สืบร่องรอยประวัติศาสตร์จาก'ปืนใหญ่โบราณ'


เพิ่มเพื่อน    

ปืนใหญ่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จัดแสดงที่พิพิธภัณฑฯ พระนคร รูปลักษณะใกล้เคียงปืนใหญ่ที่พบล่าสุด

 

     " ตำแหน่งที่พบปืนใหญ่ในสนามหลวงล่าสุด สันนิษฐานว่าเป็นปืนใหญ่ประจำป้อมไพฑูรย์ 1 ใน 9 ป้อมปราการที่มีอยู่รอบวังหน้า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1  เพราะจากคำให้การผู้พบปืนไม่ได้ตั้งบนพื้นดิน จะมีชั้นอิฐเรียงตัวเป็นแนวยาว แต่ถูกรื้อไปหมดแล้ว ซึ่งจากการสำรวจวังหน้าด้วยเทคนิคเรดาร์ยังฟ้องมีหลักฐานใต้ดินหลงเหลืออีกมากมาย โดยเฉพาะสนามหลวง ทิศเหนือ มีทั้งปืนใหญ่ ลูกปืน โรงปืน เพราะกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงเป็นแม่ทัพ มีไพร่พลและสรรพาวุธมากมาย สนามหลวงที่เราเห็นชินตาก็เป็นพื้นที่ของวังหน้าเช่นกัน" นางมนต์จันทร์ วงศ์จตุรภัทร ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร ถอดรหัสปืนใหญ่โบราณผ่านวงเสวนาเรื่อง ปืนใหญ่ในสยาม จากการพบปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันก่อน   

      ปืนใหญ่โบราณเป็นหนึ่งในร่องรอยวังหน้าที่รุ่งเรืองในอดีต ซึ่งการสืบสานเรื่องราวจากงานโบราณคดีนั้นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นางมนต์จันทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จัดการและวิเคราะห์ (GIS) พร้อมทั้งแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่วังหน้าเป็นลักษณะภาพซ้อน โดยเริ่มทำปี 2554 เห็นความเปลี่ยนแปลงของวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีสิ่งหายไปและเพิ่มขึ้นมา จากนั้นได้นำผังวังหน้าที่สำรวจล่าสุดปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีขอบเขตชัดเจน แบ่งเป็นชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ซ้อนกับภาพถ่ายดาวเทียม พบว่ามีอาคารจำนวนมากในสนามหลวง โรงปืน ป้อมต่างๆ นี่คือแนวทางทำงานโบราณคดี แต่ยังไม่เพียงพอ ได้ทำงานคู่ขนานกับโครงการสำรวจวังหน้าด้วยเครื่องมือธรณีฟิสิกส์ ด้วยวิธีเทคนิคเรดาร์หยั่งความลึก (GPR) โดย ดร.กฤษณ์ วังอินทร์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยวิเคราะห์ ตีความ พบโครงสร้างโบราณคดีใต้ดินบริเวณสนามหลวง ด้านทิศเหนือ 

      "เทคนิค GPR ยิงเรดาร์หยั่งความลึกใต้ดิน เมื่อพบสิ่งแปลกปลอมจะสะท้อนคลื่นขึ้นมา เมื่อรับสัญญาณแล้วจะตีความ ผู้เชี่ยวชาญจะแปลความหมาย จุดใดควรขุดค้นเพื่อศึกษา การทำ GPR เข้ามาทำงานโบราณคดีวังหน้า ถือเป็นงานแรกๆ ของประเทศไทย เดิมใช้สำรวจแหล่งหม้อสามขาที่พบในภาคใต้ จากประสบการณ์ตรวจซ้ำและเปิดพื้นที่ ผลตรงกับ GPR เช่น การขุดค้นบริเวณสนามหญ้าโรงราชรถ พิพิธภัณฑฯ พระนคร เป็นพื้นที่เดิมวังหน้า พบอาคารโรงทหาร โรงปืน เจอหลุมขยะที่ฝังปืนใหญ่ เข้าใจว่าเป็นปืนปลดระวางมีหลายแบบ คาดว่าจะปืนหลังช้าง ปืนเรือ ปืนรักษาศาสนาก็นำมาขึ้นมาดำเนินการอนุรักษ์" นางมนต์จันทร์ กล่าว

 

ภาพซ้อนแสดงร่องรอยประวัติศาสตร์ในพื้นที่วังหน้า

     

     ไม่เพียงเท่านั้น แต่สนามหลวง หากย้อนกลับไปก็เป็นพื้นที่วังหน้าเช่นกัน ผอ.กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถานกล่าวว่า สนามหลวงขุดลึกประมาณ 50 เซนติเมตรก็เจอแล้ว ถ้าขุดลึก 1-1.30 เมตร พบฐานรากแน่นอน กรณีปืนใหญ่ที่พบใหม่ พบระหว่างขุดวางท่อลึก 1 เมตร แต่ที่ผ่านมาสนามหลวงไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ มีเพียงกิจกรรมเล็กๆ หรือแม้แต่การสร้างพระเมรุและพระเมรุมาศโครงสร้างทางวิศวกรรมไม่ได้ลงลึก จึงไม่กระทบต่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่ใต้ดิน ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

      ต่อข้อถามจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องขุดปืนใหญ่ที่เหลือซึ่งถูกฝังดินเป็นร้อยปีขึ้นมา นางมนต์จันทร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มีคนถามทำไมไม่เอาขึ้นให้หมด ถ้ามองในงานโบราณคดีอันนี้เป็นอันตราย วัตถุอยู่ใต้ดินช่วยอนุรักษ์ทางหนึ่ง เพราะใต้ดินอุณหภูมิคงที่ ไม่ถูกรบกวน ถ้าเปิดออกมาเจอสภาพอากาศ อุณหภูมิ สนิมกัดกร่อนพังหมด ทำลายวัตถุโบราณ หากจะนำขึ้นมาต้องมั่นใจก่อนว่าพร้อมดูแลรักษาและวางแผนอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาต่อไป อนาคตจะนำขึ้นมาหรือไม่ ตอบไม่ได้

 

นิตยา กนกมงคล ผอ.พิพิธภัณฑฯ พระนคร อธิบายขั้นตอนอนุรักษ์ปืนใหญ่โบราณที่พบ

 

      ปืนใหญ่โบราณไม่ได้ฝังอยู่พื้นที่วังหน้าเดิมเท่านั้น ข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็พบร่องรอยปืนใหญ่อยู่รอบๆ ฝั่งธนฯ พล.ร.ต.ดร.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ ร่วมวงเสวนาด้วย กล่าวว่า ร่องรอยประวัติศาสตร์ผ่านปืนใหญ่โบราณ พบมากบริเวณพระราชวังเดิม และกรมอู่ทหารเรือในปัจจุบัน ปืนใหญ่กระบอกล่าสุดพบเมื่อปี 2560 น้ำหนักประมาณ 5 ตัน เป็นปืนใหญ่ที่หล่อจากอังกฤษ พบตราสัญลักษณ์รูปมงกุฎของอังกฤษ คาดว่าเป็นปืนประจำเรือรบโบราณ ฝังดินมากกว่าร้อยปี เป็นอาวุธใช้ปกป้องบ้านเมืองจากการรุกรานของพม่าสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ก็มีหลายประเด็นที่ควรศึกษาในเบื้องลึก ปืนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่กองทัพเรือดูแลอยู่ยังมีที่ค่ายเนินวง จ.จันทบุรี เป็นแหล่งชุมชนปืนโบราณนับ 100 กระบอก เป็นปืนเหล็ก นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญสมัย ร.3 ที่มีภัยคุกคามตะวันตก 

      "การพบปืนใหญ่ที่ฝั่งธนฯ และสนามหลวงยังต้องสืบค้นความเป็นมาให้ชัดเจน จะทำให้เกิดการร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทย สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ไม่ควรทิ้ง อีกประเด็นที่อยากฝาก ไทยสืบสานองค์ความรู้ด้านโลหะมานับพันปีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อยุธยา สมัยสุโขทัยก็มีการถลุงเหล็กส่งออก กรณีปืนใหญ่สนามหลวงกระบอกล่าสุดซึ่งไม่มีตราสัญลักษณ์ แต่รูปลักษณะเหมือนอังกฤษแบบบลอมฟีลด์ อาจจะผลิตที่อังกฤษ หรือเป็นปืนที่คนไทยหล่อขึ้นใช้เองก็ได้" เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กล่าวทิ้งท้ายให้ศึกษาต่อยอดร่องรอยประวัติศาสตร์จากกระบอกปืนใหญ่ต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"