โพลหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ 'จ้อน'ทาบรัศมีชิงมาร์ค


เพิ่มเพื่อน    

    โพลหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ มาอันดับหนึ่ง   "มาร์ค-หน่อย-ธนาธร" ไล่กวดแต่ยังห่างกันเยอะ  "อภิสิทธิ์" เดินหน้า ปชป.ยุคใหม่ ให้สมาชิกพรรคหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคได้ กางปฏิทินได้ชื่อไม่เกิน พ.ย.ปีนี้ "จ้อน" อ้างเสียงเรียกร้องให้คัมแบ็ก ปชป. โปรยยาหอมพรรคมีโอกาสชนะเลือกตั้ง 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2561 อธิบายถึงการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในชื่อเรื่อง "ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก" มีเนื้อหาระบุถึงเรื่องที่เคยประกาศแนวคิดให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปัตย์ยุคใหม่ และเป็นการยืนยันถึงความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคในระบบประชาธิปไตยที่เริ่มตั้งแต่ภายในพรรค ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ โดยพรรคได้พิสูจน์เรื่องนี้มากว่า 70 ปีแล้ว และเป็นพรรคเดียวที่มีการแข่งขันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอย่างจริงจังมาหลายครั้ง 
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อธิบายว่า โดยปัจจุบันที่ประชุมใหญ่ของพรรคประกอบด้วย ส.ส. และประธานสาขาพรรคเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่ออกมา แต่ประชาธิปัตย์สามารถเป็นผู้นำและมีความก้าวหน้ามากขึ้นเพราะเห็นว่าการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดย คสช.ในเรื่องนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากการหยั่งเสียงเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่กำลังวนกลับไปสู่ที่เดิม รวมไปถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/60 ที่ส่งผลให้สาขาพรรคกว่า 150 แห่งทั่วประเทศถูกยุบ ทำให้องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ขาดความหลากหลายและความเป็นประชาธิปไตย ประกอบกับสี่ปีที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและในประเทศเกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างควรเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรคจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส.และผู้บริหารพรรคปัจจุบัน 
    "ดังนั้น การหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของระบบการเมืองไทย โดยหวังว่าจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง เพราะถ้ามองอย่างนั้น เท่ากับเป็นการไม่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง"
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อธิบายว่า การหยั่งเสียงจะอำนวยความสะดวกให้สมาชิกลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายพรรคการเมืองยังไม่รองรับเรื่องนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้ไขข้อบังคับให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้เลือกหัวหน้าพรรค จะต้องรับฟังผลของการหยั่งเสียงจากสมาชิก ซึ่งตนมั่นใจว่าที่ประชุมใหญ่จะทำเช่นนั้น
    นายอภิสิทธิ์ยังได้โพสต์แผนผังปฏิทินการเลือกหัวหน้าพรรคโดยสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ไว้ โดยมีกรอบเวลาเริ่มตั้งแต่ คสช.คลายล็อกกลางเดือนกันยายน จากนั้นประชาธิปัตย์ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคในช่วงปลายกันยายน ใช้เวลาในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนรับสมาชิกและผู้เข้ารับการหยั่งเสียง แบ่งเป็นสองช่วงคือ 2-3 สัปดาห์รับสมัครสมาชิกและผู้เข้ารับการหยั่งเสียง และอีก 2-3 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาของการหยั่งเสียงและรับสมาชิกพรรคต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการประกาศผลการหยั่งเสียงในเดือนพฤศจิกายน จากนั้น 7 วันจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคตามกฎหมาย โดยกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 
     นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีถูกทาบทามให้ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีการทาบทามจริง ให้กลับไปเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค จากทางสาขาพรรคและอดีต ส.ส.บางส่วน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ทันสมัยก้าวหน้า เพราะเห็นว่าเคยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคมาแล้วถึง 2 สมัย เคยเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส. 6 สมัย ไม่เคยย้ายพรรค มีอาวุโสทางการเมืองเพียงพอ แต่เหตุผลสำคัญที่ยกมาอ้างคือ เคยเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพวกเขาเห็นด้วยมาตลอด
    “ผมยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพียงตอบกลับไปว่าเคยประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว เพื่อสานต่องานปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พวกเขาก็ขอให้ทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งผมก็รับปากที่จะพิจารณาข้อเสนออย่างจริงจัง” นายอลงกรณ์กล่าว
    นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์มีบุคลากรเก่งๆ ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีความพร้อมที่จะกลับมาชนะในการเลือกตั้ง ถ้าสามารถเปิดพรรคกว้างและปฏิรูปพรรคอย่างน้อย 4 ด้าน คือ ปฏิรูปภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ ความคิดวิสัยทัศน์และนโยบาย รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรคือความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ซึ่งการเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นั้น ถือเป็นโอกาส ไม่ใช่เป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปพรรคได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งปีหน้า พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นตัวอย่างต้นแบบการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมืองสู่มิติใหม่ทางการเมืองในภาพรวมต่อไปด้วย
    วันเดียวกันนี้ ดุสิตโพลเผยสำรวจความคิดเห็น ความคิดเห็นประชาชนในเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร กับการเลือก ส.ส." โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง  จำนวนทั้งสิ้น 1,132 คน ระหว่างวันที่ 5-8 กันยายน 2561 
    เมื่อสอบถามว่า ระหว่าง “ส.ส.เก่า” กับ “ผู้สมัครใหม่” ประชาชนอยากเลือกใครมากกว่ากัน พบว่า ส่วนใหญ่ตอบว่า ส.ส.เก่าหรือผู้สมัครใหม่ก็ได้ คิดเป็นร้อยละ 69.88% ขณะเดียวกันมีคนตอบว่าจะเลือก ส.ส.จำนวน 16.15% และผู้สมัครใหม่จำนวน 13.97%
    ผลสำรวจถามว่า พรรคการเมืองแบบไหนที่ประชาชนอยากเลือก ส่วนใหญ่ตอบว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม มีคุณธรรม ไม่คดโกง คิดเป็น 32.46% และตามด้วยเห็นว่าควรต้องมีนโยบายใหม่ๆ ชัดเจน ทำได้จริง 23.39% และคำนึงถึงส่วนรวม เน้นประชาชนเป็นสำคัญ ร้อยละ 20.15% เป็นต้น 
    ในคำถามที่ว่า ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผลสำรวจเผยว่า ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดเป็นร้อยละ 24.72% ตามด้วย  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 17.57%,  คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 16.53%, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 14.63%และนายทักษิณ ชินวัตร  13.50% และอื่นๆ ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายชวน หลีกภัย, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย 13.05%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"