เตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเรียบร้อยแล้วสำหรับมาตรการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการ จำนวนกว่า 15 ล้านคน โดยมาจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ ปี 2560 จำนวน 11.4 ล้านคน และลงทะเบียนเพิ่มเติมของกระทรวงมหาดไทยอีกประมาณ 4 ล้านกว่าราย ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตกผลึกแนวทางการดำเนินโครงการที่ชัดเจนออกมาแล้ว โดยจะกดปุ่มเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2561 ถึงวันที่ 31 เม.ย.2562 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 6 เดือน
“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.การคลัง ระบุว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นเฟสแรกที่จะเริ่มดำเนินการ ส่วนจะมีการดำเนินการในเฟสที่สองอย่างไรนั้น คงต้องรอประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินมาตรการในเฟสแรกก่อน
โดยการคืนเงินภาษีแวตให้กับผู้มีรายได้น้อยนั้น จะคืนให้ตามจริงรายละไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ ทั้งในส่วนที่เติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการเอง และเงินสวัสดิการที่ได้รับจากภาครัฐทั้งหมดในแต่ละเดือน ทั้งสิ้น 7,000-8,000 บาทต่อเดือน โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินคืนให้กับผู้ถือบัตรในทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทันที ซึ่งผู้มีรายได้น้อยเจ้าของบัตรสวัสดิการสามารถนำเงินที่ได้คืนไปซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือจะไปเบิกเป็นเงินสดไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าที่ไม่ใช่ร้านธงฟ้าก็ได้
สำหรับในเดือนแรกนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการจะต้องใช้บัตรเพื่อซื้อสินค้ากับร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะเร่งขยายเพื่อให้ครอบคลุมร้านค้าอื่นๆ ทั่วไปที่จดทะเบียนภาษีแวต เนื่องจากขณะนี้สมาคมธนาคารไทยยังไม่สามารถทำเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถรับชำระผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย และแจ้งจำนวนมูลค่าภาษีแวตที่เจ้าของบัตรจะได้รับคืนไปยังกรมบัญชีกลางได้
รมว.การคลังคาดการณ์ว่าภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้น่าจะเริ่มใช้กับร้านค้าทั่วไปได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวหากได้รับความนิยม ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ร้านค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหันมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายกับกรมสรรพากรมากขึ้น เพราะสามารถขายของได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการคืนภาษีแวตให้กับผู้มีรายได้น้อยกว่า 15 ล้านรายนั้น กระทรวงการคลังตั้งธงไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แต่เพื่อไม่ให้กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เม็ดเงินภาษีของกรมสรรพากรมาดำเนินการ จึงหันไปใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อมารองรับการดำเนินการในส่วนนี้แทน
“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า เงินที่รัฐบาลใช้ดำเนินมาตรการดังกล่าวไม่มากนัก เพราะจากการสำรวจของกรมสรรพากรอย่างละเอียดแล้ว พบว่า รายการสินค้าที่ผู้มีรายได้น้อยซื้อในร้านธงฟ้าทั้งหมด มีประมาณ 20% เท่านั้นที่มีภาระภาษีแวต
ขณะที่ “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันอีกแรงว่า มาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลพิจารณามาแล้วว่าเป็นการมอบสวัสดิการและความช่วยเหลือให้กับผู้มีรายได้น้อย และวงเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน 3,000 ล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้มาจากงบประมาณหรือภาษี แต่มาจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เร่งการพิจารณามาตรการดังกล่าว และเบื้องต้นจะดำเนินการเพียง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2561 เท่านั้น แต่ก็ขยายเป็น 6 เดือน เพราะในช่วงแรกระบบอาจจะยังไม่พร้อม และร้านค้าธงฟ้าจะต้องติดตั้งเครื่องแยกรายการสินค้าที่ต้องเสียภาษีแวตกับไม่เสียภาษีแวตกับกรมสรรพากรด้วย พร้อมทั้งได้เร่งวางระบบเพื่อรองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ให้มีความสามารถในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทางอ้อมที่จะได้คือผลดีกับเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี่เอง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเองก็ยืนยันแล้วว่า มาตรการคืนภาษีแวตให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือและใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการนั้น เป็นแค่ตัววัดว่าจะคืนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยเท่าไหร่เท่านั้น ไม่ได้เป็นการคืนภาษีจริงๆ ทำให้กระทรวงการคลังไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยคืนให้กับกรมสรรพากร แต่ไปจ่ายตรงผ่านบัตรสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยกรมบัญชีกลางแทน.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |