สุเทพ-แกนนำ กปปส. 9 คนรายงานตัว อัยการสั่งฟ้อง 9 ข้อหาหนัก "กบฏ-ก่อการร้าย" ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศาลนัดตรวจหลักฐาน 19 มี.ค. ให้ประกันตัวคนละ 6 แสนบาท ห้ามออกนอกประเทศ แนวร่วม 34 รายที่เบี้ยวอัยการนัดใหม่ 14 มี.ค. "เทือก" ลั่นภูมิใจได้ต่อสู้เพื่อชาติแม้ถูกดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 24 มกราคม เวลา 09.20 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พร้อมคณะอดีตแกนนำ กปปส. 9 คน เดินทางมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งคดีของอัยการคดีพิเศษในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นๆ กรณีชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557
โดยนายสุเทพกล่าวสั้นๆ ว่า พร้อมสู้คดี วันนี้เตรียมตัวมาแล้ว อัยการคงสั่งฟ้องแน่นอน รับสภาพเป็นจำเลยเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พวกตนอยู่กันครบไม่หนีไปไหน
สำหรับบรรยากาศบริเวณด้านหน้าศาลอาญา และสำนักงานอัยการสูงสูด ถ.รัชดาภิเษก มีการจัดกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ รปภ. พร้อมแผงกั้นเหล็กอย่างเข้มงวด โดยมีทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่มาให้กำลังใจ กปปส. มารอติดตามการส่งตัวผู้ต้องหาอย่างคับคั่ง
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 261/2556 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557 เป็นคดีระหว่างนายคารม พลพรกลาง กับพวก ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ส่งสำนวนนี้ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อปี 2557 ผู้ต้องหาทั้งหมดมี 58 คน นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการคดีพิเศษในขณะนั้น สั่งไม่ฟ้องไป 1 คนคือ นายพิจารณ์ สุขภารังษี อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิด ผู้ต้องหาเหลือ 57 คน ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังไม่ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด 3 คน เหลือสำนวนอยู่ 54 คน มีบางข้อหาซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีหลัก จึงมีการแยกสำนวนไป 7 คน ที่เหลือทางคณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในสมัยนั้นมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมดตามข้อกล่าวหา ยื่นฟ้องไปแล้ว 4 ราย คือ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์, นายเสรี วงษ์มณฑา, นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายสกลธี ภัททิยกุล
นายประยุทธกล่าวด้วยว่า วันที่ 24 ม.ค. ได้นัดผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมด 43 คนมาฟังคำสั่ง สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นตามคำสั่งเดิมเมื่อปี 2557 แล้ว ผู้ต้องหาเดินทางมาพบแล้ว 9 คน ทางพนักงานอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ส่งฟ้องศาล ส่วนผู้ต้องหาอีก 34 คนที่ไม่ได้ยื่นฟ้อง มีการยื่นคำร้องขอเลื่อนโดยมีเหตุจำเป็น ทั้งนี้ ข้อหากบฏแจ้งทุกคน ยกเว้นข้อหาก่อการร้าย แจ้งเฉพาะเฉพาะนายสุเทพและนายชุมพลเท่านั้น
จากนั้นเวลา 10.45 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส., นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อายุ 57 ปี แกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นายชุมพล จุลใส อายุ 48 ปี แกนนำ กปปส.แยกราชประสงค์ และอดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อายุ 50 ปี แกนนำ กปปส.แยกราชประสงค์และอดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์, นายอิสสระ สมชัย อายุ 72 ปี แกนนำ กปปส. ห้าแยกลาดพร้าวและอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายวิทยา แก้วภราดัย อายุ 63 ปี แกนนำ กปปส.ลุมพินี และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์, นายถาวร เสนเนียม อายุ 71 ปี แกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อายุ 52 ปี แกนนำ กปปส.แยกอโศกและอดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และนายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ อายุ 32 ปี อดีตโฆษก กปปส. และอดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1-9
ฟ้อง 9 ข้อหาหนัก
ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ รวม 9 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152 ประกอบมาตรา 83, 91
คำฟ้องอัยการ 17 หน้า บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556 ถึง 1 พ.ค.2557 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้ง 9 ร่วมสมคบกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร โดยเข้าเป็นสมาชิก หัวหน้าผู้มีตำแหน่งสั่งการของคณะบุคคล ร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเคลื่อนไหวคัดค้านหลายกลุ่ม
กระทั่งวันที่ 29 พ.ย.2556 กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการโดยใช้ชื่อว่า กปปส. มีนายสุเทพ จำเลยที่ 1 ประกาศตัวเป็นเลขาธิการ ส่วนจำเลยที่ 2-9 ได้ร่วมเป็นสมาชิกและกรรมการผู้มีหน้าที่สั่งการ โดยคณะบุคคลนั้นร่วมกันโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวนให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรเข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบโดยมุ่งหมายที่จะขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ซึ่งการกระทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยทั้ง 9 และพวกได้แบ่งหน้าที่กันทำคือ การปราศรัยชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมหรือออกมาขับไล่รัฐบาล อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังทั้งที่มีและไม่มีอาวุธบุกรุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ ขณะเดียวกันมีการรวบรวมจัดหาชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งมาเป็นกองกำลังโดยเรียกว่า นักรบศรีวิชัย, นักรบตะนาวศรี และกลุ่มกระเบนธง โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2557 ได้มีการสะสมกำลังโดยประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ 500 คน เพื่อทำการไล่ล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ และรัฐมนตรีอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏ นอกจากนี้พวกจำเลยได้ยุยงชักชวนให้ธุรกิจเอกชน, ข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนร่วมกันหยุดปฏิบัติงาน ปิดงาน ไม่ยอมค้าขาย ชะลอและงดการจ่ายภาษีให้รัฐบาลพร้อมกันให้บุกรุกเข้าไปยังสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หลังจากบุกรุกเข้าไปในสถานที่ต่างๆ หลายแห่งแล้ว พวกจำเลยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้ก้อนหิน, ขวดแก้ว, ไม้ท่อน, หนังสติ๊ก, กระสุนหัวนอต, ระเบิดเพลิง, ประทัดยักษ์, ระเบิดปิงปอง, อาวุธปืนสั้น-ปืนยาวฯ มีดปลายแหลม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรักษาความสงบเรียบร้อยได้รับอันตรายและเสียชีวิตหลายราย
และตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-2 มี.ค.2557 จำเลยกับพวกยังได้ปิด กทม. หรือ Bangkok Shutdown รวม 7 จุด โดยตั้งเวทีปราศรัยปิดกั้นการจราจรสาธารณะประกอบด้วย เวทีแจ้งวัฒนะ, ห้าแยกลาดพร้าว, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, แยกปทุมวัน, แยกราชประสงค์, สวนลุมพินี และแยกอโศก แล้วในช่วงการประกาศการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 จำเลยกับพวกยังให้มีการชุมนุมปิดล้อมหน่วยรับสมัครและหน่วยเลือกตั้งใน กทม.และต่างจังหวัดหลายแห่ง เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ววันที่ 5 เม.ย.2557 ยังได้ร่วมกันประกาศว่ากลุ่ม กปปส.จะเข้าใช้อำนาจอธิปไตย และประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกฯ และ ครม.
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย.2556 นายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. และนายชุมพล แกนนำ กปปส. จำเลยที่ 1 และ 3 ยังร่วมกันก่อการร้าย โดยทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ทำให้เกิดความเสียหายนับพันล้านบาท โดยจำเลยที่ 1-4 , จำเลยที่ 7-9 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2557, จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวที่ 28 พ.ค.2557 และจำเลยที่ 6 เข้ามอบตัววันที่ 27 พ.ค.2557 ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 9 ให้การปฏิเสธ ซึ่งหากจำเลยยื่นขอปล่อยชั่วคราว อัยการขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล โดยท้ายฟ้องอัยการโจทก์ยังขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งเก้าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ด้วย
ศาลนัดพร้อม 19 มี.ค.
ศาลได้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 และสอบคำให้การเบื้องต้นแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธ โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่จำเลยทั้งเก้า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ บจก.วิริยะประกันภัย เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลกำหนดวงเงินประกันจำเลยรายละ 800,000 บาท
ต่อมาทนายความของ 9 อดีตแกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันภัย บริษัท วิริยะประกันภัย คนละ 800,000 บาท รวม 7.2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว อนุญาตให้จำเลยทั้งเก้ามีประกันตัวไป โดยตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยปราศจากอุปสรรค จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขกับจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ดังนี้ 1.ให้จำเลยดำเนินการแต่งตั้งทนายความให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน หรือในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี ตรวจพยานหลักฐาน 2.กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ให้ถือวันนัดของศาลเป็นหลักสำคัญ หากทนายความจำเลยติดภารกิจหรือเจ็บป่วย ให้จำเลยแต่งตั้งทนายความคนใหม่ ศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เพราะเหตุขัดข้องเรื่องทนายความ และศาลจะถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดีอันเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินคดีในศาลที่ศาลจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสั่งปล่อยชั่วคราว
ต่อมาเวลา 15.45 น. ภายหลังได้รับการประกันตัว นายสุเทพกล่าวว่า วันนี้ตนกับพวกโดนอัยการฟ้องในข้อหาร้ายแรงทั้งสิ้น แต่พวกตนทั้ง 9 คน ได้ตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราเป็นคนไทย ต้องเคารพกฎหมายไทย เคารพกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จะถูกจะผิดอย่างไรไปสู้ในกระบวนการยุติธรรม จะนำพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไปเสนอต่อศาล เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
"การต่อสู้ครั้งนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอะไรได้เปรียบ อาจจะถูกทำร้ายหรือถูกตั้งข้อหา ซึ่งผมเห็นว่ามีประชาชนเสียสละมาเพื่อเรา วันนี้พวกผมภาคภูมิใจที่ได้เป็นกำลังต่อสู้เพื่อชาติ เรายืนหยัดผลักดันเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ถ้าเราพลาดพลั้งแพ้คดี ถูกศาลลงโทษก็พร้อมจะน้อมรับ เพราะถือว่าเป็นการตัดสินใจเลือกทางนี้แล้ว สำหรับการพิจารณาคดีในชั้นศาล พวกเราทุกคนของประกาศว่าจะไม่ประวิงคดีเป็นอันขาด เราต้องการเร่งรัดให้มีการไต่สวน สืบพยานโจทก์จำเลยโดยรวดเร็วที่สุด เพราะเราทราบดีว่า คดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน" นายสุเทพระบุ
เมื่อถามว่า มีผู้ต้องหาอีก 34 คน ยังไม่ถูกนำตัวส่งฟ้อง หากมีการส่งฟ้องจะขอศาลรวมสำนวนเป็นสำนวนเดียวกันหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ความจริงไม่อยากจะก้าวล่วงในดุลพินิจของอัยการ แต่ในความรู้สึกตนคิดว่า จำเลยในคดีนี้สมควรที่จะมีเฉพาะพวกตน 9 คน เพราะเป็นกลุ่มที่ริเริ่มชักชวนประชาชนออกมาร่วมขบวนการต่อสู้เคียงข้างประชาชนมาโดยตลอด 240 วัน ผู้ที่มาร่วมบางคนขึ้นเวทีเพื่อตอบปัญหาข้อสงสัยแก่มวลชน อย่างเช่น นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขึ้นเวทีอธิบายเกี่ยวกับเหตุผลการต่อสู้กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มาให้ความเห็นความรู้แก่ประชาชน หรือ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้เข้ามามีบทบาทอะไรทั้งสิ้น ก็โดนข้อหาร่วมกันกบฏ อย่างไรก็ตาม หากอัยการได้ตระหนักในเรื่องนี้ ควรจะมีการสั่งให้สอบสวนผู้ต้องหาเหล่านี้ใหม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม
ขอดำเนินคดีแค่ 9 คน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทางอัยการและศาลจะพิจารณา หากมีโอกาสพวกตนตั้งใจที่จะแถลงต่อศาล ขอให้ดำเนินคดีกับพวกตนทั้ง 9 คนให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก่อนหน้านี้เคยเสนอแนวคิดนี้ไปทางอัยการแล้ว เพื่อไม่ให้ตกเป็นจำเลย แล้วต้องเสียเวลาในชั้นศาล จะได้ไปทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติต่อได้
อดีตแกนนำ กปปส.กล่าวด้วยว่า ได้ตั้งสำนักงานทนายความขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ เนื่องจากจะไม่ปล่อยให้พี่น้องโดนคดีโดยไม่มีการช่วยเหลือ ส่วนพวกเราทั้ง 9 คน จะเตรียมทนายไว้สู้คดี แต่เพิ่งมารู้ข้อหาที่ถูกฟ้องในวันนี้ จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องหาพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วิดีโอ หรือพยานบุคคลนำมาต่อสู้คดี อยากฝากไปถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ หากทราบเรื่องและเห็นเหตุการณ์ สามารถเข้ามาเป็นพยานได้ เพื่อพวกตนจะได้ใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะยื่นบัญชีพยานจำเลยขึ้นสู่การพิจารณาของศาลกี่ปาก ต้องขอเวลาปรึกษากันก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังจากชุมนุมต่อสู้จนมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหาร พอใจหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ต้องแยกกัน เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้เป็น กปปส. ต่างคนต่างทำหน้าที่ รัฐบาลชุดนี้มารับช่วงงานต่อ จึงเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่ที่ตนออกมาต่อสู้จนล้มรัฐบาลที่แล้วได้ ถือว่าคุ้ม เพราะถ้าไม่ออกมาต่อสู้ในวันนั้น วันนี้ประเทศคงเป็นเหมือนเดิม ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจมืด ภายใต้การปกครองของรัฐ ที่ไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ประชาชน ชาวนา คงน้ำตาตกใน ประชาชนยังคงไม่ได้ค่าข้าว ชาวนาอาจจะต้องฆ่าตัวตายอีกจำนวนมาก อย่างน้อยที่สุดที่เราได้พบคือได้ผ่านภาวะเลวร้ายทางการเมืองนั้นมา แต่คนไทยทุกคนยังมีพันธกิจหน้าที่ต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอันสมบูรณ์
แหล่งข่าวอัยการกล่าวถึงกรณีกลุ่มแกนนำและแนวร่วม กปปส.อีก 34 ราย ที่ยังไม่มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดีว่า หลังจากที่ผู้ต้องหาทั้ง 34 รายได้มีหนังสือแจ้งขอเลื่อนเข้ามาด้วยหลายเหตุผลแตกต่างกันไป ล่าสุ ด คณะทำงานอัยการที่มีนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานคดี กปปส. ร่วมพิจารณากันแล้วเห็นว่า จะต้องให้ผู้ต้องหายื่นเอกสารมาแสดงเพิ่มเติมชี้แจงเหตุจำเป็นก่อน ดังนั้นจึงแจ้งผู้ต้องหาทั้งหมดต้องยื่นเอกสารเข้ามาเพิ่มโดยไม่ล่าช้า อัยการจะพิจารณาแล้วนัดให้มารายงานตัวเพื่อสั่งคดีทันกับคดีที่ศาลอาญานัดพร้อม 9 แกนนำ กปปส.ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ที่ฟ้องไปแล้ว เพราะคดีเนื้อหาเดียวกัน พยานหลักฐานก้อนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คดีที่ฟ้อง 9 แกนนำนี้จะไม่ขอศาลรวมกับคดีที่ได้ยื่นฟ้อง 4 แนวร่วมที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อปี 2557 เนื่องจากสำนวนนั้นศาลได้สืบพยานโจทก์ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทั่งสิ้นสุดเวลาราชการ 16.30 น. ไม่ปรากฏว่าแกนนำหรือแนวร่วม กปปส.ที่เหลือจำนวน 34 คน จะมาพบอัยการเพื่อฟังคำสั่ง ซึ่งมีรายงานแจ้งในกลุ่มผู้ต้องหาบางส่วนที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลที่ขอเลื่อนนัดแล้ว อัยการได้นัดให้มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ส่วนที่ยังต้องรอเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้นัดรายงานตัวได้พร้อมกันทั้งหมด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |