อิทธิพลจากจีน! '55จว.'เสี่ยงฝน 6เขื่อนพร่องน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

    สทนช.เผย 55 จังหวัดเสี่ยงฝนถล่ม จับตา 6 เขื่อนใหญ่เร่งพร่องน้ำ เน้นคำนึงถึงผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำด้วย กรมอุตุฯ เตือนทุกภาครับมือน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม 
    เมื่อวันที่ 9 กันยายน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ แถลงถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศว่า สถานการณ์ฝนวันนี้มีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักบางแห่งใน 55 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล 
    โดยปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ จ.สุโขทัย 123 มิลลิเมตร (มม.), พิษณุโลก 105 มม., น่าน 102 มม., กำแพงเพชร 86 มม., พะเยา 60 มม., เชียงราย 46 มม., ลำปาง 45 มม., แพร่ 43 มม. ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี 56 มม.,  ตราด 49 มม., นครนายก 48 มม. ภาคตะวันตก จ.ราชบุรี 78 มม., กาญจนบุรี 55 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ 124 มม., บุรีรัมย์ 42 มม.,  ขอนแก่น 38 มม. ภาคใต้ จ.กระบี่ 41 มม. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง
    ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 6 เขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยังเร่งพร่องน้ำต่อเนื่อง และติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่เพื่อปรับแผนการระบายน้ำ และเร่งระบายน้ำในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนที่มีน้ำท่วมขัง โดยส่วนใหญ่พบว่าปริมาณน้ำไหลเข้าน้อยกว่าระบายออก ดังนี้ 1.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำคิดเป็น 106% ของความจุน้ำไหลเข้าเท่ากับระบายออกที่ 6.16 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 2.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำคิดเป็น 102% ของความจุ ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.63 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 12.10 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 41 เซนติเมตร (ซม.) โดยปัจจุบันยังไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  
    3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำคิดเป็น 95% ของความจุ น้ำไหลเข้า 47.52 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 57.93 ล้าน ลบ.ม. 4.เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำคิดเป็น 92% ของความจุ น้ำไหลเข้า 32.64 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 23.71 ล้าน ลบ.ม. 5.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำคิดเป็น 86% ของความจุ น้ำไหลเข้า 4.79 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 5.58 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 62 ซม. และ 6.เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำคิดเป็น 88% ของความจุ น้ำไหลเข้า 2.94 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 3.61 ล้าน ลบ.ม.  
    “จากการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ พบว่า อ่างขนาดใหญ่เฝ้าระวังที่มีความจุเกิน 80% เปรียบเทียบจากวันที่ 8 ก.ย. พบว่ายังทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง แบ่งเป็นอ่างที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 106% เท่าเดิม เขื่อนแก่งกระจาน 102% ลดลง 2% ขนาดกลาง 16 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ในภาคเหนือ ขณะที่อ่างเฝ้าระวัง 80-100% ของความจุ มีขนาดใหญ่ 5 แห่งยังคงทรงตัวเท่าวันที่ 8 ก.ย. ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 95%,  เขื่อนศรีนครินทร์ 92%, เขื่อนรัชชประภา 85%, เขื่อนขุนด่านปราการชล 86%, เขื่อนนฤบดินทรจินดา 88% เท่าเดิม โดยขนาดกลาง 66 แห่ง ลดลงจากเมื่อวาน 4 แห่ง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งแผนระบายน้ำต่อเนื่อง ซึ่ง สทนช.ได้เน้นย้ำให้คำนึงถึงผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำและปริมาณฝนที่จะตกลงในพื้นที่พิจารณาประกอบในแผนการระบายน้ำด้วย” นายสำเริงระบุ
     ต่อมา เวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 10 ก.ย.2561)" ฉบับที่ 13 ว่า ในช่วงวันที่ 9-10 ก.ย.2561 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่และมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มไว้ด้วย
    ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้
    ในช่วงวันที่ 9 ก.ย. ภาคเหนือ จังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม และบุรีรัมย์, ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี, ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนวันที่ 10 ก.ย. ภาคเหนือ จังหวัดตาก และกำแพงเพชร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
     ทางด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน "เบบินคา" และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-9 ก.ย.2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หนองคาย นครพนม บึงกาฬ เพชรบุรี สกลนคร ลพบุรี นครนายก ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิจิตร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสระบุรี รวม 108 อำเภอ 481 ตำบล 2,668 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,537 ครัวเรือน 199,131 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย 
    สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย ลพบุรี พิจิตร และชัยภูมิ ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด รวม 41 อำเภอ 186 ตำบล 1,342 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,941 ครัวเรือน 92,769 คน
    ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
    ที่ จ.ตาก หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากลงจากเขาและไหลเข้าหนุนลำห้วยพลู จนทำให้น้ำเอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านห้วยพลูและบ้านปางส้าน หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ต.ด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย ล่าสุดศูนย์อุทกวิทยาที่ 6 พบว่า พื้นที่อำเภอวังเจ้า มีปริมาณน้ำฝนสะสม 12 ชั่วโมง เท่ากับ 84.50 มม. และยังพบว่ามีฝนตกคลุมและฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"