ, จับกุมและกักขังตามอำเภอใจ, สอดแนม, การกำหนดความผิดทางอาญา และการรณรงค์สร้างมลทินในสายตาสังคม ทั้งกับเหยื่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและกับผู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
    กลุ่ม 29 ประเทศที่เกิดกรณีใหม่นั้น ได้แก่ บาห์เรน, แคเมอรูน, จีน, โคลอมเบีย, คิวบา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, อียิปต์, กัวเตมาลา, กายอานา, ฮอนดูรัส, ฮังการี, อินเดีย, อิสราเอล, คีร์กีซสถาน, มัลดีฟส์, มาลี, โมร็อกโก, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, รวันดา, ซาอุดีอาระเบีย, เซาท์ซูดาน, ไทย, ตรินิแดดและโตเบโก, ตุรกี, เติร์กเมนิสถาน และเวเนซุเอลา 
    19 ประเทศที่เกิดกรณีต่อเนื่องหรือยังดำเนินอยู่ ได้แก่ แอลจีเรีย, บาห์เรน, บุรุนดี, จีน, อียิปต์, อินเดีย, อิหร่าน, อิรัก, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, โมร็อกโก, เมียนมา, ปากีสถาน, รวันดา, ซาอุดีอาระเบีย, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อุซเบกิสถาน และเวเนซุเอลา
    รายงานกล่าวว่า รัฐบาลประเทศเหล่านี้มักจะตั้งข้อหานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหาก่อการร้าย หรือกล่าวโทษพวกเขาว่าร่วมมือกลุ่มคนชาวต่างชาติ หรือสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือความมั่นคงของประเทศ
    ส่วนผู้หญิงที่ให้ความร่วมมือกับยูเอ็น ก็รายงานว่าถูกข่มขู่คุกคามว่าจะถูกข่มขืนและตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นมักจะเจอกับคนที่หวาดกลัวจนไม่กล้าพูดคุย แม้แต่การเจอหน้ากันที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่นิวยอร์กและเจนีวาก็ตาม
    ด้านเกิ้งซวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี ตอบโต้รายงานฉบับนี้ว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง และจีนจะยื่นหนังสือแสดงความไม่พอใจต่อยูเอ็น "จีนเป็นประเทศที่มีหลักแห่งกฎหมาย" เกิ้งกล่าว "ผู้ใดก็ตามที่อ้างนามแห่งสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความแตกแยกแก่ประเทศ เพื่อท้าทายระบบการเมืองของเรา หรือสร้างความไร้เสถียรภาพทางสังคม จะถูกลงโทษตามหลักกฎหมาย"
    แอนดรูว์ กิลมัวร์ ผู้ช่วยเลขาธิการยูเอ็นด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำเสนอรายงานฉบับนี้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นสัปดาห์หน้า กล่าวว่า กรณีที่กล่าวถึงในรายงานฉบับนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Ladawan Wongsriwong หัวข้อ "ล้างอาย" คือการบ้านใหญ่ของรัฐบาลหน้า ระบุว่า ประเทศไทยโชคร้ายถึงขนาดที่ถูก UN ขึ้นบัญชีใน 38 ประเทศ มีการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อนักสิทธิมนุษยชน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน มีการเฝ้าระวัง การตั้งข้อหาในคดีอาญา และการลงโทษนักรณรงค์ในที่สาธารณะ มีการแก้แค้น ข่มขู่ คุกคาม หรือจับกุม บางกรณีถึงขั้นยัดข้อหาคดีอาญา สหประชาชาติเปิดเผยรายงานประจำปีดังกล่าวนี้ ซึ่งจัดทำโดยนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ โดยในวันที่ 19 กันายน 2561 นี้ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนต่อไป หลังจากนั้นไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการตอบโต้ หรือมาตรการลงโทษ 38 ประเทศนี้อย่างไรหรือไม่ 
    "นับเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ ต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างร้ายแรงต่อสายตาของชาวโลก เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาลหน้าจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562 จะต้องกำหนดนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาให้ได้ จะต้องไม่ให้มีการกระทำที่ UN ระบุว่าเป็นการกระทำที่น่าละอายเกิดขึ้นซ้ำอีก ทุกฝ่ายต้องตระหนักและต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนที่ดีที่สุด ให้แตกต่างจาก 4 ปีที่ผ่านมาให้ได้" นางลดาวัลลิ์ระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"