โปรดเกล้าฯ กฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. แต่ยังหน่วงเวลาเลือกตั้ง ส.ส.ต้องพ้น 90 วันก่อนบังคับใช้แล้วนับถอยหลังภายใน 150 วัน "วิษณุ" เผย 2 สูตรบวก 60 หรือ 150 วันจัดเลือกตั้ง ชี้คำสั่งคลายล็อกพิจารณาเสร็จแล้ว ส่วนปลดล็อกรออีก 90 วัน ชทพ.จี้เร่งคลายล็อกทันควัน ช้ากระทบเลือกตั้ง "บิ๊กตู่" โอดต้องทนอึดยิ่งกว่ายางมิชลิน แต่สู้ได้ อวย ปธ.เครือซีพีเก่งทำงานดีแต่ไม่เล่นการเมือง "พุทธิพงษ์" รายงานตัวนายกฯ ปัดดีล กปปส. ยันไม่กลับ ปชป.แล้ว "ศรีสุวรรณ" ชี้ตั้งจำเลยคดีกบฏขัดจริยธรรมร้ายแรง
เมื่อวันที่ 12 กันยายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
ทั้งนี้ ในส่วนของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น มีทั้งสิ้น 99 มาตรา โดยมาตรา 2 กำหนดให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีทั้งสิ้น 178 มาตรา ซึ่งมาตรา 2 กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ดังนั้น การกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาของกฎหมายลูก ส.ส.ต่อไป ซึ่งถ้าพิจารณาตามเวลาที่กำหนดแล้ว การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นระหว่างเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ปี 2562
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวาระเริ่มแรกกำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก ส.ว. จำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ โดย ส.ว.จะมีที่มาตามที่มาตรา 90 กำหนด ดังนี้ 1.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว.ด้วยวิธีการเลือกกันเองของผู้สมัครทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ให้ได้จำนวน 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่เลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ คสช.เป็นผู้เลือกให้เหลือ 50 คน
2.ให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จํานวนไม่เกิน 400 คน และเสนอให้ คสช.เลือกให้เหลือ 194 คนเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่า 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. และ 3.ให้ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง รวม 6 คน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการออกคำสั่ง คสช.คลายล็อกพรรคการเมือง หลังร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ ว่า สำหรับกรอบเวลา 90 วัน นับจากวันที่มีการนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทูลเกล้าฯ ถวาย จะครบกำหนดในวันที่ 14 ก.ย.นี้ โดยเริ่มนับจากวันที่สำนักพระราชวังได้รับร่างกฎหมาย ไม่ได้นับจากวันรัฐบาลนำความกราบบังคมทูล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อกฎหมายประกาศแล้วคำสั่งมาตรา 44 คลายล็อกจะประกาศตามมาเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจ คงไม่ทันที แต่ไม่ควรจะต่างกันมาก โดยขณะนี้คำสั่งดังกล่าวพิจารณาเสร็จสิ้นหมดแล้ว
ทั้งนี้ นายวิษณุให้สัมภาษณ์ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ป.ดังกล่าวด้วยว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องทอดเวลาไปอีก 90 วัน ตรงกับเดือน ธ.ค.61 จึงจะมีผลบังคับใช้ การทิ้งเวลาไว้นั้น เพื่อให้ 60 วันแรกสำหรับการที่ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส่วนอีก 30 วันหลังให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. การทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคทำได้ตั้งแต่ช่วง 60 วันแรกที่ กกต.จะไปขอความคิดเห็นจากพรรคต่างๆ ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ชทพ.จี้คลายล็อกทันที
"ดังนั้น คสช.จะคลายล็อกให้บางส่วนหลังจากประกาศกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมาแล้ว เมื่อครบ 90 วันแล้วกฎหมายเริ่มมีผลใช้จริง จะมีการปลดล็อกทั้งหมด ขณะที่การจัดเลือกตั้ง ส.ส.ต้องมีขึ้นภายใน 150 วัน ถ้านับจากกลางเดือน ธ.ค.61 จะไปสิ้นสุดเดือน พ.ค.62 เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง ถ้าใช้วันอาทิตย์เป็นตัวตั้ง และถ้าจะจัดการเลือกตั้งภายในกรอบ 60 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 ซึ่ง กกต.คิดว่าน่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 แต่มีเสียงจากพรรคการเมืองโวยวายว่าแบบนั้นจะทำให้เขามีเวลาหาเสียงเลือกตั้งน้อย"
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าดูจากโรดแมปแล้ว ไม่มีทางที่จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็อาจเปลี่ยนให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางส่วนก่อนได้ ส่วนคนในแม่น้ำ 5 สายไม่สามารถลงรับสมัคร ส.ส.ได้ แต่รับตำแหน่งทางการเมืองได้เป็น ส.ว.ได้ เว้นแต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ห้ามรับตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 ระบุให้ คสช.ต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง ดังนั้นควรเร่งพิจารณาโดยเฉพาะการอนุญาตให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ และหาสมาชิกพรรคได้ เพราะหากทอดเวลาไปจนกว่าที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับช่วงกลางเดือน ธ.ค. อาจทำให้พรรคเตรียมงานไม่ทัน และเกิดฉุกละหุกทางการเมืองได้ ตนไม่กังวลต่อกรอบเวลาหรือระยะเวลาหาเสียงของพรรคการเมือง ตามที่มีข่าวว่าจะให้เวลา 30 วัน เพราะขั้นตอนดังกล่าวพรรคสามารถบริหารจัดการได้
"ที่กังวลคือการทำงานของ กกต. ในฐานะผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในกระบวนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นโยบายของพรรคการเมือง ความถูกต้องของสมาชิกพรรคการเมืองในชั้นสุดท้าย เพราะหาก กกต.มีเวลาทำงานแบบกระชั้นชิด และตรวจสอบไม่รอบคอบ อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ จึงฝากไปถึงนายกฯ ให้พิจารณากรอบการทำงานที่เหมาะสมและทำหน้าที่นั้นให้ดีของ กกต. ด้วย" นายวราวุธกล่าว
วันเดียวกัน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การศึกษากับการเตรียมคนไทยในอนาคต" มีตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมงานอย่างคึกคัก โดยกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำทุกวันนี้คือการบรรเทาความเดือดร้อน เกิดขึ้นมาตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือ 80 ปีที่ผ่านมาของประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้ ช้าเกินไปหรือไม่ เรายังมัวติดกับดักปัญหาความขัดแย้ง ติดกับดักความไม่รู้ เราจึงต้องสร้างความเข้าใจใหม่ทั้งหมด ถ้าเราไม่ขัดแย้งกันทุกวัน ป่านนี้เราเป็นมหาอำนาจแล้ว ซึ่งตนก็กลัวจะเป็นมหาอำนาจความขัดแย้งอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ ประชาธิปไตยอย่างไรก็ต้องเกิดบนโลกใบนี้ มันห้ามกันไม่ได้ กฎหมายกฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญทำให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมาย เว้นแต่พวกผู้มีอิทธิพล พวกแสวงหาผลประโยชน์ ต้องเอาไปติดคุก
"วันนี้ผมถามคุณศุภชัย (นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์) ในฐานะประธานว่าจะลงเล่นการเมืองไหม ท่านปฏิเสธทันทีว่า ไม่เอา แต่ทำไมคนที่ไม่ทำอะไรเลยอยากจะมาเล่นการเมือง ผมไม่เข้าใจ เขาประสบความสำเร็จ แต่ไม่ทนทรมานเหมือนผมทน ถามว่าผมทนไหม ผมทน อึดยิ่งกว่ายางมิชลิน เด้งซ้ายเด้งขวา แต่สู้ได้ ถ้ามีกำลังใจแบบทุกวันนี้ก็สู้ตายไม่กลัว ผมเป็นเพียงผู้นำทาง พวกเราทุกคนเดินไปข้างหน้า มีอุปสรรคอะไรรัฐบาลจะได้แก้ โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน เพราะถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคนทำเพื่อแผ่นดิน"
พุทธิพงษ์ทำงานข้างนายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เวลาตนไปต่างจังหวัดก็ขอความมั่นใจจากประชาชน อย่าทำร้ายประเทศของเราอีกเลย ตนก็สัญญาในใจแล้วว่า จากวันนี้ไปจะไม่ตอบโต้ใครอีกแล้ว แต่ดันอดไม่ได้สักที ความตั้งใจของเราวันนี้ เดี๋ยวโดนอีก นายกฯ หาเสียง สรุปว่านายกฯ ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย ในเมื่อจะเลือกตั้งกัน สมัยก่อนใครพูดโครมๆ ตนก็พูดในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน การติดตามความก้าวหน้า เป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคนไทยทำไม่ง่าย หลายคนมองว่าตนอยู่มา 4 ปีแล้ว ไหนปฏิรูปอะไรบ้าง การปฏิรูปทุกอย่างถ้าไม่แก้ไขกฎหมายก็ไปไม่ได้ทั้งหมด ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่กฎหมายเดิมยังติดตรงนั้นตรงนี้ ทำกฎหมาย 400-500 ฉบับยังไม่จบเลย กฎหมายบ้านเราทั้งหมดมีเกือบแสนฉบับ แต่ทุกคนไปดูรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไปดูอยู่มาตราเดียวนายกฯ เมื่อไหร่จะติดคุก มัวแต่ไปสนใจเรื่องไม่เป็นสาระ
นายกฯ กล่าวด้วยว่า 5 ปี หลังจากการเลือกตั้งครั้งหน้า ประเทศไทยจะแข็งแรงกว่านี้ ถ้าเราทำทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกัน ต้องการเลือกตั้ง อะไรก็ว่ากันไป แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้มันต่อเนื่องได้ ก็ฝากไว้เท่านั้นเอง
ช่วงเช้า เวลา 08.15 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตแกนนำ กปปส. ที่ ครม. มีมติแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เดินทางเข้ารายงานตัว และรับมอบหมายงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 50 นาที ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ ได้มอบหมายงานให้ติดตามผลงานที่รัฐบาลได้ทำไว้แล้ว ซึ่งมีมากพอสมควร จึงอาจจะมีการเพิ่มเติมเรื่องการสื่อสารในบางส่วนว่ารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาอย่างไร ถึงขั้นตอนใด และจะใช้เวลาเท่าใด นอกจากนี้ ยังให้ทำหน้าที่ประสานงานแก้ไขปัญหาการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนในทุกรูปแบบ หากปัญหาใดมีความเร่งด่วนจะสรุปส่งนายกฯ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ทำงานกับท่านโดยตรง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.เป็นต้นไป
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ในการแต่งตั้งครั้งนี้ อย่าเพิ่งมองเป็นเรื่องการเมือง หรือเตรียมการเลือกตั้ง เพราะการเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการเมือง ตนได้พูดคุยกับคนในพรรค ปชป.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนอยู่กับ ปชป.มา 18 ปี มีความผูกพันกันมาก และการมาครั้งนี้ไม่มีปัญหาผิดใจอะไรกัน เอาเรื่องงานเป็นตัวตั้ง ทางพรรคมีความเข้าใจ เพราะเป็นทางที่ตนเลือกแล้ว
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นอดีตแกนนำ กปปส. และมีคดีความ หลายคนมองว่าการมาครั้งนี้เป็นเพราะมีข้อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันหรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ทุกคนสามารถมองได้เช่นนั้น แต่ในเรื่องของคดีความ ทุกอย่างยังเป็นไปตามกระบวนการปกติ ตนได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ศาลชั้นต้นได้นัดตรวจสอบพยานปีหน้า ไม่มีเรื่องใดที่จะมาทำให้ตนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วันนี้ยังถือว่าตนบริสุทธิ์ จึงไม่มีความกังวล ยืนยันว่าเจตนารมณ์และอุดมการณ์ที่เราต้องการปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ขัดกับสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำ เพราะเรามีความตั้งใจเหมือนกัน
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การรับตำแหน่งครั้งนี้ ไม่มีเงื่อนไขผูกติดอะไรกับการที่พวกเราเป็น กปปส. ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส. ก็ไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งไม่มีชื่อพวกตนการมาครั้งนี้ ไม่ได้ปรึกษานายสุเทพ โดยมีบุคลากรของรัฐบาลเป็นผู้ติดต่อมา จึงใช้เวลาพิจารณาอยู่สักเวลาหนึ่ง ตนเข้าใจมารยาททางการเมืองดี หากจะต้องกลับไปที่ ปชป.เพื่อลง ส.ส.เขต ตอนเดินลงพื้นที่หาเสียงคงไม่เหมาะสม เพราะตนมีตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯด้วย จึงคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่กลับไปสมัคร ส.ส.เขตกับ ปชป. ส่วนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ขอให้เป็นเรื่องของอนาคต เพราะยังไม่เริ่มทำงานกับรัฐบาลเลย ขอให้ดูตามเนื้องานและความสัมพันธ์ที่ดี หากสามารถพัฒนาแก้ไขปัญหาของประชาชนได้จริง ทำงานด้วยกันอย่างเต็มกำลัง ถึงค่อยมาตัดสินใจในอนาคต
ชี้ตั้งจำเลยกบฏขัดจริยธรรม
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวกรณีที่ ครม.มีมติแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ว่า ตนไม่ได้เป็นคนตั้ง ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตในทางการเมืองว่าเป็นการนำอดีตแกนนำกลุ่มการเมืองมาร่วมรัฐบาลนั้น ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนจะตั้งใครเพิ่มตนไม่เกี่ยว และก็ไม่เกี่ยวกับพลังดูดอะไร
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า งานของนายพุทธิพงษ์เกี่ยวข้องกับตน 2 ส่วน คือ ประสานงาน สนช. กับเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากเคยเป็นอดีต ส.ส.มาก่อน จะช่วยเรื่องพวกนี้ได้ ขณะนี้รอให้มีคำสั่งเรื่องมอบหมายงานจากนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้หารือกัน ส่วนเหตุใดนายกฯ จึงเรียกคนมาใช้งานในช่วงปลายรัฐบาลตนไม่ทราบ ต้องถามนายกฯ แต่คิดว่าช่วงนี้งานมันมากขึ้น จึงอยากดึงใครมาช่วย
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในเรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งผู้ต้องหาในคดีอาญามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณี ครม.มีมติแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสองบัญญัติ เนื่องจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลในคดีกบฏ ร่วมกับแกนนำ กปปส.อื่นอีกกว่า 30 ราย ซึ่งมีอัตราโทษที่สูง นอกจากนั้นยังขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักที่กำหนดอยู่ในข้อ 19 แห่งมาตรฐานทางจริยธรรมองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ที่ถูกนำมาใช้กับ ครม.ด้วย จึงขอให้ทบทวนการแต่งตั้งรองเลขาธิการนายกฯ และนักการเมืองอื่นๆ ด้วย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามว่า เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนเหมือนกับการแต่งตั้งนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม.ปชป. แกนนำกปปส. ให้ไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ การแต่งตั้งแกนนำม็อบชัตดาวน์ประเทศยังทำมาแล้วหรือไม่ ถือเป็นเหมาะสมและส่งเสริมบรรยากาศการสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างไร ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อคนที่มีคดีความก่อนหน้านี้ คือกลุ่มคนที่สร้างปัญหาก่อความวุ่นวายให้กับประเทศ แต่กลับแต่งตั้งเอาคนที่มีคดีอุกฉกรรจ์ ทั้งอั้งยี่ กบฏ ก่อการร้าย เข้ามาทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ท่องคาถามาตลอดว่า ถ้าไม่สงบ ไม่เลือกตั้ง แต่รัฐบาล คสช.กลับประกาศแต่งตั้งคนที่เกี่ยวข้องกับการนำม็อบก่อจลาจลล้มและขัดขวางการเลือกตั้งมาเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ประชาชนนึกไม่ออกว่าจะเป็นการส่งสัญญาณและสนับสนุนให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้อย่างไร
แจ็คโต้อลงกรณ์มโน
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชป. กล่าวถึงกรณีผู้มีอำนาจส่งนอมินียึดเก้าอี้หัวหน้าปชป.ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่น่ารัก การที่ท่านบอกว่า คสช.ไม่ได้ส่งนายอลงกรณ์ พลบุตร มาเป็นหัวหน้า ปชป.นั้น พล.อ.ประวิตรพูดถูกต้องแล้ว เพราะตนไม่ได้เอ่ยชื่อนายอลงกรณ์เลย นายอลงกรณ์ไปทึกทักเองว่าหมายถึงตนเอง นักการเมืองที่รับงานจากคสช.นั้นมีมากจริงๆ ใครเป็นใครก็คงเห็นกันในไม่ช้า
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้า ปชป. ดูแลภาคกลาง กล่าวว่า เรื่องใครจะมายึดพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ เป็นเรื่องส่วนตัวที่จะคิดระแวงได้ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าถ้าเขาเข้ามาปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค และตามกฎหมายแล้วเขาชนะ ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคได้ตามกฎหมาย และข้อบังคับที่ให้มีการหยั่งเสียงและลงมติของที่ประชุมใหญ่พรรค
ส่วนนายอลงกรณ์กล่าวว่า ตนพร้อมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ของผู้ที่จะเสนอตัวเป็นผู้สมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค แต่ขอให้คำนึงหลักการเปิดกว้าง อย่ากำหนดกติกาสูงจนทำให้เจตนาหลักต้องเสียไป และอาจถูกมองว่าเป็นการกีดกันไม่เปิดกว้างจริง ตนยังต้องการคำยืนยันกฎเหล็ก 5 ข้อ ซึ่งเป็นหัวใจของพรรคการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคจะออกมายืนยันกฎเหล็ก 5 ข้อ ก็เสมือนเป็นตัวแทนคณะกรรมการบริหารทั้งหมด และจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นฟ้องคดีอาญานายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ในข้อหาหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน จากกรณีที่นายสุภรณ์ได้นำชาวบ้าน อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา กว่า 40 คน เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของนายพรชัย อำนวยทรัพย์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง ว่า นายพรชัยได้ร่วมมือกับเสี่ยเจ้าของโรงงานแป้งมันในพื้นที่ อ.เสิงสาง จ้าง อสม.และผู้นำชุมชนในพื้นที่ออกล่าเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้าน เพื่อมาเตรียมที่จะให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเตรียมซื้อเสียงล่วงหน้า ผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง ผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และขัดคำสั่ง คสช. เรื่องดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว คงไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรอีก ส่วนนายสุภรณ์จะกล่าวหาอย่างไร จะตอบโต้อย่างไร ก็ไปว่ากันในชั้นศาล ทั้งนี้ ศาลนัดไกล่เกลี่ยวันที่ 6 พ.ย. และไต่สวนมูลฟ้อง 19 พ.ย.นี้
ที่สำนักงาน กกต. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนายวรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรค, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายมุข สุไลมาน เข้ายื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต. โดยมั่นใจว่าจะได้ ส.ส.หลังการเลือกตั้ง 20 คนบวกลบ และเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |