หวั่น2พายุใหญ่ ท่วมซ้ำพื้นที่เดิม คุมเข้มน้ำในอ่าง


เพิ่มเพื่อน    

    กรมอุตุฯ เตือนรับมือพายุ "บารีจัต-มังคุด"    ตั้งแต่ 13-18 ก.ย.นี้ ส่งผลฝนตกหนักทั่วประเทศ ทะเลคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กงดออกจากฝั่ง "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" เฝ้าติดตามใกล้ชิด หวั่นทำพื้นที่เดิมท่วมซ้ำ "กรมชลประทาน" คุมเข้มน้ำในอ่างทุกแห่งตลอด 24 ชม. 
    เมื่อวันที่ 12 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 เรื่องพายุ “บารีจัต” (BARIJAT) ระบุว่า พายุโซนร้อนบารีจัต บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะฮ่องกงและเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.2561 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
    อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย.2561 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน และผ่านเกาะฮ่องกง โดยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.2561 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.2561 ไว้ด้วย
    นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศว่า ขณะนี้ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามการเคลื่อนตัวของพายุ 2 ลูก คือมังคุดและบารีจัตอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินพื้นที่ที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุทั้งสองลูก 
    นายสำเริงกล่าวว่า ศูนย์เฉพาะกิจฯ ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลพายุดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายขอบของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก ที่อาจจะได้รับผลกระทบในพื้นที่เดิม รวมถึงเขื่อนต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมหรือเต็มในขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการระบายจากอ่างเก็บเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำซ้ำพื้นที่น้ำท่วมบริเวณเดิม เช่น เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเตรียมแผนรองรับล่วงหน้าด้วย 
    "ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ในการป้องกันสาธารณภัย บรรเทาผลกระทบ และการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้คาดว่าจะส่งผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะช่วยให้ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้ในฤดูแล้งมากขึ้น” ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯกล่าว
    ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาว่า สำหรับเขื่อนภูมิพลไม่มีปัญหา เพราะมีปริมาณน้ำเพียง 62% ของความจุ ยังสามารถรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ แม้จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากถึงระดับ 80% แต่ถ้าดูแนวโน้มปริมาณฝนแล้วเชื่อว่าน่าจะยังพอรับน้ำได้อีก
    “ทุกวันนี้ก็ลดปริมาณการระบายของทั้ง 2 เขื่อนอยู่แล้ว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด แต่หลังจากวันที่ 15 ก.ย.ไปแล้ว หากเป็นไปตามคำคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่าปริมาณฝนจะน้อยลงมาก อาจให้ลดการระบายน้ำลง โดยเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงในเดือน พ.ย.นี้” เลขาฯ สทนช.กล่าว
    ส่วนนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก และเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที 
    "สำหรับเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ นั้น ได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก จำนวน 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนับสนุนอื่นๆ จำนวน 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคตามพื้นที่ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย ตลอดจนให้จัดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง" รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"