เรื่องเยียวยาให้ดูที่คน ไม่ใช่ที่เงิน


เพิ่มเพื่อน    

            กลายเป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนจนได้  สำหรับเรื่องการขอมาตรการเยียวยาลูกค้าที่ใช้งานบนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHzของ  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่กำลังจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้

 

            ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองบริษัท พยายามอย่างต่อเนื่องในการยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีมติเยียวยา ลูกค้าที่ใช้ซิมคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่ ให้ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ และจะไม่เกิดปัญหาซิมดับ

 

            แต่ที่ผ่านมา กสทช. มองมาตรการเยียวยาเป็นเรื่องต่อรองผลประโยชน์ โดยตั้งเงื่อนไขในการอนุมัติ โดยเฉพาะการระบุว่า จะต้องเข้ามาประมูลคลื่นใหม่เท่านั้นถึงจะได้รับการเยียวยา  ซึ่งในฐานะผู้กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ผู้ใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติเรียบร้อย น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าจะหาเงินเข้ารัฐได้เท่าไหร่

 

            อย่างการให้สัมภาษณ์ของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่ระบุว่า "ที่ประชุมต้องการเห็นข้อมูลล่าสุดของลูกค้าดีแทคที่ใช้คลื่นดังกล่าวมีเหลืออยู่เท่าไหร่ มาประกอบการตัดสินใจการเยียวยาคลื่น เพราะข้อมูลล่าสุดที่ กสทช.ทราบ คือ วันที่ 31 ก.ค. 2561 มีจำนวน 3.46 แสนเลขหมาย ลูกค้า 1800 MHz แบ่งเป็นลูกค้ารายบุคคล 1.6 แสนเลขหมาย ลูกค้าองค์กร 1.7 แสนเลขหมาย และเป็นลูกค้าคลื่น 850 MHz จำนวน 9.5 หมื่นเลขหมาย"

 

              ไม่แน่ใจว่า กสทช. จะดึงเรื่องการช่วยเหลือออกไป โดยดูจำนวนผู้ใช้ทำไม  ทั้งๆที่เรื่องการสื่อสาร เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะใช้งานได้ ไม่ใช่ดูว่า มีจำนวนมากถึงช่วย มีจำนวนน้อยแล้วไม่ช่วย

 

              ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังมีหลายสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าไม่ได้เปลี่ยนซิม บางคนอาจจะไม่อยากย้ายค่าย  บางคนอาจจะไม่รับรู้ข่าวสาร บางคนอาจจะไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่า ตัวเองใช้ซิมคลื่นอะไร บางคนอาจจะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่รู้เรื่องเปลี่ยนค่าย ย้ายเบอร์ ย้ายซิม และคงทำเองไม่ได้ และอีกหลายเหตุผล ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ไม่ควรได้รับผลกระทบจากการต่อรองของ กสทช. ในครั้งนี้

            ขณะเดียวกันเรื่องการเยียวยาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ กสทช. เพราะในปี 2556 ก็เคยออกประกาศมาตรการเยียวยาให้กับผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) มาแล้วในครั้งที่ คลื่นย่านความถี่ 1800 MHz หมดอายุสัมปทานโดยได้เยียวยา 26 เดือน ขณะเดียวกันในปี  2558  คลื่นความถี่ย่าน  900 MHz ของ AIS สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ก็ได้เข้าสู่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ ราว 9 เดือนโดยอัตโนมัติเนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามารับช่วงคลื่นต่อ ซึ่งการเยียวยาก็ไม่ใช่ที่จะเป็นการใช้งานฟรี เพราะสุดท้ายเอกชนก็ต้องจ่ายเงินคืนให้กับรัฐ สำหรับสองรายที่ผ่านไปจะมีกรณีพิพาทเรื่องการจ่ายคืนและยังค้างจ่าย แต่กลับกันกรณีดีแทคและ กสท โทรคมนาคม กลับแสดงความชัดเจนว่าจะจ่ายให้ กสทช.ตามกฎเพื่อให้รัฐมีรายได้

 

            แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมครั้งนี้ทำไมถึงมีการดึงเรื่องไว้อย่างยาวนาน จนเกือบจะถึงสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ใช้งานเดือดร้อนเป็นอันมาก ซึ่งไม่ควรใช้ ผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน ในเกมแห่งการต่อรอง

 

            แน่นอนการที่ถูกปฏิเสธ ที่จะได้รับการเยียวยา ทางดีแทค ก็มีการตั้งคำถามเช่นกันว่า ก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการของทั้งสองคลื่นความถี่ล้วนได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องตามปกติ แล้วเหตุใดผู้ใช้บริการ ดีแทค จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งๆที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน  ขณะที่เรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz ทางดีแทค ก็แสดงความสนใจ เพียงแต่ติดบางเงื่อนไขเท่านั้น

 

            เรื่องนี้ทำให้ นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวในงานแถลงข่าวล่าสุดว่า ลูกค้าสัมปทานจะมีราว 346,000 เลขหมาย และมี 90,000 เลขหมายที่ใช้เฉพาะ 850 MHz แต่ยังมีลูกค้าในระบบใบอนุญาตอีกมากที่ โรมมิ่งบน 850 MHz ฉะนั้น หาก กสทช.ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน ด้วยการเปิดให้ ใช้คลื่น 850 MHz ต่อเป็นการชั่วคราว จะทำให้มีลูกค้าราว 1 ล้านเลขหมายที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพบริการ  เพราะยังต้องพึ่งคลื่น 850 MHz เป็นหลัก

 

            "กสทช.ยังไม่มีความชัดเจน จึงตัดสินใจยื่นขอรับความคุ้มครองจากศาลปกครองกลาง เพราะถ้าไม่ได้รับคุ้มครอง บางพื้นที่ก็จะซิมดับ บางพื้นที่คุณภาพด้อยลง ก็จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จากเราไป ซึ่งหากลูกค้าหนีหายไปจำนวนมากแล้ว ก็ยากจะดึงกลับมา ฉะนั้นต่อให้ กสทช.จัดประมูลคลื่นรอบใหม่ ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วจะซื้อคลื่นกลับมาทำไม เมื่อลูกค้าหายไปหมดแล้ว  ขณะที่การประมูลคลื่น 900 MHz ที่ กสทช.จัดขึ้นก่อนหน้านี้ มีเงื่อนไขการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนที่เป็นภาระเกินกว่าที่จะรับได้ รวมถึงดีแทคจำเป็นต้องใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ใหม่กว่า 2 ปี ดังนั้นต่อให้ประมูลคลื่นได้ก็ยังใช้งานไม่ได้ทันที จึงไม่เข้าประมูล “ นายราจีฟ กล่าว

 

            ทั้งนี้ กสทช. ก็เข้าใจว่า  คลื่นความถี่ 850 MHz เป็นคลื่นที่มีความสำคัญต่อผู้ใช้งานพื้นที่ชนบทหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นคลื่นนี้จึงมีความสำคัญต่อการคุ้มครองให้ใช้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจนกว่าคลื่นความถี่จะถูกนำไปใช้งานด้วยการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสทช. ที่จะคุ้มครองลูกค้าร่วมกับดีแทค

 

            อย่างไรก็ดีเมื่อเรื่องพิพาทไปถึงขั้นตอนของศาลปกครองแล้ว ก็คงต้องจับตา ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ว่าจะมีมาตรการเยียวยาออกมาหรือไม่ ซึ่งหากไม่มี มติ เรื่องนี้ออกมา ก็คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ ซิมดับเป็นครั้งแรก และหากกรณีดังกล่าวขึ้นมา กสทช.ก็ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร

 

            อย่างไรก็ดีตอนนี้ทางดีแทค ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย และพยายามอย่างถึงที่สุดให้ปัญหา หรือ ความเสี่ยงที่ตามมาเกิดขึ้นน้อยที่สุด ล่าสุดก็มีการเพิ่มเสาสัญญาณไปแล้วทั้งปีที่แล้วและปีนี้ แต่ก็ยังมีผลกระทบอยู่ ทั้งยังพยายามเจรจากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เพื่อขอโรมมิ่งบนคลื่น 850 MHz


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"