ก่อนเข้าสู่โหมดการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พยายามสื่อสารกับสังคมประมาณว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ที่มีผู้อาสาก็ดี หรือจะประกาศตัวก็ช่าง เพื่อลงสมัครหัวหน้านั้น ล้วนเป็นความสวยงามในการแข่งขันตามวิถีระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรค ขอให้ทุกคนเข้าใจจุดนี้ร่วมกันด้วย ทว่า หากทุกคนเข้าใจอย่างที่หัวหน้าพรรคกล่าวไว้ก็คงจะดี
เรื่องราวการชิงเก้าอี้ของค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมในครั้งนี้ กลายเป็นที่สนใจของสังคมขึ้นมาอีกครั้ง เพราะมากไปด้วยตัวละคร แต่หลักๆ มีเพียงแค่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ และอีกฝ่ายคือ กลุ่มที่รับงานจากผู้มีอำนาจ หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นไปตามคำบอกกล่าวของ “เดอะแจ๊ค” วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
โดยเขายอมรับว่า “มีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในคสช.จริง โดยจะส่งนอมินีเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทนหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ด้วยสาเหตุที่สำคัญคือ นายอภิสิทธิ์เป็นอุปสรรคสำคัญในการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พวกเขาต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคสาขาหนึ่งของ คสช. เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นที่ยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการ เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการได้ตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล”
กระแสข่าวบุคคลที่มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตในขณะนี้ มี 3 คน ได้แก่ “หัวหน้าคนปัจจุบัน” ซึ่งทราบกันดีว่าถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน และน่วมที่สุดก็สมัยเป็นรัฐบาลจัดตั้ง ซึ่งครั้งนั้นบาดแผลฉกรรจ์นัก โดยเฉพาะช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อีกทั้งตลอดการเป็นแม่ทัพ 13 ปีไม่เคยนำพาพรรคชนะการเลือกตั้งเลย ดังนั้น บางคนในพรรคจึงเบื่อหน่ายกับสถานการณ์แบบนี้ และต้องการจะเป็นฝ่ายรัฐบาลบ้าง
ส่วน “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้นี้ ต้องยอมรับจริงๆ ว่าผลงานเข้าตากรรมการ เพราะตรวจสอบโครงการทุจริตรับจำนำข้าวอย่างเข้มข้น เรียกว่าเขย่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่มัด นำมาซึ่งศาลพิพากษาจำคุก “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ และทำให้ “นารีขี่ม้าขาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีคดีไปไกลข้ามโลก เป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าลืมไม่ลง เพราะหลักฐานชัดเจน มัดตัว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ม็อบ “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” กำลังเป่านกหวีดขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่นั้น เขาก็เข้าร่วมกับ กปปส. จนกลุ่มเลือดสีฟ้าฝั่งเคารพระบบรัฐสภาไม่สนับสนุนเกมนอกสภา มอง “หมอวรงค์” ว่าเป็นเด็กกำนันสุเทพ ซึ่งก็ทราบดีว่าตอนนี้กำนันสุเทพ โปร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแค่ไหน
แต่กระนั้น เมื่อเช็กความเคลื่อนไหวล่าสุด “หมอวรงค์” ยังคงขวยเขินและสงวนท่าทีว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคหรือไม่ โดยขอว่าให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้แล้วจะให้คำตอบ
ล่าสุด มีการปูดข่าวเพิ่มว่า “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค จะเป็นแคนดิเดตด้วยอีกหนึ่งคน โดยต้องการให้ต้นตำรับปฏิรูปพรรคการเมืองกลับเข้ามาผลักดันเรื่องการปฏิรูปภายใน ซึ่ง “อลงกรณ์” ชี้แจงว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะสมัครแข่งหรือไม่ ที่สำคัญไม่ได้เป็นนอมินีหรือตัวแทนของ คสช. หรือทหารคนไหน แต่เป็นคนในพรรคที่มาชักชวน
ในความเป็นจริง เรื่องนอมินี-ไม่นอมินี เป็นเพียงการหวังผลทางการเมืองเท่านั้นและยากที่จะพิสูจน์ได้ มากที่สุดคงดูได้เพียงแค่นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนเป็นอย่างไร จะให้ ปชป.ไปทิศทางไหน ระหว่างเป็นร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป
สถานะ “อลงกรณ์” ในประชาธิปัตย์ตอนนี้ถือว่าขาดการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว เท่ากับไม่มีคุณสมบัติในการสมัครหัวหน้า ทว่า ร่างข้อบังคับพรรคใหม่ที่กำลังจะให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง ก็ได้เปิดโอกาสให้คนนอกหรือผู้ที่ขาดคุณสมบัติสามารถสมัครแข่งขันได้ โดย “อภิสิทธิ์” พูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า อาจต้องรับหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นกว่าคนที่มีคุณสมบัติครบ โดยจะต้องมีอดีต ส.ส.รับรองจำนวน 40 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ “อลงกรณ์” จะยังไม่พูดเต็มปากว่าจะชิง หรือไม่ชิง แต่เจ้าตัวก็ออกมาแสดงตัวให้เห็นว่าแนวทางเรื่องการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคที่ “อภิสิทธิ์” พูดปาวๆ แสดงภาวะความเป็นผู้นำอยู่ในขณะนี้ เป็นแนวทางของตนที่เคยเสนอเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในการให้ใช้ระบบไพรมารีเลือกผู้สมัคร ส.ส. และตำแหน่งผู้บริหารพรรค เช่นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค เรียกว่าดิสเครดิตกันเห็นๆ
งานนี้การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปไตยคงจะเบ่งบานน่าดู!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |