'ชวน'เมินนำ'ปชป.' เทือกปัดส่งวรงค์สู้


เพิ่มเพื่อน    

    "มาร์ค" ร่างนโยบาย-ข้อบังคับพร้อมเลือกตั้ง รอแค่คลายล็อก ไม่กังวลมีคนชิงเก้าอี้หัวหน้า ยันชนะหรือแพ้ยังอยู่ช่วยต่อ สวน "อลงกรณ์" ทำพรรคป่วน "ชวน" ย้ำเมินรีเทิรน์นำ ปชป. "เทือก" ไลฟ์สดปัดชักใยส่ง "หมอวรงค์" ลงแข่ง 
    เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ร่างข้อบังคับพรรคและนโยบายเอาไว้เพื่อที่จะเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคในที่ประชุมใหญ่ โดยนโยบายเบื้องต้นออกมาค่อนข้างจะเป็นฉบับย่อ เมื่อมีคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จะทำนโยบายอีกชุดหนึ่ง ซึ่งจะปรับเข้าสู่สถานการณ์การเลือกตั้ง คงต้องใช้เวลา 7 ถึง 10 วัน หลังคลายล็อก ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอยากให้เสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะได้เริ่มทำงาน เตรียมการเลือกตั้ง
    ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรคนั้น ไม่กังวลหลังมีชื่อหลายคนเตรียมลงสมัคร เพราะการเปิดให้สมาชิกเลือกในวงกว้าง รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะมีคนนอกมาร่วมแข่งขันตามกติกาที่วางไว้ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำให้ประชาชนมองเห็นและมั่นใจว่าทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร ส่วนตัวหากได้หรือไม่ได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ยืนยันว่ายังทำงานและสนับสนุนคนในพรรคต่อ เพราะต้องการให้เกิดรูปธรรมในการปฏิรูปพรรค และเป็นแบบอย่างพรรคการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย ส่วนผลตัดสินขึ้นอยู่กับสมาชิก
    อย่างไรก็ตาม หากนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สนใจจะลงสมัคร สามารถมาได้ตามกติกา แต่ไม่สบายใจที่เกิดวิวาทะกันขึ้น มีการสัมภาษณ์พาดพิงกันไปกันมา จึงขอความเป็นธรรมจากนายอลงกรณ์ เพราะมี 2 เรื่องที่คิดว่าจำเป็นต้องชี้แจง เรื่องแรก นายอลงกรณ์พูดถึงอดีตในเรื่องของการปฏิรูปพรรค ทำนองว่าเคยเสนอแล้วเหมือนพรรคไม่ได้ทำ ข้อเท็จจริงคือนายอลงกรณ์เป็นผู้เสนอจริง ตนในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิรูปพรรคขึ้น และนายอลงกรณ์เป็นกรรมการปฏิรูปด้วย ส่งรายงานมาให้ตนเรียบร้อย เสนอเข้าที่ประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับตามนั้น จริงๆ แล้วก็ได้ทำ เพียงแต่การแก้ข้อบังคับเสร็จก่อนการรัฐประหารเพียงไม่กี่เดือน 
    เรื่องที่สอง ไม่สบายใจที่นายอลงกรณ์พูดถึง 5 เงื่อนไข เพราะหลายข้อเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์พรรคอยู่แล้ว ทั้งความซื่อสัตย์ การต่อต้านการซื้อเสียง ส่วนเรื่องที่บอกว่าต้องไม่ใส่ร้ายสีใครนั้น ขอชี้แจงว่าใครที่ไปใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์คงถูกดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพราะความจริงนายอลงกรณ์และอีกหลายคนในพรรคต้องไปต่อสู้คดีหมิ่นประมาทกันเกือบทั้งนั้น นอกจากนี้ การที่ระบุว่าไม่ควรจะไปเล่นการเมืองนอกระบบ ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ทราบดีว่าวันนี้มีคนไม่อยากเห็นการชุมนุม การประท้วง ตนเห็นด้วย แต่อย่าไปมองว่าคนที่ออกมาชุมนุมประท้วงในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมามีวาระส่วนตัวหรืออะไร แต่หลายคนที่ออกไปด้วยความเชื่อ เพื่อต่อต้านความไม่ถูกต้อง ไม่ได้ต้องการที่จะนำพาบ้านเมืองมาสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ 
    จากนั้นเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการร่วมกับกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ห้องประชุมภายในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล,   นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์, นายสุทัศน์ เงินหมื่น,  นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยหารือถึงภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคในการเลือกหัวหน้าพรรค รวมถึงพูดคุยกันถึงกิจกรรมที่จะทำหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลายล็อกทางการเมืองแล้ว
    ขณะเดียวกัน นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ซึ่งมีข่าวว่าจะร่วมสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมานั่งพูดคุยกันที่ร้านกาแฟภายในที่ทำการพรรค โดยนายถาวรกล่าวว่า เรื่องที่มีข่าวว่าสนับสนุน นพ.วรงค์ ให้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ตอนนี้ยังไม่ขอพูดอะไร แต่จะขอชี้แจงเรื่องนี้หลังจาก คสช.คลายล็อกแล้ว และเมื่อนายอภิสิทธิ์ลั่นระฆังประกาศนับหนึ่งให้เริ่มมีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ เพราะหากพูดอะไรในตอนนี้ เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีเสียงเรียกร้องให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ส่วนตัวได้ช่วยพรรคอยู่แล้วในฐานะที่ปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นงานทั้งในพรรคและนอกพรรค ซึ่งตัวนายอภิสิทธิ์เองก็ทำงานไม่มีปัญหาอะไร และไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค ตนพร้อมจะช่วยงานเสมอ จึงขอยืนยันว่า ส่วนตัวจะไม่ลงเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง 
    อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์มีจุดเด่นคือ การกรองคนขึ้นมา เวลาใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้ขึ้นมาง่ายๆ แต่ต้องผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นคนจริง แม้ในยามลำบาก เช่น พร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคได้ ไม่ว่าพรรคจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน สมาชิกถึงจะยอมรับได้ ทั้งนี้ ตนยังใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้สมาชิกพรรคยอมรับ ดังนั้น นี่คือวิธีการที่ดีในการคัดคนเก่งเข้ามาแข่งขัน จึงขอให้อย่ามองกระแสข่าวเหล่านี้เป็นเพียงทางลบ แต่ขอให้มองว่านี่คือจุดแข็งของพรรค ที่จะไม่ทำให้พรรคเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง
    นายชวนกล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่าพรรคอื่นพรรคไหนจะทำได้เท่าพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนรายชื่อผู้สมัครหัวหน้าพรรคที่ปรากฏตามข่าวนั้น แม้ว่าจะมีกระแสข่าวถึงการได้รับการสนับสนุนจาก คสช.หรือกลุ่ม กปปส.บ้าง เป็นเพียงแค่ข่าว ซึ่งภายในพรรคยังมีความเป็นปึกแผ่นดี แต่อาจจะมีความแตกต่างทางความคิดกันบ้าง สำหรับคนที่เสนอตัวนั้นไม่ได้เสียหายอะไร และยินดีในการที่จะเข้ามา แม้กระทั่งนายอลงกรณ์ ถือเป็นคนหนึ่งที่ทำงานในพรรคมา และวันหนึ่งอยากจะกลับมาอยู่ในพรรค แต่ส่วนการจะเป็นหัวหน้าได้นั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าจะถูกเลือกเข้ามาหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบว่ามีใครที่จะลงสมัครบ้าง แต่จะสนับสนุนคนดีให้เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ 
     ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้ไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงกรณีที่ตนเองถูกพาดพิงอยู่เบื้องหลังในการผลักดัน นพ.วรงค์ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่า ข่าวนี้มีผลเป็นบวกเป็นลบกับใครหลายคน ทั้งในพรรคประชาธิปัตย์และคนนอกพรรค ดังนั้นจึงขอเรียนถึงข้อเท็จจริงว่า จุดยืนของตนในขณะนี้คือทำการเมืองต้องมีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย และผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น
    โดยเคยพูดกับคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่มาเยี่ยมเยียนตน ไม่ว่าจะเป็นนายอภิสิทธิ์ นพ.วรงค์ ว่าจะต้องทำพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ตนตัดสินใจที่จะร่วมอุดมการณ์กับประชาชนที่เสี่ยงชีวิตในการต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินมาด้วยกัน ร่วมกันจัดตั้งพรรค รปช. และตั้งแต่ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาร่วมต่อสู้กับประชาชนนั้น ได้ประกาศชัดเจนว่าจะไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว ไม่ประสงค์ที่จะไปแย่งชิงตำแหน่งกับใครทั้งสิ้น 
    "แกนนำที่สนิทชิดเชื้อกัน หรือไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นนายถาวร นพ.วรงค์ แต่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยเผยแพร่เรื่องราวการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จนมาสู่การพิจารณาคดี ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ คนเหล่านี้บอกกับผมว่าจะกลับไปอยู่และทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้หมายความผมจะไปมีอำนาจก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในพรรคประชาธิปัตย์" นายสุเทพระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"