ผงะฝุ่นละออง เกินมาตรฐาน ชี้'ผู้ป่วย'เสี่ยง


เพิ่มเพื่อน    

คพ.เตือน "กทม.-ปริมณฑล" พบฝุ่นละออง PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลมลพิษทางอากาศสะสม แนะผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ เลี่ยงกิจกรรมในที่โล่ง "อุตุฯ" ระบุทั่วประเทศมีฝนฟ้าคะนอง "ส.ก." โวย กทม.เมินแก้ปัญหามลภาวะจากฝุ่นละออง 
    เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เวลา 12.00 น. ณ วันที่ 24 ม.ค.2561 อยู่ในช่วง 54-85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59-71 มคก./ลบ.ม. และจังหวัดสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. 
    นางสุณีกล่าวว่า สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก./ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก 
    "ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้" นางสุณีกล่าว
    อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริงหากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) 
    "อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน ก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันพุธ เกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ทั้งเขตปทุมวัน  ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก และคลองสาน ก่อนที่กลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เขตพระนคร บางกอกใหญ่ โดยปริมาณน้ำฝนในเขตปทุมวันอยู่ที่ประมาณ 49.0 มม. และมีน้ำท่วมรอการระบายในหลายจุด และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพน้ำท่วมขัง พร้อมเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเพิ่มความระมัดระวัง
    กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า กับมีหมอกหนาบางพื้นที่ ภาคเหนือยังคงมีอากาศหนาวเย็น และบริเวณยอดดอยมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย     
    ส่วนเกษตรกรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ระมัดระวังความเสียหายที่อาจเกิดกับผลผลิตเนื่องจากฝนตกไว้ด้วย สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนหนักบางแห่งในระยะนี้
    ทั้งนี้ พยากรณ์อากาศสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล เวลา 06.00 น. วันที่ 24 ม.ค. ถึง 06.00 น.วันที่ 25 ม.ค. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม./ชม.
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ร.ท.วารินทร์ เดชเจริญ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ยื่นกระทู้ถามสดเรื่อง ขอทราบแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง ในที่ประชุมสภา กทม. โดยมี ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม.,  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหารกทม. ร่วมประชุม
    ร.ท.วารินทร์กล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์ กรณีที่ กทม.ไม่มีมาตรการเข้มข้นในการจัดการปัญหาฝุ่นละอองเหมือนอดีตที่ผ่านมา โดยปกติสภาพของฝุ่นละอองจะเพิ่มมากขึ้นหลังพ้นช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ทำให้เกิดโรคอันตราย เช่น โรคภูมิแพ้ วัณโรค เมื่อฝุ่นละอองปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ยิ่งทำให้เกิดโรคติดต่อตามมา โดยดัชนีวัดคุณภาพอากาศที่เป็นมาตรฐานโลก ประกอบด้วย 1.ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ขณะที่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายปีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ PM2.5 ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) 
    "เมื่อปี 2560 สำนักสิ่งแวดล้อมได้ของบประมาณ 30 ล้าน เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลภาวะทางฝุ่นและเสียง กลับไม่นำผลรายงานข้อมูลเชิงสถิติไปดำเนินการให้เป็นประโยชน์ เพียงแต่ทำหน้าที่รายงานข้อมูลเท่านั้น เดิมสำนักงานเขตจะเป็นผู้ดำเนินการส่วนเกี่ยวข้อง โดยการจัดทำตารางป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็กในฤดูแล้ง และมีมาตรการป้องกัน แต่ปีที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือสั่งการไปยังสำนักงานเขตให้ดำเนินการเกี่ยวกับการลดภาวะฝุ่นละออง" ร.ท.วารินทร์กล่าว
    ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ได้มีบันทึกสั่งการเรื่อง การแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานทุกเขตดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 โดยมีทางเขตจะต้องปฏิบัติตามแนวทาง 13 ข้อ แต่ยอมรับว่าในช่วงหลังเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งการมากพอ โดยปกติสำนักงานเขตจะเริ่มดำเนินการตามข้อสั่งการ ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเป็นต้นไป 
    "ปัจจุบันได้กำชับให้ทุกเขตถือปฏิบัติตามคำสั่ง กพ.0907/พ976 ลงวันที่ 27 ก.พ.2555 ขณะที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร 2522 ได้ให้อำนาจสำนักงานเขตเข้าระงับ กำชับ เจ้าของโครงการก่อสร้าง หากมีกระทบก่อให้เกิดต่อฝุ่นละออง และมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการล้างทำความสะอาด พล.ต.อ.อัศวินได้มีนโยบายบิ๊กคลีนนิงเดย์ให้ทุกเขตดำเนินการแล้ว" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"