จับตา "อรรถพล ใหญ่สว่าง" อดีตอัยการสูงสุด คัมแบ็กลงเลือกตั้งประธาน ก.อ.หลังกฎหมายอัยการใหม่ประกาศใช้ เจ้าตัวแบไต๋พร้อมลาออกจากตำแหน่ง ก.อ.ตามกฎหมาย แต่ไม่พูดเรื่องลงสมัคร หวั่นถูกกล่าวหาว่าหาเสียง
เมื่อวันจันทร์ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) และกรรมการอัยการ (ก.อ.) กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า สำหรับผู้ที่จะสมัครลงประธาน ก.อ.ให้อัยการทั่วประเทศ ยกเว้นอัยการผู้ช่วยเป็นผู้ลงคะแนนเสียงนั้น เมื่อกฎหมายประกาศราชกิจจาฯ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการอัยการหรือ ก.อ.ก็ดี จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 15 วันถึงจะสามารถลงสมัครประธาน ก.อ.ได้ ซึ่งในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งประธาน ก.อ.นี้จะมี 2 ลักษณะ คือ การสมัครเข้าเพื่อให้ได้รับการคัดเลือก และมาจากการทาบทาม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว แต่ก็มีจุดที่น่าสนใจว่า ในกรณีที่มีผู้ถูกทาบทามหรือมีผู้สมัครไม่ถึงตรงนี้อาจจะมีปัญหาได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 5 คน สมมุติว่ามีคนมาสมัครแค่ 4 คน ก็จะต้องทาบทามขึ้นมาอีกให้ครบ 5 คนจึงจะครบองค์ประกอบ มิเช่นนั้นการเลือกอาจจะมิชอบ
"การทาบทามมีหลักเกณฑ์คือให้อัยการสามารถเสนอชื่อได้ แต่ต้องถามความยินยอมหรือไม่ เพราะบางคนหากเขาไม่เต็มใจ แต่ไปทาบทามเขาและปรากฏว่าได้คะแนนเสียงน้อยก็เป็นการเสียหน้า กรณีนี้จึงต้องเป็นการเต็มใจที่จะลงมาแข่งขันแล้วเท่านั้น อีกจุดที่สำคัญคือการห้ามหาเสียง เพราะจะมีสำนักงาน อสส.เป็นผู้ประชาสัมพันธ์เองว่าผู้สมัครเป็นใครและมีคุณสมบัติอย่างไร ถ้าใครไปหาเสียงถือว่ามีความผิดทางวินัย ในที่นี้รวมถึงหาเสียงให้คนอื่นก็ผิดวินัยด้วย"
ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดว่าจะเริ่มกระบวนการเลือกประธาน ก.อ.ได้เมื่อไหร่ นายอรรถพลกล่าวว่า เมื่อมีการประกาศราชกิจจาฯ แล้ว กฎหมายตัวนี้ผ่าน สนช.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอขึ้นเพื่อโปรดเกล้าฯ ก็ต้องดูว่าจะมีปัญหามีใครยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นใดของร่างกฎหมายหรือไม่ เพราะมีข่าวว่ายังมีการท้วงติงที่กฎหมายบัญญัติเรื่องการเลือกตั้งประธาน ก.อ.และ ก.อ.ในครั้งนี้ ผู้ที่เป็นอัยการอาวุโสจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือก มีแต่สิทธิ์ที่จะเลือกเท่านั้น ก็ต้องดูว่าสนช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่การที่ สนช.จะยื่นได้ต้องรวบรวมรายชื่อครบ 25 เสียง
เมื่อถามถึงกรณีกฎหมายฉบับนี้เขียนห้ามอัยการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ และกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ อดีต อสส.กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีอัยการไปนั่งตามบอร์ดรัฐวิสาหกิจหรือตามหน่วยงานอื่นๆ แล้ว เนื่องจากก่อนที่จะออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้มีบทบัญญัติห้ามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ อัยการเราจึงประกาศห้ามเลย เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเราจะต้องทำตาม เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศแล้วเราอัยการก็ห้ามมีความเห็นไปเลย เราต้องยอมรับตามกติกา แม้ส่วนตัวจะเห็นว่าเป็นการช่วยรัฐวิสาหกิจและเป็นประโยชน์อย่างมากก็ตาม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศแล้วต้องปฏิบัติ
ถามว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.อัยการใหม่นี้ประกาศใช้จะลงสมัครประธาน ก.อ.หรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า หากจะสมัครนั้นตนก็จะต้องลาออกจากอัยการและรักษาการ ก.อ. กลายเป็นข้าราชการบำนาญจึงจะมีสิทธิ์ลงด้วย
"ผมพร้อมลาออกแน่นอน แต่เรื่องสมัครประธาน ก.อ.ขอไม่พูด เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าหาเสียง" นายอรรถพลกล่าวเมื่อถามว่าพร้อมลาออกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอรรถพลเคยดำรงตำแหน่ง อสส.คนที่ 11 ต่อจากนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ต่อมาถูกให้พ้นจากตำแหน่ง อสส.ในช่วงที่มีการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใหม่ๆ โดยขณะนั้นได้ให้นายอรรถพลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงาน อสส.ตามคำสั่ง คสช. จากนั้นวันที่ 20 พ.ย.57 ได้มีการเลือกตั้งซ่อม ก.อ.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ต้องเลือกจากข้าราชการอัยการชั้น 6 ขึ้นไป 1 ตำแหน่ง แทนนายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ซึ่งเดิมได้รับเลือกตั้งเป็น ก.อ.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ แต่เมื่อนายเรวัตรได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรอง อสส. จึงทำให้ตำแหน่ง ก.อ.ในสัดส่วนดังกล่าวว่างลง จากจำนวนบัตรเลือกตั้งที่อัยการทั่วประเทศที่มีสิทธิ์ลงคะแนนกว่า 3,100 คน แล้วส่งกลับมามีจำนวนกว่า 2,400 ใบ ปรากฏว่านายอรรถพลได้คะแนนสูงถึง 1,677 คะแนน ซึ่งเกินจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์และมีผู้ลงคะแนนจำนวนมาก นับเป็นปรากฏการณ์เพราะไม่เคยมีผู้ใดได้รับคะแนนคัดเลือกจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน
"ทำให้มีการพูดคุยกันมากว่าการเลือกตั้งซ่อม ก.อ.ในครั้งนั้น สะท้อนความเป็นเอกภาพในการบริหารงานของการสำนักงาน อสส.ต่อไป เนื่องจากนายอรรถพลพ้นจากตำแหน่ง อสส.ในช่วง คสช. แต่ได้กลับมาลงแข่งขันเลือกตั้งเป็น ก.อ.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และได้รับเลือกในคะแนนที่สูงลิ่ว ยังได้รับความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าหลังจากมีบังคับใช้กฎหมายอัยการฉบับใหม่ หากนายอรรถพลซึ่งบอกสั้นๆ ว่าพร้อมลาออกจากอัยการและ ก.อ.ที่นั่งรักษาการอยู่ ซึ่งก็มีแหล่งข่าวยืนยันว่านายอรรถพลมีความพร้อมในการสมัครลงประธาน ก.อ.ในครั้งนี้อย่างสูง จะสร้างปรากฏการณ์ได้คะแนนเสียงท่วมท้น ขึ้นเป็นประธาน ก.อ.คนแรกที่มาจากการเลือกของอัยการทั่วประเทศได้หรือไม่" รายงานระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |