"บิ๊กตู่" จัดทัพ "ไทยนิยม ยั่งยืน" นั่งเป็นแม่ทัพเอง ระดม รมต. ขรก. ผบ.เหล่าทัพ ขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ จัด "จนท.ความมั่นคง ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา" เข้าทุกหมู่บ้าน ตีปี๊บแก้ 3 ปัญหา ศก. สังคมและความมั่นคง กมธ.เคาะขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วัน ยันมีเหตุผลเพื่อปฏิรูปการเมือง "เทพเทือก" หนุนเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ขอให้บริสุทธิ์ยุติธรรม "เพื่อแม้ว" โวยสุมหัวโกงกฎหมาย ขณะที่สหรัฐจุ้นไทยต้องจัดเลือกตั้งโดยเร็ว
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561 เรื่องแต่งตั้ง "คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.61 ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานที่มีหรือจะมีโครงการ/กิจกรรมลงดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน ใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบลเป็นแกนหลัก และให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงาน สนับสนุนกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามคำสั่งดังกล่าว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) รวมทั้งยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่างๆ โดยมีองค์ประกอบในระดับต่างๆ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโครงการไทยนิยม ยั่งยืน องค์ประกอบมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายวิษณุ เครืองาม, พล.อ.ฉัตรชัย สารกัลยะ รองนายกฯ เป็นรองประธาน ขณะที่กรรมการประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักฯ รมว.การคลัง รมว.การต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.การพัฒนาสังคมฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ทรัพยากรฯ รมว.ดิจิทัลฯ รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.แรงงาน รมว.วัฒนธรรม รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม
รวมถึงผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงอีก 18 กระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รมว.มหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 61 คน
จัด จนท.ลุยทุกหมู่บ้าน
โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการบูรณาการขับเคลื่อนงาน/โครงการของส่วนราชการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ อำนวยการในการพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่ อำนวยการในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน แต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงานในการปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร
นอกจากนี้ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ ให้นายอำเภอทุกอำเภอ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับอำเภอ องค์ประกอบมีนายอำเภอ เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เป็นกรรมการ และหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองที่ทำการอำเภอ รวมถึงพัฒนาอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
โดยมีอำนาจหน้าที่บูรณาการและจัดทำแผนการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในมติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่อำเภอ ขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล
ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ให้นายอำเภอทุกอำเภอ แต่งตั้งทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จำนวน 7-12 คน โดยมีองค์ประกอบคือ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา "เราทำความดี ด้วยหัวใจ" ในพื้นที่ อำนาจหน้าที่ เป็นชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ในการแก้ปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่หมู่บ้าน เป็นชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
อนึ่ง ให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทุกระดับ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายวิทยา ผิวผ่อง ประธาน กมธ.วิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้วาระ 2-3 ในวันที่ 25 ม.ค.
ภายหลังการประชุม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.ยืนยันหลักการตามมาตรา 2 เรื่องการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายให้มีผลเมื่อพ้นจาก 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีการแก้ไขหลักการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 120 วัน ตามกระแสข่าว โดยให้ผู้ที่เสนอขยายเวลาเป็น 120 วัน ไปสงวนคำแปรญัตติต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค. ประเด็นที่คาดว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างมากมี 3 เรื่อง คือ 1.มาตรา 2 เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 90 วัน 2.มาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิการเข้าสมัครรับราชการสังกัดรัฐสภาเป็นเวลา 2 ปีต่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 3.การให้แสดงมหรสพระหว่างการหาเสียงได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าที่ประชุม สนช.จะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันที่ 25 ม.ค.
อ้างเพื่อปฏิรูปการเมือง
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมกำหนดตัวบุคคลทำหน้าที่นำเสนอเหตุผลการแก้ไขกฎหมายในแต่ละมาตรา โดยสรุปจะมีแก้ไขทั้งสิ้น 30 มาตรา การเสนอให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันนั้น ยืนยันว่ามีเหตุผลจริงๆ เป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง แต่ขอติงการนำเสนอข่าวของสื่อที่หลงประเด็นไปตามพรรคการเมือง ที่จ้องโจมตีประเด็นการยื้อเวลาอย่างเดียว แต่ไม่มองเรื่องความพยายามปฏิรูปพรรคการเมืองให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริงในการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค กำหนดตัวผู้สมัครอย่างแท้จริง ตามหลักการไพรมารีโหวต ที่พรรคการเมืองเขาไม่อยากปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของสมาชิกสนช.นั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองเช่น การเปิดประชุมพรรค การทำไพรมารีโหวต การส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ได้ทันตามกรอบเวลา โดยเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ส่วนเสนอให้มีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 120 วัน ตามที่มีผู้สงวนคำแปรญัตตินั้น เริ่มมีสมาชิก สนช.เห็นคล้อยกับแนวทางนี้มากขึ้น เพราะเกรงว่าระยะเวลา 90 วันที่ขยายไปอาจไม่เพียงพอ เพราะขั้นตอนระบบไพรมารีโหวตนั้น พรรคการเมืองต้องใช้เวลาดำเนินการมากในการคัดเลือกผู้สมัครในพื้นที่ จึงควรเผื่อเวลาให้มีมากขึ้นจาก 90 วัน อย่างไรก็ตาม เสียง สนช.ที่สนับสนุนให้ขยายเวลา 90 วัน ยังมีสัดส่วนมากกว่าในระดับหนึ่ง เพราะล่าสุดท่าทีของ คสช.ยังยืนยันให้ขยายเวลาเพียง 90 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจมตีมากไปกว่านี้
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. กล่าวถึงกรณีกมธ.ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีมติขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายไป 90 วันว่า วันที่ 25 ม.ค. สนช.จะพิจารณาเรื่องนี้ และทุกคนรอฟังเหตุผลในการขยายเวลาดังกล่าว ส่วนตัวคิดว่าการขยายเวลา 90 วัน ก็น่าจะพอสมควร กมธ.ให้เหตุผลว่าเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ และจะมีความพร้อมมากขึ้น เป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องตัดสินใจชั่งน้ำหนักดู อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูจากเงื่อนเวลาแล้วอาจจะขยับไปไม่มาก และเป็นไปได้ว่าอาจจะแค่ 1 เดือน เพราะ สนช.ต้องพิจารณากฎหมายให้เสร็จภายในวันที่ 26 ม.ค.นี้ และหากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะแย้งได้ ต้องเป็นประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าประเด็นที่แก้ไข รวมทั้งเรื่องการขยายเวลาไม่ขัดฯ
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 อาจขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายสมคิดกล่าวว่า รัฐธรรมนูญรับรองไว้อยู่แล้วว่าการใช้มาตรา 44 สามารถทำได้ หากไปร้อง เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงยก ดังนั้นไม่ว่าเนื้อหาในมาตรา 44 จะเป็นอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความคุ้มครอง ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลอะไร
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการขยายเวลาบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ขอออกความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของ สนช. ที่จะมีการพิจารณากฎหมายนี้ในวันที่ 25 ม.ค. การทำงานทุกอย่างมีขั้นตอนอยู่แล้ว ทาง สนช.ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการปรับแก้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเข้าที่ประชุมใหญ่มีทางอยู่ 3 ทาง คือ 1.ตามร่างเดิมที่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังมีมติเห็นชอบ 2.ตามที่ กมธ.ฝ่ายข้างมากเสนอให้เลือนการบังใช้กฎหมายออกไป 90 และ 3.ตามที่ฝ่าย กมธ.ฝ่ายข้างน้อยเสนอให้เลื่อนไป 120 วัน ซึ่งก็อาจจะกระทบโรดแมป และอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ 1 เดือน เชื่อว่าทุกคนเข้าใจในส่วนนี้
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยากจะเข้าใจตามที่ คสช. รัฐบาล และ สนช.ชี้แจงการขยายเวลาแบบที่ได้คืบจะเอาศอก สิ่งที่เป็นตัวเร่งในทางลบต่อรัฐบาลนี้ ทำให้ลดความน่าเชื่อถือจากประชาชนคือ การพูดอย่าง ทำอย่าง ซ้ำๆหลายครั้ง ขอให้รัฐบาลพูดความจริงออกมาตรงๆ จะเลื่อนไปกี่วัน และอย่างไร ถ้ามัวโกหกรายวันจะมีแต่ผลลบ ตัวเร่งสำคัญคือปากท้องของพี่น้องประชาชนคนจนจะอดตายกันทั้งประเทศ เป็นปัจจัยลบต่อรัฐบาลนี้อย่างรุนแรง และหยุดโทษนักการเมือง อย่าโทษรัฐบาลก่อน ต้องโทษรัฐบาลนี้ และโทษตัวเองที่ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พี่น้องอยู่ดีกินดีได้ จึงต้องเปิดเผยความจริงออกมาว่ารัฐบาลต้องการอะไรกันแน่ พูดอย่างทำอย่างแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น
สหรัฐจี้เลือกตั้งโดยเร็ว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคเมือง ที่นายสุเทพสนับสนุนให้แก้ไขว่า ตนกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เหมือนบ่อน้ำกับแม่น้ำ ตนไม่วิจารณ์ เพราะลาออกมาแล้ว ส่วนการเลื่อนเลือกตั้งอีก 90 วัน ไม่เป็นไร เลือกตั้งเลือกเมื่อไรก็ได้ แต่ขอให้การเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้คนดีมาทำหน้าที่แทนประชาชน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ ก็ต้องมองด้วยหัวใจที่เป็นธรรม อย่าไปมองด้วยอคติหรือหัวใจที่ทำตัวเป็นฝ่ายค้าน เพราะตนไม่ใช่ฝ่ายค้าน
เมื่อถามต่อว่า หากมีการเลือกตั้ง จะมีตัวแทนของ กปปส.หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีใครตั้งพรรคการเมืองบ้าง ต้องรอให้ถึงเวลา ส่วนตนจะสนับสนุนฝ่ายใดหรือไม่ เมื่อถึงเวลาก็จะบอก ตนเป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผยชัดเจน
วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการเลื่อนระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วันว่า เป็นมติของ กมธ.ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีวาระทางการเมืองแอบแฝง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต และทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจ เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจและอยู่ในตำแหน่งต่อไป ขาดความชอบธรรม และขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดย คสช.ได้ใช้กลไกและเทคนิคหรืออภินิหารทางกฎหมายหลายครั้งที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้องการอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด และมิใช่เป็นการใช้อภินิหารทางกฎหมายเท่านั้น แต่ถือเป็น “การโกงกฎหมาย” ทีเดียว จะทำให้การปลดล็อกพรรคการเมืองเพื่อจัดประชุมใหญ่ต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วันด้วย
"ทำให้ คสช. สนช. รวมถึงองค์กรในเครือข่ายได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และได้รับผลตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินในหลายตำแหน่ง เปิดโอกาสให้หัวหน้า คสช.ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียงล่วงหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ ทำให้กลุ่มการเมืองนี้มีเวลาเตรียมการสำหรับส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งถึงหนึ่งปีเต็ม ขณะที่พรรคการเมืองเดิมยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ การที่หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ต่อประชาชนและนานาชาติและยืนยันคำประกาศดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 การเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไป จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในประเทศ และต่อนานาชาติอย่างมีนัย" แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่นายจินเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า จุดยืนของประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่เปลี่ยนแปลงกรณีการเลือกตั้งในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชนในการจัดให้การเลือกตั้งไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือภายในปีนี้ ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐ รอให้ประเทศไทยคืนสู่วิถีเส้นทางประชาธิปไตย ให้ประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อที่สหรัฐและประเทศไทยกลับคืนความสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์กลับมาดังเดิม รวมทั้งไทยจะกลับมาเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในภูมิภาค.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |