หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของโลกคงเป็นภาคของธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากในเชิงมูลค่าแล้วน่าจะอยู่ที่ 31% ของมูลค่าดีจีพีโลก จากการศึกษา Global Power of Retailing 2018 Deloitte Touche Tohmatsu จะเห็นได้ว่า ในปี 2559 มีรายได้ 19.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าน่าจะมีรายได้ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 หรือเป็นการเติบโตเฉลี่ย 3.8% โดยค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต ยังครองสัดส่วน 35% ของค้าปลีกโดยรวม โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในฝั่งทวีปอเมริกาและยุโรป ขณะที่ประเทศจีนเป็นผู้นำในฝั่งเอเชียแปซิฟิก และความร้อนแรงของดิจิทัลยังทำให้ค้าปลีกออนไลน์เติบโต 23% ในช่วงปี 2555-2562 คาดการณ์กันว่าค้าปลีกออนไลน์น่าจะมีสัดส่วน 12% ของภาพรวมค้าปลีกอีกด้วย
ขยับเข้ามากับค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียนกันบ้าง ต้องบอกว่าตอนนี้หากนับรวม 10 ประเทศรวมกันแล้ว น่าจะมากถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการบริโภคค้าปลีกไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากมาดูค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2554-2561 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 12.7% ตามด้วยประเทศอินโดนีเซีย 9.4% ประเทศมาเลเซีย 9.2% และประเทศฟิลิปปินส์ 8.2% ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยเติบโตเฉลี่ย 3.9%
หลายประเทศในอาเซียนกระตุ้นการค้าปลีกภายในประเทศของตนเองผ่านภาคการท่องเที่ยว ซึ่งก็คงไม่แตกต่างอะไรจากเมืองไทย ที่พยายามหาทางโปรโมตให้นักเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยนานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น อย่างในประเทศมาเลเซียจะมีการโปรโมตผ่าน “Truly Asia” ประเทศอินโดนีเซีย “Wonderful Indonesia” ประเทศฟิลิปปินส์ “It’s more fun the Philippines” ประเทศเวียดนาม “Vietnam Timeless Charm” และประเทศไทย “Amazing Thailand”
กลับมาดูสถานการณ์ของไทยกันบ้างดีกว่าว่า ในตอนนี้ธุรกิจค้าปลีกแต่ละประเภทมีแนวโน้มอย่างไร หากคิดเป็นเงินไทยการบริโภคค้าปลีกจะมีมูลค่าราว 3.6 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยโครงสร้างที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เคยกล่าวถึงบ่อยๆ ก็คงแบ่งเป็น 3 แถวด้วยกัน
โดยแถวหนึ่งจะเป็นโมเดิร์นเชนสโตร์ยอดขาย 32% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง โดยค้าปลีกดังกล่าวจะมุ่งเน้นการขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน CMLV เป็นหลัก การขยายสาขาในประเทศคงไม่มุ่งเน้นเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลที่มุ่งเน้นไปลงทุ่นในเวียดนาม, โฮมโปรก็ขยายสาขาถึง 6 สาขาในประเทศมาเลเซีย, อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ก็ไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งบิ๊กซีของกลุ่มบีเจซี ก็เตรียมเปิดในประเทศลาวและเวียดนาม และแม็คโครก็ขยายไปประเทศกัมพูชา จะเห็นได้ว่ามีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในค้าปลีกแถวหนึ่ง เรียกว่าต้องมีเงินเยอะๆ ถึงจะขยายได้นั่นเอง
สำหรับค้าปลีกแถวสองที่กำลังพัฒนาในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้นำค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดตัวเองเป็นหลัก ที่มีการขยายสาขา และมียอดขายต่อบริษัทระหว่าง 1,000- 5,000 ล้านบาทต่อปี หลายคนคงคุ้นหูกับทางตั้งหงี่สุ่น จ.อุดรธานี, ยงสงวน จ.อุบลราชธานี, ธนพิริยะ จ.เชียงราย, เซนโทซา จ.ขอนแก่น, สล โฮลเซล จ.สกลนคร, ร้อยเอ็ดไฮเปอร์มาร์ท, ซุปเปอร์ชีพ ภูเก็ต, สหไทย นครศรีธรรมราช, ห้างทวีกิจ บุรีรัมย์, ห้างมาร์เธ่อร์ ในกระบี่ เป็นต้น
ส่วนแถวที่สามมีสัดส่วนราว 53-55% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกค้าส่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าอิสระขนาดเล็ก ถ้าจะมีสาขาก็ไม่เกิน 2-3 สาขา ที่เราเรียกกันว่าร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ที่เคยกังวลกันว่าจะล้มหายตายจากไป แต่ตอนนี้ในตลาดยังมีจำนวนเยอะอยู่พอสมควร หรือน่าจะมีราว 2.5-3.0 แสนร้านค้า
ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกทั้ง 3 แถวที่ยังดำรงอยู่ในตลาด ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับคู่แข่ง และแข่งกับเทคโนโลยี เพราะหลายครั้งที่พบว่าการเข้ามาของร้านออนไลน์ ที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีสต๊อก สามารถเข้าหาลูกค้าได้ทั่วทุกสารทิศ มีความคล่องตัวมากกว่าออฟไลน์ อาจสร้างปัญหากับผู้ประกอบการได้ในอนาคต ต้องไม่ทำให้ปมปัญหามีขนาดใหญ่มากจนแก้ไม่ถูกทาง รายไหนยังไม่ปรับตัวก็ต้องเริ่มก่อนจะสายไป หากมีร้านแบบออฟไลน์ ก็ต้องมีออนไลน์เข้ามาเสริม ขณะที่คนทำออนไลน์เองอีกหน่อยก็ต้องมีหน้าร้านเข้ามาเติมเต็มด้วยเช่นกัน ทั้งหมดคือสถานการณ์ค้าปลีกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |