“พาณิชย์”เช็กความคืบหน้าอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) พบเหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือน ก่อนจะเริ่มมีผลในวันที่ 29 มี.ค.62 เผยผลตรวจสอบล่าสุดกระทบไทยในวงจำกัด การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ยังไปได้ดี
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงความสถานการณ์ความคืบหน้าการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ว่า เหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือน ที่การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะเริ่มมีผลในวันที่ 29 มี.ค.2562 โดยสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรป และกรอบความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในอนาคต ซึ่งล่าสุดทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงในเนื้อหาได้ประมาณ 80% เช่น การรักษาสิทธิพลเมือง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านภาษี และวิธีคำนวณค่าชดเชยที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้สหภาพยุโรป จึงมีโอกาสสูงที่สองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง Soft Brexit ได้ภายใน 29 มี.ค.2562 และหากเป็นเช่นนั้น จะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้สองฝ่ายปรับตัวอีก 21 เดือน ก่อนการแยกตัวมีผลสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.2564
ทั้งนี้ เพื่อดูแลให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพแก่ประชาชน ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่เอกสาร Brexit with no deal และเอกสารเชิงเทคนิคชุดแรก รวม 25 ฉบับ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนเตรียมตัวสำหรับกรณีที่สองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ โดยเอกสารชุดนี้เป็นการให้คำแนะนำภาคปฏิบัติในด้านต่างๆ และสร้างความมั่นใจว่าภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมสำหรับผลการเจรจา Brexit ทุกรูปแบบ ทั้งในด้านกฎหมาย การเพิ่มจำนวนบุคลากรภาครัฐ การรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และงบประมาณ และรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังให้คำมั่นว่าจะเร่งเจรจาให้ได้ข้อตกลงที่สองฝ่ายยอมรับภายในฤดูใบไม้ร่วง หรือประมาณเดือนต.ค.นี้
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ Brexit จนถึงขณะนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด แม้ว่า Brexit อาจเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ การเกินบัญชีดุลสะพัดสูง และสัดส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งจะทำให้รับมือกับความผันผวนภายนอกได้ แต่พบว่าในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปยังขยายตัวได้ดี
โดยในด้านการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 5.98% และ 8.36% ในปี 2560 และในช่วง 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออกไปสหราชอาณาจักรลดลงเล็กน้อย 1% แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) เพิ่มขึ้น 12.70% สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ยังเติบโตดีทั้งในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และคาดว่าหลัง Brexit จะส่งผลต่อการส่งออกไม่มากนัก และไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหราชอาณาจักรจะมีความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายและเจรจาการค้ามากขึ้น
ในด้านการลงทุน พบว่า ช่วงปี 2556-2560 การลงทุนของสหราชอาณาจักรในไทย และการลงทุนของไทยใน สหราชอาณาจักรและในสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และในด้านการท่องเที่ยว ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปยังเพิ่มขึ้น 6.7%
อย่างไรก็ตาม สนค. จะยังคงติดตามสถานการณ์ Brexit อย่างใกล้ชิด เพื่อหาช่องทางกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทยต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |