ต้นทุเรียนพันธุ์จระเข้ สุโขทัย ตะเคียนพิจิตร รุกข มรดกแผ่นดิน


เพิ่มเพื่อน    

วัดหงษ์ จ.พิจิตร แหล่งท่องเที่ยวต้นใหญ่แห่งใหม่ จ.พิจิตร

 

       ต้นไม้หนึ่งต้นมีเรื่องราวต่างๆ ซ่อนอยู่ในกิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น และเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คนใกล้เคียง ซึ่งในประเทศไทยมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่จำนวนมากในหลายพื้นที่ และบางต้นก็มีอายุมากกว่าร้อยปี เป็นเหตุผลให้ทางกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้คัดเลือกต้นไม้ที่มีอายุมากกว่าร้อยปีให้เป็นรุกข มรดกแผ่นดิน จากทุกภูมิภาคในประเทศไทย
    เมื่อไม่นานนื้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิจิตร ได้เปิดโครงการวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ รุกข มรดกของแผ่นดิน “ต้นทุเรียนพันธุ์จระเข้ยักษ์ จ.สุโขทัย” และ “ต้นตะเคียน วัดหงษ์ จ.พิจิตร” เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นในชุมชน และเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยภายในงานได้มีการจัดแสดงสินค้าและอาหารพื้นบ้านให้ได้ชิม ช็อปอีกด้วย
    นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า นับว่าโชคดีที่ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ที่สำคัญคือมรดกทางต้นไม้ ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่ 8 ที่ได้ประกาศให้ต้นไม้เป็นมรดกของแผ่นดิน นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงต้นไม้กับวิถีชีวิตชุมชน การท่องเที่ยว สู่การสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งในปี 2560 ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนต้นไม้เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน จำนวน 65 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และในปี 2561 ได้ประกาศเพิ่มขึ้นอีก 63 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริม พัฒนา ดูแลต้นไม้ ดังนั้นต้นไม้จำนวนกว่า 100 ต้นที่ได้รับขึ้นทะเบียน จะมีการเปิดตัวทีละต้นเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนให้รู้จักมากขึ้น
    “ในครั้งนี้เราได้มาเปิดตัวต้นทุเรียนยักษ์พันธุ์จระเข้ ที่บ้านห้วยตูม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่ได้ประกาศให้เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน ในปี 2561 ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ และคาดว่าเป็นทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของภูมิภาคที่มีอายุมากกว่า 108 ปี อีกต้นก็คือ ต้นตะเคียน จ.พิจิตร ที่เป็นต้นตะเคียนใหญ่ยักษ์อยู่ภายในวัดหงษ์ ได้รับประกาศให้เป็นรุกข มรดกของแผ่นดิน ในปี 2560 ที่มีอายุกว่า 400 ปี ด้วยลำต้นสูงตรง แผ่กิ่งก้านสง่างาม ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธา ดังนั้น ต้นไม้ทั้งสองต้นจึงเป็นต้นทุนที่จะส่งเสริมในเรื่องของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาสัมผัสความสวยงามที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดการอนุรักษ์ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” รมว.วธ.กล่าว

 

ชมการสาธิตการดูแลรักษาต้นไม้ตามหลักรุกขกร 

    นายอนุชา ศรีสุทธิรักษ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร จ.พิจิตร กล่าวว่า ต้นตะเคียนอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี เดิมเรียกต้นแม่โหงแม่นาง มีขนาดของลำต้นสูงใหญ่ มีเส้นรอบวง 11.50 เมตร สูง 50 เมตร เพราะเชื่อกันว่ามีนางไม้สถิตอยู่ ปัจจุบันต้นตะเคียนเป็นศูนย์รวมความเคารพนับถือของชาวบ้านในชุมชน จึงได้มีประเพณีที่ทำร่วมกัน โดยการจัดการบวงสรวงในช่วงเดือน 6 ของทุกปี นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน เกิดกระบวนการพัฒนาและสามารถบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

งานจักสานขึ้นชื่อ จ.สุโขทัย ผลิตภัณฑ์ชุมชน

    ด้านนายสวัสดิ์ จันทร์สี เจ้าของต้นทุเรียนพันธุ์จระเข้ จ.สุโขทัย กล่าวว่า ครอบครัวได้ทำอาชีพเป็นชาวสวนปลูกผลไม้ต่างๆ รวมถึงทุเรียนที่ปลูกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลังจากที่ในอดีตบรรพบุรุษของตนได้พบกับผลทุเรียนพันธุ์นี้และได้นำมาเพาะพันธุ์ จึงได้ตั้งชื่อว่าพันธุ์จระเข้ ก็เพราะผลมีลักษณะคล้ายกับหลังของจระเข้ อีกทั้งรสชาติก็หวาน มัน เมล็ดมีเพียง 1-2 เมล็ด ซึ่งมีเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตามที่ชาวบ้านได้บอกต่อกันมา คาดว่าต้นทุเรียนมีอายุกว่า 220 ปี แต่หลังจากได้รับการตรวจวัดจากทางเจ้าหน้าที่ ได้ระบุว่าต้นทุเรียนมีอายุประมาณ 108 ปี
    เจ้าของต้นทุเรียนพันธุ์จระเข้กล่าวต่อว่า แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทุเรียนต้นนี้ก็อยู่คู่กับชาวบ้าน พร้อมทั้งยังเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ โดยขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท หากอยากได้เกรดเอก็จะอยู่กิโลกรัมละ 700 บาท ซึ่งเป็นผลรุ่นแรก สุกกินได้ในช่วงเดือนมิถุนายน อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจชองคนในชุมชนที่ต้นทุเรียนได้ขึ้นทะเบียนเป็นรุกข มรดกแผ่นดิน เพราะแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงหรือชาวบ้านโดยรอบก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

 


    นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงสินค้าพื้นบ้าน อย่างที่ จ.สุโขทัย ก็มีการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านอย่าง ข้าวเปิ๊บ ผลไม้นานาชนิด งานจักสาน ในส่วนของ จ.พิจิตร ก็ได้มีการสาธิตการดูแลรักษาต้นไม้ตามหลักรุกขกรจากกรมป่าไม้ การจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านต่างๆ และยังได้กราบสักการะหลวงพ่อเหลือ หรือหลวงพ่อโตอีกด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"