เรื่องราวของ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถูกนำมาทำเป็นภาพยนต์แล้วถึง 2 ภาค แต่ประวัติของอดีตนายตำรวจมือฉมัง ผู้ปราบจอมโจรไอ้เสือมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำแห่งวงการตำรวจไทย ยากที่จะเล่าขานให้จบในเวลาสั้นๆ การที่ท่านมีชีวิตยาวนานถึง 103 ปี รับราชการตำรวจมีผลงานมากมาย ทำให้มีเรื่องเล่าขานถึงตัวอดีตนายตำรวจท่านนี้มากที่สุดไม่มีใครเทียม
ปริญญานิพนธ์ของ "วีระ แสงเพชร" มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งน่าจะบันทึกประวัติของขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ละเอียดที่สุด ได้ระบุบางตอนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงที่ขุนพันธรักษ์ราชเดชรับคำท้าของคณะเสือครึ้ม กลุ่มเสือร้ายวัดนก อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ให้ไปพบปะกันถึงรังโจรของคณะเสือวัดนก
การพบกันในครั้งนั้นมีเงื่อนไขว่าให้ไปกันเพียง 3 คน คือ ขุนพันธ์ฯ, นายอำเภอ และผู้กองอำเภอสรรคบุรีเท่านั้น ขุนพันธ์ฯ กล้ารับคำเชิญเชิงท้าทายนั้นอย่างกล้าหาญ ไปพบตามกำหนดทั้งๆ ที่คณะโจรมีจำนวนถึง 45 คน
เมื่อไปถึงรังโจร ขุนพันธ์ฯ ใช้ภูมิปัญญาและวิสัยนักเลง ให้คณะเสือครึ้มคัดเลือกตัวแทนจำนวน 3 คนเท่ากันไปเจรจากันในโบสถ์หรือในถ้ำ โดยใช้ภูมิปัญญาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพาลีปราบทรพี ซึ่งไม่สามารถปราบกลางแปลงได้ จึงต้องชวนไปปราบในถ้ำ
ในที่สุดคณะเสือครึ้มก็ยอมเลือกตัวแทนไปเจรจากันในโบสถ์ ความกล้าหาญแบบชายชาตินักเลงของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชครั้งนี้ ทำให้ชนะใจคณะเสือวัดนก จนฝ่ายเสือวัดนกตอบรับข้อเสนอของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชด้วยวิธีของนักเลงเช่นกัน ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการปราบปราม และเป็นการพิสูจน์ว่า พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชไม่เสียดายชีวิตเท่ากับเสียดายศักดิ์ศรีของนักเลง
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชมีน้ำใจเป็นนักกีฬาตามวิสัยนักเลงที่แท้จริง คือ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงเพื่อหาทางเอาเปรียบคู่ต่อสู้ ตลอดชีวิตการปราบปรามของท่านไม่เคยลั่นกระสุนปืนก่อนคู่ต่อสู้ เว้นแต่จะเป็นการยิงขู่ขวัญ ไม่ใช้อาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่า เช่นถ้าโจรมือเปล่าก็จะต่อสู้ด้วยมือเปล่า เมื่อสามารถจับเป็นโจรคนใดได้ก็พยายามรักษาชีวิตเพื่อนำส่งให้ดำเนินคดีตามกระบวนยุติธรรม ถ้าโจรคนใดให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกประพฤติชั่วก็จะให้โอกาส ไม่ผูกใจเจ็บหรืออาฆาต ถ้าโจรคนใดต่อสู้จนสุดฤทธิ์แล้วเพลี่ยงพล้ำร้องขอชีวิตก็จะไม่เอาชีวิต
เช่นกรณีการจับเสือคง เมืองพัทลุง เมื่อ พ.ศ.2475 เป็นโจรที่มีอิทธิพล มีเส้นสายแทรกซึมอยู่แม้แต่ในเมืองและบนสถานที่ราชการ เคยประกาศท้าขุนพันธ์ฯ ให้ไปชกและฟันกันกับพวกมัน และท้าทายในลักษณะอื่นๆ หลายครั้ง เคยฆ่ากำนันกิมจ๋องเพื่อนสนิทของขุนพันธ์ฯ
เมื่อจับได้ขุนพันธ์ฯ ก็ไว้ชีวิตมันจนผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงต่อว่าขุนพันธ์ฯ อย่างรุนแรงที่ไว้ชีวิตเสือคง ที่ขุนพันธ์ฯ กระทำเช่นนั้นเพราะไม่อาจฝืนสำนึกของนักเลงเนื่องจาก "ทำไม่ลง...เสือคงมันไม่สู้และไร้อาวุธปืนอยู่ในมือ มิหนำซ้ำมันยังยกมือไหว้ขอชีวิตไว้" ในที่สุดเสือคงก็ถูกส่งตัวขึ้นศาลถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี
กรณีการจับเสือสายคอลายที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เสือสายต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อจับได้แล้วขณะที่คุมตัวล่องเรือเพื่อส่งตัวยังจังหวัด เสือสายเกิดอาการคล้ายจะตาย ขุนพันธ์ฯ ช่วยหาผู้ที่พอจะมีความรู้ทางหมอทางยาให้ช่วยพยาบาลจนพ้นเขตอันตราย เสือสายซึ่งเคยมั่นหมายจะเอาชีวิตขุนพันธ์ฯ ขอบุหรี่จากขุนพันธ์ฯ ขุนพันธ์ฯ ก็ยื่นให้ และแสดงความเป็นนักเลง ชนะใจเสือสายจนเสือสายกล่าวยกย่องน้ำใจ อันนี้แสดงถึงน้ำใจนักเลงที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักให้อภัย ทั้งๆ ที่จะถือโอกาสทำวิสามัญฆาตกรรมอำพรางเสียก็ได้
จากจรรยานักเลงที่ว่านักเลงที่แท้จริงจะต้องมีความกตัญญูสูง ไม่ลบหลู่หรือเนรคุณผู้มีพระคุณ ไม่ทรยศต่อเพื่อน ไม่กระทำการใดๆ ที่คนทั่วไปถือว่าเป็นการก่อเสนียดจัญไร เช่น ไม่รบราฆ่าฟันกันในเขตวัด ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นเครื่องรางของขลังหรือบุคคลที่ศัตรูนับถือ ไม่กระทำดูหมิ่นซากศพของศัตรู ไม่ข้ามศพ ใช้เท้าเขี่ยศพ หรือสับศพเป็นชิ้นๆ ใครกระทำการเช่นว่านี้ถือเป็นเรื่องอัปยศ อัปมงคล จรรยานักเลงเหล่านี้ปรากฏว่า พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และรังเกียจที่บุคคลอื่นกระทำเช่นนั้น
เช่นกรณีการปราบเสือสัง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชกล่าวตำหนิ นายขี้ครั่ง ที่เมื่อเข้าใจผิดว่าตนเองยิงเสือสังไม่ผิดแล้ววิ่งเลยไปที่เรือนนางหมิกภรรยาหลวงของเสือสัง พร้อมกับตะโกนด่าแม่ไปพลาง และใช้คำหยาบว่า "กูยิงผัวมันตายโหงแล้ว เมียมันสองคนได้กู"
ขุนพันธรักษ์ราชเดชเล่าเชิงตำหนินายขี้ครั่งต่อไปว่า "นายขี้ครั่งขึ้นไปเอะอะบนเรือนนางหมิกเมียหลวงของเสือสัง แกจะทำอะไรบ้างเรามองไม่เห็น เราทั้งสองต้องใช้ตาดูหูฟังการเคลื่อนไหวของเสือสัง" เป็นทำนองตำหนิการกระทำสิ่งที่เป็นอัปมงคลของนายขี้ครั่งโดยปริยาย
ส่วนการตัดศีรษะศพเสียบประจานเพื่อไม่ให้ใคร
ถือเป็นแบบอย่าง ไม่ถือเป็นอัปมงคล เพราะเป็นการลงทัณฑ์ให้ควรแก่โทษานุโทษ ซึ่งปฏิบัติกันมาแต่โบราณ แม้ในกฎมณเฑียรบาลก็มีการให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิดต่อแผ่นดินถึง 7 ชั่วโคตรก็มี ให้ประจานความผิดแบบต่างๆ ก็มี
ขุนพันธรักษ์ราชเดชจะกระทำเฉพาะรายที่จำเป็นจริงๆ และมักมีเหตุอื่นประกอบด้วย เช่น เสือผัด แก้วเอียด ถูกจับได้ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถูกยิงเสียชีวิตและนำศีรษะมาเสียบประจานที่หน้าสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.2493
ขุนพันธรักษ์ราชเดชกล่าวว่า "วันหนึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมาตรวจราชการที่จังหวัดพัทลุงและจะเลยไปที่สถานีตำรวจภูธรด้วย ทางผู้ว่าฯ ขอร้องให้เราเอาหัวที่เสียบประจานออกชั่วคราว แต่เราไม่ยอมเอาออก และบอกผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงไปว่า ท่านรัฐมนตรีจะได้รู้บ้างว่าที่พัทลุงเหตุการณ์เป็นอย่างไร"
เสือช้องเป็นเสือกลุ่มเดียวกับเสือโถ ออกปล้นและลักวัวแถบตอนใต้ของอำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านเดิมของเสือช้อง หลังถูก พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชและคณะยิงเสียชีวิต และ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชตัดศีรษะใส่กรอมไม้ไผ่ทำพิธีปักเสียบไว้ที่แหลมจองถนน อำเภอเขาชัยสน โดยให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพราะบ้านเสือช้องอยู่ที่อำเภอสทิงพระ และเพื่อข่มขวัญโจรทางสงขลาที่จะมาขึ้นฝั่งที่บริเวณดังกล่าว
กรณีตัดศีรษะเสือผัด แก้วเอียด แล้วเสียบประจานที่หน้าสถานีตำรวจภูธร จังหวัดพัทลุงนั้น จะเห็นเจตนาที่เป็นอุบายอันแยบยลของขุนพันธรักษ์ราชเดช ว่ามิได้มุ่งที่จะประจานผู้ตายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการประจานผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองที่ไม่จริงจังต่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน และไม่กล้าเผชิญกับความจริง เพื่อให้สำนึกผิดพร้อมกันไปด้วย
เนื่องจากวัฒนธรรมพื้นบ้านในช่วงที่ขุนพันธรักษ์ราชเดชปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีวัฒนธรรมการผูกญาติ การนับญาติ (สาวญาตินับโยด การเป็นดอง) การผูกมิตร (เป็นเกลอ) ตลอดจนการผูกโยชน์ (ระบบอุปถัมภ์) ที่เป็นจุดแข็งของชุมชน เพื่อการร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมคิด และการพึ่งพาทั้งในแต่ละชุมชน และระหว่างชุมชน พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ใช้ภูมิปัญญานำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นดังกล่าวนี้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการปราบปราม จึงทำให้งานปราบปรามประสบผลดียิ่งขึ้น
เช่น ขุนพันธรักษ์ราชเดชใช้ภูมิปัญญาการผูกมิตรที่มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มั่นใจว่าวางใจได้ในแต่ละชุมชนในระดับ "อ้ายเพื่อน" หรือ "อ้ายคอ" (ใกล้ชิดเป็นพิเศษไปมาหาสู่กันเสมอ พักพิงอาศัยทุกครั้งที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ และช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้ตามความต้องการ) และระดับ "อ้ายเกลอ" (สามารถตายแทนกันได้ เสมือนเป็นคนคนเดียวกัน)
การผูกมิตรกับคนในชุมชนในระดับ "อ้ายเพื่อน" หรือ "อ้ายคอ" ขุนพันธรักษ์ราชเดชมักเลือกบุคคลที่เป็นผู้นำในท้องถิ่น หรือเป็นคนที่ชุมชนเคารพนับถือ และ/หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าวางใจได้ บุคคลที่เป็นเพื่อนในระดับนี้จะมีอยู่ในทุกชุมชนที่ปฏิบัติการ
เช่น นายขี้ครั่ง เหรียญขำ ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยนำ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชไปสมัครเป็นศิษย์ของอาจารย์เอียด วัดเขาอ้อ แต่เดิมนายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นเพื่อนกับนายแคล้ว พันธรักษ์ ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
นายนิตย์ กำนันตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นเพื่อนสนิทที่ไปมาหาสู่กันเสมอ
นายกิมจ๋อง กำนันตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นผู้ที่คอยสืบหาข่าวและร่วมในการจับกุมโจรอยู่เสมอๆ ภายหลังถูกกลุ่มของเสือตั้ง เสือชุ่ม และเสือคงยิงเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2475
นายปั้น สุนสงค์ ผู้ใหญ่บ้านตำบลคลองหอยโข่ง เป็นคนที่สนิทสนมเป็นพิเศษทุกครั้งที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชมาหาข่าวสารบริเวณนี้จะต้องพักที่บ้านนายปั้น สุนสงค์
นายทิม บางงอน กำนันตำบลถ้ำสิงขร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคม) เป็นผู้นำทางและคอยหาข้าวปลาอาหารให้ในช่วงที่ไปจับกุมเสือสาย เมื่อ พ.ศ.2486
นายปริก กำนันตำบลวังไม้ดก อำเภอเมืองพิจิตร และยังมีบุคคลอื่นๆ อีกมาก วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการปรับใช้วัฒนธรรมการผูกมิตรกับผู้มีอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งขณะนั้นนิยมกันทั้งในหมู่นักเลงชาตรี โจร และนักเลงหัวไม้ การผูกมิตรถึงระดับเป็น "อ้ายเกลอ" พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นเกลอกับนายนวลซึ่งเป็นบิดาของเสือเอื้อน ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
รูปถ่าย..ร่วมฉลองยศขุนพันธรักษ์ราชเดช บ้านอ้ายเขียว อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช 11 มกราคม พ.ศ. 2505
ขุนพันธรักษ์ราชเดชแนะนำผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่าน คือ "ให้จีบลูกสาวชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น ๆ แล้วจะได้ข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในครอบครัวเองหรือเรื่องภายนอก เหตุดังกล่าวนี้เองทำให้เป็นที่โจษขานกันว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นคนเจ้าชู้"
อุบายอันนี้ถ้ามองกันว่าเป็น "ลูกเล่น" ของขุนพันธรักษ์ราชเดช และผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านนำไปใช้เพียงแต่จีบลูกสาวชาวบ้าน เพื่อแลกเอาข่าวสารก็สมควรที่จะถูกตำหนิว่าเป็นคนเจ้าชู้ แต่ถ้าเป็นไปด้วยบริสุทธิ์ใจ กุศโลบายที่นำเอาวัฒนธรรมพื้นบ้านเรื่องการผูกดอง และเป็นการดองมาใช้ นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืน แต่มีโอกาสที่จะใช้จำกัดมิเช่นนั้นจะเข้าภาษิต "รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ"
ขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ปรับใช้วัฒนธรรมเรื่องนี้ที่ได้ผลชัดเจน คือกรณีที่ ร.ต.ท.แช่ม แกล้วทนง ตีสนิทกับแม่หม้ายที่ขายขนมในซ่องไม้ไผ่งาช้าง ในตลาดสุราษฎร์ธานี เพื่อสืบหารายละเอียดก่อนจะปราบซ่องการพนันดังกล่าวนี้ ซึ่งได้ผลตามที่ต้องการ
วัฒนธรรมการ "การผูกโยชน์" คือการสร้างสายสัมพันธ์กันโดยการเกิดพันธะผูกพันเพราะการเป็นหนี้บุญคุณกัน เคยอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน จนเกิดสำนึกว่าจะต้องตอบแทนบุญคุณ หรืออย่างน้อยก็ไม่คิดเนรคุณ วัฒนธรรมด้านนี้ที่ฝ่ายปราบปรามเคยนำมาใช้กันอย่างชัดเจน คือการใช้โจรที่อยู่ในอุปถัมภ์ปราบโจรและมักเข้าทำนองตำรวจเลี้ยงโจร ซึ่งขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ใช้ภูมิปัญญาที่จะไม่ให้เกิดจุดด่างพร้อยในประเด็นดังกล่าวซึ่งกระทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นลูกที่ดีและต้องปฏิบัติการปราบปรามในถิ่นเกิดหรือในที่มีญาติมิตร มีเกลอ และมีผู้ที่เคยอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่
เนื่องจากผู้ที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้นล้วนสมาคมกับโจรและเลี้ยงโจร การปราบโจรบางรายจึงเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งกับผู้นำและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่มักจะต้องทำงานร่วมกันกับตำรวจ การใช้โจรปราบโจรจึงต้องใช้อุบายหลบเลี่ยงการหักหน้ากัน และเป็นการหยั่งดูเชิงกันเยี่ยงนักเลงข่มนักเลง วิธีการใช้โจรต่างถิ่นต่างสังกัดกันปราบโจรข้ามถิ่นข้ามสังกัด ทำให้ผู้มีอิทธิพลได้ประโยชน์และพอใจยิ่งขึ้น
ช่องว่างดังกล่าวนี้สามารถใช้เป็นอุบายให้เกิดผลดีต่อการปราบปรามได้ระดับหนึ่ง อีกประการหนึ่งในหมู่โจรเองก็มักขัดแย้งกันทั้งในกลุ่มเดียวกันและต่างกลุ่มกัน โจรบางคนที่อยากกลับใจเป็นคนดี แต่ยากที่จะแยกตัวออกมาได้ง่ายๆ
ดังนั้น การที่ตำรวจเข้าไปช่วยให้มีทางออกจึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้การปราบปรามง่ายขึ้น แต่ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงการคบคิดกับโจรและการเลี้ยงโจร การใช้ภูมิปัญญาที่จะใช้โจรปราบโจรให้เกิดผลดีโดยไม่มีผลเสีย ซึ่งเป็นหลักการที่ดีจึงยากที่จะกระทำได้ ส่วนใหญ่จะเข้าลักษณะ "คาบลูกคาบดอก" หรือได้อย่างเสียอย่าง.
Cr : ปริญญานิพนธ์ "วีระ แสงเพชร" มหาวิทยาลัยทักษิณ,ภาพ: http://www.gotonakhon.com/
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |