ฝายวังอีแร้ง หนึ่งในแหล่งน้ำสำคัญของเกษตรกรตำบลสำโรง
แม้หลายจังหวัดในภาคอีสานเผชิญน้ำท่วม ปัจจุบันหลายพื้นที่ระดับน้ำแนวโน้มลดลงตามลำดับ แต่จากการคาดการณ์ปีนี้ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยจะมีฝนทิ้งช่วงและอาจเกิดภาวะภัยแล้ง ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำต้องสมดุล เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง ชาวบ้านจะได้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำๆ เหมือนทุกปี
อย่างไรก็ดี ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง วันนี้ไม่เครียดกับน้ำท่วม-ภัยแล้ง เพราะชาวบ้านร่วมกันศึกษาพื้นที่และเก็บข้อมูลเพื่อหารูปแบบการจัดการน้ำที่เหมาะสมของแต่ละหมู่บ้าน เนื่องจากลักษณะพื้นที่มีทั้งที่เป็นภูเขาสูง, ที่ดอน, ที่ราบลุ่ม และพื้นที่ทาม น้ำท่วมฤดูฝน น้ำแห้งฤดูแล้ง ทำให้แผนจัดการน้ำถูกต้องและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
ตำบลสำโรงวันนี้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี แถมมีโรงน้ำดื่มผลิตน้ำดื่มขวดขาย กลายเป็นต้นแบบการจัดการน้ำระดับตำบล มีชุมชนหลายพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ แวะเวียนมาเรียนรู้เส้นทางสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชน
โดยการทำงานศึกษาวิจัยของชาวสำโรงอยู่ภายใต้โครงการ "การจัดการความรู้และการขยายผลการบริหารจัดการน้ำจากระดับหมู่บ้านสู่ระดับตำบลของตำบลสำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะสื่อมวลชนมีโอกาสลงพื้นที่วิจัยชุมชนบ้านผาชัน ตำบลสำโรง เมื่อวันก่อน แม้จะถูกน้ำท่วมบางจุด แต่ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดำเนินไปตามปกติ
มัสยา คำแหง ผู้ประสานงานจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอุบลราชธานี
มัสยา คำแหง ผู้ประสานงานจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตำบลสำโรงมี 11 หมู่บ้าน อาทิ บ้านนาห้าง บ้านโนศาลา บ้านนาขาม บ้านนาเจริญ และบ้านผาชัน เดิมประสบปัญหาน้ำแล้ง อย่างพื้นที่บ้านนาเจริญ นาห้าง ผาชัน เป็นที่ภูเขาและที่โคก เป็นหินและลาดเอียง ทำให้กักเก็บน้ำไม่ได้ แต่มีแหล่งน้ำบนภูก็ใช้วิธีปล่อยน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำโดยไม่ใช้พลังงาน ส่วนที่โคกเป็นป่าเต็งรังที่ไม่สมบูรณ์ ดินทรายไม่อุ้มน้ำ ศึกษาในพื้นที่ไม่สามารถรับน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่การปรับตัวระบบเกษตร พื้นที่ไม่เหมาะทำนา ก็จะทำไร่ ควบคู่กับการสร้างแหล่งน้ำย่อยๆ เพิ่ม ในส่วนของทาม อยากได้น้ำ ต้องมีระบบสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง ทีมวิจัยชาวบ้านในตำบลสำโรงค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง โดยใช้งานวิจัยท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ดีขึ้น รูปธรรมในชุมชนมีทั้งกลุ่มข้าวหอมมะลิ กลุ่มกองทุนปลา โรงน้ำดื่มประชารัฐ กทบ.บ้านผาชัน
ที่ผ่านมาทุกๆ หน้าแล้ง ช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. จะมีหน่วยงานรัฐและอำเภอขนน้ำมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และมีการเจาะบ่อบาดาล ปัจจุบันรถน้ำไม่ต้องมาเนื่องจากชาวบ้านพร่องน้ำมาเก็บไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งแล้ว
การทำนาปลูกข้าวสัมพันธ์กับปริมาณน้ำ
บิน คงทน กำนันตำบลสำโรง หนึ่งในทีมวิจัยโครงการจัดการความรู้และการขยายผลการบริหารจัดการน้ำจากระดับหมู่บ้านสู่ระดับตำบลของ ต.สำโรง กล่าวว่า เดิมหมู่บ้านขาดแคลนน้ำ จะให้รอแค่รัฐมาช่วยเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่แนวทางแก้ที่ยั่งยืน เมื่อทางศูนย์ประสานงานฯ เข้ามาหาแนวทางทำงานร่วมกันเรื่องวิจัย เดิมจะทำวิจัยเรื่องท่องเที่ยว เพราะบ้านผาชัน สามพันโบก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่จากการประชาคม เกิดคำถามถ้าขาดน้ำ จะเอาน้ำที่ไหนมารองรับนักท่องเที่ยว จึงได้โจทย์วิจัยจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด
กำนัน ต.สำโรงกล่าวต่อว่า เรามีพื้นที่เกษตรกว่า 30,000 ไร่ ทั้งที่สูง ที่ต่ำ ที่ราบ ที่ภูเขา ดินร่วน ดินทราย แต่จัดการน้ำไม่ตรงตามลักษณะพื้นที่ นำมาสู่การสำรวจพื้นที่ ลำห้วย แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ฝายและปริมาณกักเก็บของแต่ละฝาย ศึกษาเส้นทางวางท่อ ใส่จีพีเอส ชนิดพืชที่ปลูก ข้อมูลทั้งหมดนำมาวางแผนจัดการน้ำให้พอกับการเกษตรและการดำรงชีวิต แรกๆ ชาวบ้านไม่เชื่อ ทดลองทำรูปแบบละ 10 ครัวเรือน เมื่อเห็นผลว่าการปรับพืชเป็นตัวหลักบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดความเชื่อถือและขยายผล สำโรงเดิมทำนาอย่างเดียว ปัจจุบันมีสวนผลไม้ทั้งเงาะ ลำไย ลองกอง มะม่วง มะนาว ทุเรียน แล้วยังทำไร่มันสำปะหลัง ปลูกยางพารา ส่วนพื้นที่เหมาะสมกักเก็บน้ำก็ปรับทำแก้มลิง สำหรับบ้านผาชันหลังทำวิจัยเป็นหมู่บ้านแรกของตำบล จากไม่มีน้ำ มีน้ำใช้ทำเกษตร มีชลประทานระบบท่อจากฝายวังอีแร้ง ตอนนี้พออยู่พอกิน ใช้เวลา 2 ปี ก็ขยายผลสู่การจัดการน้ำระดับตำบลสำโรง
"ความรู้จากงานวิจัยยังทำให้ได้รับการสนับสนุนโครงการฝายห้วยบงและสระหลวงนาห้าง เพิ่มปริมาณน้ำมากกว่า 50,000 ล้าน ลบ.ม.อีกด้วย" กำนันบินกล่าว
บิน คงทน กำนันตำบลสำโรง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ
จากงานวิจัยจัดการน้ำต่อยอดสู่การสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่น นายสมัย เหล่ามา นักวิจัยแห่งบ้านโนนศาลา กล่าวว่า ชุมชนบ้านผาชันเดิมขาดน้ำ เมื่อวิจัยทางแก้ต้องเพิ่มแหล่งน้ำจึงสร้างฝายวังอีแร้ง แม้มีอุปสรรคอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามนำเครื่องจักรเข้า ก็มีการประสานความร่วมมือภาครัฐ อบต. และชุมชน นำมาสู่การใช้แรงงานชุมชนร่วมสร้างฝาย วางระบบท่อ ต่อมาหมู่บ้านได้รับงบพัฒนาจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ต่อเติมฝายวังอีแร้ง ปัจจุบันเป็นฝายใหญ่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ขาดแคลนน้ำ ในตำบลสำโรงยังมีการสร้างฝายบนภูอีกหลายแห่ง เช่น ฝายบ้านนาเจริญเพื่อปล่อยน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ ช่วยบังคับน้ำให้เข้าระบบท่อช่วงหน้าฝน และปล่อยน้ำเข้าพื้นที่เกษตรต่างๆ
รูปแบบชลประทานระบบท่อเพิ่มประสิทธิภาพกระจายน้ำ
"น้ำที่เหลือจากพื้นที่เกษตร ก็มีบ่อเก็บกักไว้ใช้ฤดูแล้ง ทั้งในชุมชน และตามบ้านเรือน ทำให้สามารถปลูกพืชผักเป็นรายได้เสริม เมื่อบ้านผาชันสำเร็จแล้ว นำโมเดลมาขยายหมู่บ้านอื่นๆ อย่างที่บ้านโนนศาลา จะสร้างฝายอยู่ที่ต่ำรวมน้ำใต้ดิน ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ สูบขึ้นหอถัง ก่อนกระจายสู่บ้านต่างๆ ตอนนี้กำลังสร้างฝายวังผีแต่งเพิ่ม เนื้อที่ 20 ไร่ ใช้น้ำได้ 4-5 หมู่บ้าน จะเปิดใช้งานเร็วๆ นี้ ฉะนั้น ระบบจัดการน้ำสำโรงจะไม่ตายตัว ขึ้นกับสภาพพื้นที่ เมื่อวิจัยน้ำสำเร็จ แก้ปัญหาได้แล้ว ก็มีการต่อยอดความคิด อย่างบ้านนาแห้ว ทำนาได้ผลผลิตดี เกิดการรวมกลุ่มโรงสีชุมชน มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณภาพดี อีกพื้นที่เกิดกลุ่มจักสาน เกิดรายได้ มีเงินออม" นายสมัยเผยความมั่นคงในชีวิตชาวสำโรง
จากหมู่บ้านขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันผลิตน้ำดื่มขวดขาย
ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่นบ้านโนนศาลายังระบุว่า สิ่งที่ได้มากที่สุดจากการทำวิจัย คือ ชาวบ้านคิดและวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้ และสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกัน งานวิจัยสร้างคนให้กล้าคิดและกล้าทำ ตอบได้เลยว่า ถ้าไม่ทำวิจัยน้ำ บ้านของเราก็เป็นพื้นที่ขาดน้ำซ้ำซาก
ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงที่ร่วมขบวนวิจัยท้องถิ่นแก้น้ำท่วมภัยแล้ง นายณัฐพงษ์ ศรีกฤต นายก อบต.สำโรง กล่าวว่า เดิมแก้แล้งเอารถน้ำวิ่งไป-กลับสำโรง-เขมราฐ กว่า 100 กิโลเมตร วันละ 6 เที่ยว เสียงบเฉพาะค่าน้ำมันเดือนละเป็นแสน หลังทำวิจัย เริ่มวางท่อใช้งานให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มแหล่งเก็บน้ำ รถขนน้ำจอด เหลือเพียงภารกิจดับไฟป่าเท่านั้น สะท้อนงานวิจัยเป็นแขนขาให้ท้องถิ่น ตนเป็นผู้นำท้องถิ่นขาดความรู้ เมื่อทำงานวิจัย วิเคราะห์ และหาทางออกร่วมกันก็ได้ความรู้ ตอนนี้ไม่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องแหล่งน้ำ หากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกในอนาคต
"ปี 2562 จะมีโจทย์วิจัยใหญ่ 3 เรื่อง คือ จะผันน้ำโขงขึ้นแซใหญ่ แล้วทำฝายข้างบนเจาะเป็นท่อเบี่ยงน้ำลงมา วางไว้ 3 สาย มีพื้นที่ดง พื้นที่ดอน และพื้นที่โคก นอกจากกระจายน้ำในตำบลสำโรงแล้ว ตำบลข้างเคียงจะได้ใช้น้ำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ถ้าทำได้จะปลูกพืชผักที่กินได้หลังเก็บเกี่ยว สร้างรายได้มากขึ้น ทั้งข้าวโพด หอม มะเขือเทศ ข้าวโพด เรามีเป้าหมายให้อำเภอโพธิ์ไทรเป็นครัวอำเภอ ถัดมาวิจัยเรื่องผู้สูงอายุในตำบลสำโรง เพราะชุมชนมีผู้สูงอายุ 700 คน อีกงานวิจัยจะศึกษาแหล่งท่องเที่ยวบ้านผาชัน สามพันโบก เพื่อผลักดันขึ้นเป็นอุทยานธรณีระดับโลกอีกแห่งของไทย" นายก อบต.สำโรง กล่าวและเชื่อมั่นการทำงานวิจัยจะเป็นแรงหนุนให้ชาวบ้านและชุมชนคุณภาพชีวิตดีขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |