7 องค์กรร่วมจัดประกวดรางวัล ‘ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’ ครั้งที่ 4 เฟ้นหาสุดยอดกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ 10 ประเภท


เพิ่มเพื่อน    

ม.ธรรมศาสตร์ / 7 องค์กรร่วมจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ครั้งที่ 4  ตามแนวคิดของ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์   โดยจะเปิดรับสมัครองค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อเฟ้นหาสุดยอดกองทุนฯ ที่มีผลงานการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีเด่น 10 ประเภท  เปิดรับสมัครถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้  มอบรางวัลเดือนมีนาคม  2562  ขณะที่เกิดกองทุนสวัสดิการฯ ทั่วประเทศแล้ว  5,979  กองทุน  มีสมาชิกกว่า 5.3 ล้านคน  เงินกองทุนรวมกันทั้งหมด  14,800 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกแล้ว 1.8 ล้านราย  รวมเงินช่วยเหลือกว่า 2,200 ล้านบาท

 

วันนี้ (12 กันยายน) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์  มีการแถลงข่าว “โครงการประกวดรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน : ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ”  ประจำปี 2562  ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  โดยมี ม.ร.ว.ปรีดียาธร  เทวกุล   ประธานสถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์  นายสมพร  ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   และผู้แทนองค์กรที่ร่วมจัด  คือ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์   ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  เข้าร่วมแถลงข่าวประมาณ 50 คน

 

ม.ร.ว.ปรีดียาธร  เทวกุล   ประธานสถาบันป๋วยฯ กล่าวว่า   การจัดประกวดรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน :   ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ  ประจำปี 2562   เป็นการจัดประกวดปีที่  4   โดยจะเปิดรับสมัครองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน  ตามแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  มาพิจารณาร่วมกับลักษณะของระบบสวัสดิการชุมชน   โดยกำหนดประเภทของรางวัลในปีนี้  จำนวน  10  ประเภท  คือ

1.ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) ให้มีคุณภาพชีวิต และคุณค่าในสังคม 2.ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษา ดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน  3.ด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและการเรียนรู้  เพื่อการเติบโตเป็นคนดี และมีคุณภาพ 4.ด้านการพัฒนาอาชีพ ทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่มและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน  5. ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การอนุรักษ์พลังงาน  การจัดการขยะการจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ

6.ด้านการจัดการ  จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยพอเพียงต่อการดำรงชีพ  

7.การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ  8. ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดี และมีธรรมาภิบาล 9.ด้านผลงานการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม หลายมิติ สามารถเชื่อมโยง/บูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแหล่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ   และ 10. ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่ม และภาคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น  และสังคม

 

ทั้งนี้องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่สนใจจะสมัคร  สามารถขอรับเอกสารและสมัครได้ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัด   เครือข่ายองค์กรชุมชน  หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  องค์กรปกครองท้องถิ่น  ในจังหวัดนั้นๆ  ตั้งแต่วันที่ 12  กันยายน – 31  ตุลาคม  2561  หลังจากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณากลั่นกรองทั้งในระดับจังหวัด  ระดับภาค  และระดับประเทศ  เพื่อเฟ้นหาองค์กร/กองทุนฯ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่รางวัลในประเภทต่างๆ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2562  และจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 9 มีนาคม  2562   ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้กองทุนที่สนใจจะสมัครประกวดรางวัลดังกล่าว  สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.codi.or.th สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  และ www.psds.tu.ac.th วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร

 

ม.ร.ว.ปรีดียาธรกล่าวด้วยว่า  การจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นนี้  เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2558   และจะจัดขึ้นทุกปี  โดยในปีนี้ถือเป็นปีที่ 4  มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1. ยกย่อง  เชิดชู  องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ  ดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่  จังหวัด  ภาค  และประเทศ  และขยายผลกองทุนฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล  ภาคเอกชน  และสังคม  ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  และนำไปสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงและเหมาะสมต่อไป

 

นอกจากนี้ในงานแถลงข่าวดังกล่าว  ยังมีพิธีลงนามความบันทึกความร่วมมือการส่งเสริมการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน   และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  โดยมีผู้แทนองค์กรทั้ง 4 ร่วมลงนาม

การลงนามบันทึกความร่วมมือ 4 องค์กรเพื่อพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน

 

ส่วนแนวคิด “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  เป็นบทความภาษาอังกฤษขนาด 2 หน้า  ที่ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนตุลาคม  2516  หลังจากนั้นจึงได้มีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐ   ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา  จนกระทั่งเสียชีวิต 

อ.ป๋วยเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม  2459  เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2502-2514)  และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2517-2519) ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์  สมถะ  มีผลงานด้านการบริหารที่โดดเด่นหลายด้าน  ทั้งด้านการเงิน  การคลัง  งานวิชาการ  ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะในปี 2508   เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย  รวมทั้งโครงการพัฒนาชนบทอื่นๆ  อ.ป๋วยเสียชีวิตเมื่อ 28 กรกฎาคม  2542   รวมอายุได้ 83 ปี  

แม้ว่า อ.ป๋วยจะเสียชีวิตไปแล้ว  แต่แนวคิดเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน  โดยเฉพาะประชาชนคนยากจนที่ไม่มีระบบสวัสดิการของรัฐมารองรับ  ได้ถูกนำมาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการอย่างเป็นระบบในปี 2547  ในชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ  โดยมีหลักการให้สมาชิกสมทบอย่างน้อยวันละ 1 บาท  รัฐร่วมสมทบ  1 บาท  และองค์กรปกครองท้องถิ่น สมทบ 1 บาท  แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก 

 

กองทุนสวัสดิการเยี่ยมผู้ป่วย

 

                      เช่น  คลอดบุตร  500  บาท,  เจ็บป่วยช่วยค่ารถหรือรักษาพยาบาลครั้งละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 วัน,  กรณีเสียชีวิต  เป็นสมาชิกครบ  6 เดือนช่วย 3,000 บาท   ครบ 1 ปีช่วย  5,000 บาท  และครบ 3 ปีช่วย  10,000  บาท   นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยคนพิการ  ยากไร้  ฯลฯ  บางกองทุนช่วยเหลือเรื่องอาชีพ  ที่ดินทำกิน  แก้ปัญหนี้สินให้สมาชิก  และยังขยายไปทำเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ  การอนุรักษ์พลังงาน  การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม  การดูแลสุขภาพ  เพื่อให้สมาชิกและชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

                      นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เมืองไปแล้ว 5,979 กองทุน  สมาชิกกองทุนรวมทั้งหมด 5,313,977 ราย  จำนวนเงินกองทุนสวัสดิการรวม 14,800 ล้านบาทเศษ  แยกเป็นเงินสมทบจากสมาชิกประมาณ 9,920ล้านบาทเศษ (ร้อยละ 66.88) เงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 942 ล้านบาทเศษ  (ร้อยละ 6.35) เงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. รวม  2,590 ล้านบาทเศษ  (ร้อยละ 17.46) เงินสมทบจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รวม 341 ล้านบาทเศษ (ร้อยละ 2.30)  นอกจากนั้นเป็นเงินจากแหล่งอื่นๆ เช่น ภาคเอกชน  เงินบริจาค  รวม 1,038 ล้านบาทเศษ  (ร้อยละ 7)

                      สมาชิกกองทุนส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานประมาณ  2.7  ล้านราย  ผู้สูงอายุ 1.6  ล้านราย  เด็ก 7.6  แสนราย   ผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการ  และอื่นๆ 2.1 แสนราย  มีผู้ได้รับสวัสดิการโดยตรงประมาณ 1.8  ล้านราย  เงินจ่ายสวัสดิการรวม 2,263 ล้านบาทเศษ   โดยจ่ายสวัสดิการเสียชีวิตมากที่สุดรวม 1,224  ล้านบาท (ร้อยละ 52) จำนวนผู้เสียชีวิต รวม140,222  ราย

                      “ส่วนในปีงบประมาณ 2562  รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 461 ล้านบาท  เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศจำนวน 1,700  กองทุน  โดยมีสมาชิกที่จะได้รับผลประโยชน์จำนวน  1,150,000 คน”  นายสมชาติกล่าว

                     

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"