"ค้นหาตนเอง"ผ่าน"ศิลปะอินเตอร์แรคทีฟ"


เพิ่มเพื่อน    

 

     มีคนเคยบอกไว้ว่า ก่อนที่เราจะค้นหาตนเองจะต้องรู้จักตนเองเสียก่อน เพราะเมื่อรู้จักตนเองแล้วถึงจะรู้ว่าเราต้องการอะไร อยากจะเป็นแบบไหน เดินบนเส้นทางใดโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หรือเสียเวลากับสิ่งที่ไม่ใช่ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักตนเอง ถ้ามีโอกาสผ่านมาแถวย่านสยาม ศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจการค้าและไลฟ์สไตล์ของกรุงเทพมหานครในช่วงนี้ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิ เอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม กำลังมีกิจกรรม “Siam Discovery Self Discover” (สยามดิสคัฟเวอรี่ เซลฟ์ดิสคัฟเวอร์) ชวนทุกคนมาร่วมค้นหาตนเองผ่านงานศิลปะสมัยใหม่หลากหลายแบบ 
    อุสรา ยงปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ สยามดิสคัฟเวอรี่จัดกิจกรรมในธีมค้นหาและรู้จักตนเอง ซึ่งเชื่อว่าการอยากรู้ตนเองคือสิ่งที่ดี แต่การค้นหาตัวตนของตนเองสำคัญกว่า แล้วสำคัญกับเด็กสมัยนี้ด้วย ที่ควรจะลองหาตนเองให้เจอว่าต้องการที่จะเป็นแบบไหนในอนาคต ซึ่งได้นำเสนอกิจกรรมผ่านงานศิลปะสมัยใหม่ที่ผสมผสานศาสตร์แห่งจิตวิทยาเข้ามาด้วย เป็นศิลปะแบบอินเตอร์แรคทีฟให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมง่ายๆ ไม่ใช่แค่ชมอย่างเดียว โดยแต่ละกิจกรรมนั้นจะค้นพบตนเองได้จากความสนใจเบื้องลึกของแต่ละคน และเมื่อทุกคนเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนแล้ว เชื่อว่าจะสามารถค้นหาสิ่งที่ตอบสนองความต้องการส่วนลึกได้
    สำหรับบรรยากาศของโซนกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนแรก Mirror and Self : Look to Discover อยู่ที่ชั้น G สยามดิสคัฟเวอรี่ ในโซนนี้จัดแสดงกระจก 9 แบบ ทั้งกระจกแตกมีรอยร้าว กระจกที่มีรูปทรงประหลาด หรือกระจกที่มีสีสัน ที่ทำให้ผู้ส่องได้สะท้อนตัวตน 9 แบบแตกต่างกันออกไป 9 มุมมอง 
    "โซนนี้นอกจากจะให้ผู้เล่นได้สะท้อนความเป็นตนเองแล้ว ยังบ่งบอกถึงมุมมองของตัวเราในสายตาของผู้อื่น ที่อาจมองตัวเราได้แตกต่างกันออกไปตามแต่แง่มุมที่เขาต้องการมอง หรือสะท้อนผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่แต่ละคนอาจได้รับองค์ประกอบในการมองต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม จะมีเพียงเราเท่านั้นที่จะรู้จักตัวเราเองมากที่สุด" อุสราอธิบาย

 


    ส่วนโซนที่สอง The David’s : Answer to Discover มีรูปปั้นประติมากรรมหินอ่อนอันโด่งดัง อย่างเดวิด เรียงรายอยู่ที่ชั้นสอง โดยรูปปั้นเดวิดที่นำมาจัดแสดงจะมีคำถามให้ตอบ เช่น คำถามที่ว่า คิดว่าปัญหาอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่ของตนเอง ซึ่งบางคนอาจจะเขียนว่าเรื่องเงิน เรื่องความรัก หรือเรื่องการงานก็ตาม หรือจะเป็นคำถามที่ว่า คุณคิดอย่างไรกับความรัก ซึ่งต้องใช้สติกเกอร์เป็นเครื่องมือเขียนคำตอบ แล้วมาดูว่านอกจากตัวเราที่มีคำตอบตามแง่มุมต่างๆ แล้ว ยังมีใครอีกกี่คนที่มีแนวคิดและมุมมองเช่นเดียวกับเรา และยังสะท้อนถึงความคิดของเราว่าสอดคล้องหรือทวนกระแส
    ส่วนโซนที่สาม Who exactly are you? : Explore to Discover ตั้งอยู่บริเวณชั้น M ใกล้ประตูทางเชื่อมวันสยาม เป็นโซนให้ออกแบบตัวตนของตนเองผ่านการเลือกตอบคำถามเชิงจิตวิทยาในแบบอินเตอร์แรคทีฟ เพียงไม่กี่คำถาม จอ LED จะประมวลผลที่สะท้อนความเป็นตัวตนจากคำตอบที่เลือก ซึ่งกิจกรรมนี้ยังช่วยแนะนำสไตล์การแต่งกาย และแนะนำไอเทมเด็ดเป็นแนวในการช็อปปิ้งด้วย
  

 

      และโซนสุดท้าย Eyes : Look to Discover” ที่ชั้น 4 Ecotopia (อีโคโตเปีย) นายอุสราอธิบายโซนนี้ว่า ทุกคนเคยมองตนเองได้ชัดสุดแค่ไหน หรือใกล้ที่สุดแค่ไหน แล้วเราเคยเห็นดวงตาเราจริงๆ ไหมว่าเป็นอย่างไร โซนนี้จะมีกล้องไมโครสโคปเพื่อส่องดวงตาของเรา ซึ่งกล้องพิเศษตัวนี้จะเปิดเผยดวงตาของเราขยายใหญ่บนจอ LED ยักษ์ เพื่อให้เพื่อนๆ หรือคนรักได้มองลึกเข้าไปในแววตาของเราชัดเจนขึ้น ดั่งคำคมที่ว่า ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ แล้วแววตาของเรากำลังรู้สึกเช่นไร โซนนี้น่าจะให้คำตอบได้
    ทั้งนี้ นอกจากโซนกิจกรรมแล้ว ในแต่ละสัปดาห์ยังจะมีกิจกรรม Self-Talk เวียนมาสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาตนเอง ถ่ายทอดโดยผู้มีประสบการณ์หลากหลายอาชีพมาร่วมเล่าประสบการณ์การค้นพบตนเองสู่อาชีพปัจจุบัน

 


    ด้านตุล ไวฑูรเกียรติ หรือตุล ศิลปินวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า หนึ่งในผู้ได้ร่วมกิจกรรม กล่าวถึงการค้นหาตนเองว่า เป็นเรื่องต้องใช้เวลา เพราะทางเลือกของชีวิตคนเรา มีสิ่งที่เราถนัดกับสิ่งที่เราชอบทำ เราต้องเลือกสักทาง ตอนเด็กๆ มีความฝันอยากจะเป็นนักดนตรี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเติบโตมาจะได้เป็นหรือไม่ แต่ที่ทำให้มาถึงสายดนตรีได้เพราะเกิดจากการที่คิดอะไรได้ก็จะเขียนลงในสมุด เป็นเพลงบ้าง เป็นการบรรยายเรื่องบ้าง แล้วพอกลับไปอ่านก็เลยกลายเป็นจุดไฟให้ตนเอง 
    "เราอยากเป็นนักเล่าเรื่องผ่านอักษร ผ่านเสียงดนตรี จึงเกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่สนับสนุนตนเองด้วย และส่วนหนึ่งที่ทำให้ค้นพบตนเองน่าจะมาจากการสนับสนุนของกลุ่มเพื่อนด้วย เพราะได้เขียนเพลงไปให้เพื่อนฟัง แล้วเพื่อนเปิดใจสนับสนุนเต็มที่ ไม่ได้ขัดหรือพูดให้ตนหมดกำลังใจ ก็เลยทำตามความชอบได้ ส่วนนี้คือสิ่งสำคัญ เราควรให้ความสำคัญกับการเปิดใจฟังคนอื่นด้วย แต่เมื่อพบเจอในสิ่งที่ชอบแล้ว บางครั้งอาจจะไม่ตรงใจกับคนส่วนมากก็ตาม ขอแค่เรามีความสุขในการอยู่กับมันก็เพียงพอ เพราะที่ไม่ตรงใจคนอื่นเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอก แต่เราต้องมีวิธีเอาตัวรอดให้ได้ หรือมีแผนสำรองไว้ด้วย" ตุลย้อนอดีตที่มาการเป็นนักดนตรี
    มาร่วมกิจกรรมค้นหาตนเองได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิ เอ็กซ์พลอราทอเรี่ยม.



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"