ประชาชาติไม่ผูกติดเพื่อไทย เงื่อนไขหนุนบิ๊กตู่คัมแบ็กคือ?
การเกิดขึ้นของ พรรคประชาชาติ ที่แกนนำผู้จัดตั้งพรรค-ว่าที่กรรมการบริหารพรรค เป็นอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย และหลายคนเป็นอดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ พรรคไทยรักไทย-อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทำให้มีการมองและวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งขึ้นมาตามยุทธศาสตร์การเมืองของเพื่อไทยที่ต้องการให้มีพรรคสาขาไปทำการเมืองและเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เสียงวิจารณ์ดังกล่าว คนในพรรคประชาชาติ นัจมุดดีน อูมา โฆษกพรรคประชาชาติ อดีต ส.ส.นราธิวาส กลุ่มวาดะห์ ย้ำว่าพรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคนอมินี และไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นพรรคการเมืองที่เลือกแนวทางสายกลาง ไม่อยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่ง แต่หากพรรคประชาชาติจะไปร่วมงานการเมืองกับพรรคการเมืองไหน หรือขั้วการเมืองใดหลังการเลือกตั้ง ก็จะต้องมาด้วยระบอบประชาธิปไตย
-หากมีบางพรรคที่ไม่ใช่เพื่อไทย แต่ได้เสียงรองๆ ลงมาแล้วมีการรวมเสียงกันตั้งรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ แล้วได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง แล้วมาทาบทามพรรคประชาชาติ?
ก็ต้องดูที่เงื่อนไข ต้องดูว่าเขาจะให้เราทำอะไร หากเป็นเงื่อนไขที่ดูแล้วเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ เราก็ต้องมานั่งคุยกันว่าการเชิญชวนนั้นพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ การจะให้ตอบตอนนี้มันยังไกลไป แต่หลักเราคือเราเดินสายกลาง เราคือพรรคสายกลาง ไม่ได้เอียงไปทางซ้ายหรือขวา อันนี้พูดด้วยความจริงใจ แต่หากเขาเป็นรัฐบาล มาด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าเขามาทาบทามเรา เราก็ต้องดูว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้มีหรือไม่ อย่างให้เราไปดูแลกระทรวงสาธารณสุข ก็อาจเห็นว่าใครไปเป็นก็ได้ หรือกระทรวงพลังงาน เราก็อาจไม่ถนัด อันนี้ผมสมมุติ แต่หากเขาให้เราดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ แบบนี้ก็ค่อยว่ากัน
-คนมองกันว่าพรรคประชาชาติจะไปทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยตลอด?
ไม่ใช่ ยืนยันแน่นอน ไม่ใช่ ชัดเจน จุดยืนพรรคเราชัดเจนคือเราเป็นกลางทางการเมือง พรรคประชาชาติก็คือพรรคประชาชาติ จุดยืนเราคือประชาธิปไตย และจะมาแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง ก็ดูตัวอย่างที่มาเลเซีย กรณี นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด กับอันวาร์ อิบราฮิม ทะเลาะกันจะเป็นจะตาย แต่ถึงเวลาจะต้องมาแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองก็จับมือกันได้
-หากพลเอกประยุทธ์ลงเล่นการเมืองโดยไปอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคใดพรรคหนึ่ง แล้วหลังเลือกตั้งมีการจับมือกันของพรรคต่างๆ เช่น พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชาติไทย แล้วได้เสียงเกิน 250 เช่น 270 เสียง โดยมาชวนพรรคประชาชาติด้วยจะเอาอย่างไร?
ก็อยู่ในเงื่อนไขที่บอก หากท่านมาจากการเลือกตั้งแล้วได้รับการสนับสนุนจากสภาฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หากเขามาเชิญให้พรรคประชาชาติไปร่วมรัฐบาล เราก็ต้องมาดูเงื่อนไขว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หากเราดูแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้วท่านก็มาด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว อยู่ที่เงื่อนไข แต่จะให้เราประกาศว่าเราจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ในวันนี้เราทำไม่ได้ เพราะต้องให้ผ่านขั้นตอนนี้ไปก่อน อันนี้ยังไกลเกินไป
ถามถึงว่า แต่ท่าทีของหัวหน้าพรรค นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่พูดตอนประชุมจัดตั้งพรรคเมื่อ 1 ก.ย. ที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช.ในเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การปิดกั้นเสรีภาพ หรือเพราะอันนั้นเป็นเรื่องการทำงานของ คสช. โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวตอบว่า ใช่ มันคนละตอน อันนั้นเป็นยุค คสช. และเป็นการปลุกเร้าสมาชิกว่าจุดยืนของพรรคเราคือแบบนี้ แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์มาตามระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนเพื่อตั้งพรรคต่อจากนี้ หลังมีการประชุมใหญ่ของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่ปัตตานีเมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการเลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรคว่า ถึงตอนนี้ความเป็นพรรคประชาชาติยังไม่สมบูรณ์ ตอนนี้อยู่ขั้นตอนจัดเตรียมส่งเอกสารยื่นให้สำนักงาน กกต.เพื่อให้ กกต.อนุมัติการจัดตั้งพรรคประชาชาติ ตอนนี้ยังดำเนินกิจกรรมการเมืองอะไรไม่ได้ ต้องรอ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง เมื่อปลดล็อกแล้วก็จะมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การหาสมาชิกพรรค การตั้งสาขาพรรค การเตรียมทำไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ว่าสุดท้าย คสช.จะมีการทำไพรมารีโหวตด้วยรูปแบบไหน พรรคประชาชาติก็พร้อม โดยเบื้องต้นพรรคคุยกันว่าจะส่งประมาณ 170 เขต จาก 350เขต แต่ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดที่มี 50 เขต จะส่งครบทุกเขต
โดยในภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ที่ กกต.จะกำหนดจำนวน ส.ส.เขตออกมาพบว่า เก้าอี้ ส.ส.ยังคงมีเท่าเดิมคือ 11 ที่นั่ง เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2554
สำหรับยุทธศาสตร์พรรคประชาชาติ เราต้องการ 1 ล้านเสียงจากทั่วประเทศ ซึ่งหากทำได้ตามเป้า พรรคก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วประมาณ 15 คน โดยเป้าหมายที่วางไว้คือ ในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วางไว้ที่น่าจะได้ประมาณ 3 แสนคะแนน ส่วนภาคใต้จังหวัดแถบอันดามัน คือ สตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง ระนอง ก็คาดไว้ที่ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคะแนน ส่วนที่พัทลุง สงขลา ตั้งเป้าไว้ที่ 1 แสนคะแนน ส่วนที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ก็ตั้งเป้าไว้ที่ 7 หมื่นคะแนน รวมๆ แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 6 แสนคะแนน ใน 14 จังหวัดภาคใต้
ส่วนภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ตอนนี้มีคนเห็นด้วยกับนโยบายพรรคเรา แจ้งความจำนงขอลงสมัครประมาณ 40-50 คน เราก็ตั้งเป้า อีสานจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ 250,000 คะแนน นอกนั้นก็เป็นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร รวมกันประมาณ 400,000-450,000 คะแนน โดยในกรุงเทพมหานคร พรรคจะส่งคนลงสมัคร ส.ส.เขตประมาณ 20 เขต โดยนายวรวีร์ มะกูดี หรือบังยี จะเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. ที่จะเน้นในเขตเลือกตั้งรอบนอก เช่น ทุ่งครุ หนองจอก มีนบุรี พระโขนง สวนหลวง เพราะในย่านกลางเมืองในกรุงเทพมหานคร เราคงไปเจาะได้ยาก
นัจมุดดีน กล่าวต่อไปว่า จากเป้าหมายที่พรรควางไว้ดังกล่าวที่ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา บอกว่าพรรคจะได้ 20 ก็เพราะที่ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคประเมินกันว่า เป้าหมาย 1 ล้าน จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 15 ที่นั่ง แต่รวมกับ ส.ส.เขต ก็จะได้ประมาณ 20 ที่นั่ง เพราะในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแกนนำผู้ก่อตั้งพรรคได้เดินสายพบประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อไปเชิญชวนผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันมาจัดตั้งพรรคประชาชาติ พบว่าได้กระแสตอบรับดีเกินคาด เช่น ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีอดีต ส.ส.ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย มีอดีต ส.ว.ปัตตานี ยะลา เห็นด้วยกับแนวทางของพรรค
บางเขตที่เป็นพื้นที่เขตเมือง ก็มีพี่น้องชาวไทยพุทธติดต่อมาต้องการขอลงสมัครในพรรคประชาชาติ ทางพรรคเราก็เปิดโอกาสหมด โดยให้ไปหารือกันเอง เราก็ถามพี่น้องไทยพุทธว่าทำไมสนใจมาลงพรรคประชาชาติ เขาก็บอกว่าเขามีความเชื่อมั่น เพราะเชื่อมั่นในตัวผู้นำพรรค คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อมีตำแหน่งทางการเมืองผ่านตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ประธานรัฐสภา รมว.มหาดไทย-คมนาคม-เกษตรฯ และรองนายกฯ ก็ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย เป็นนักการเมืองที่เป็นหน้าตาของคนภาคใต้ เราถึงมั่นใจว่าพรรคจะได้ ส.ส. 15-20 ที่นั่ง หรืออาจได้มากกว่านั้น
นัจมุดดีน-อดีต ส.ส.นราธิวาส กล่าวถึงกรณีผลการออกเสียงโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตอนทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่าง รธน. ผลประชามติดังกล่าวจะมีผลต่อการหาคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาชาติหรือไม่ ว่า ใน 14 จังหวัดภาคใต้ คะแนนไม่รับร่างมีด้วยกัน 960,000 เสียง ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีไม่รับร่าง รธน.รวมกัน 450,000 เสียง ทั้งหมดมองว่าคงจะนำมาแปรเป็นคะแนนให้กับพรรคประชาชาติ ตอนเลือกตั้งไม่ได้ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรา เพราะพรรคประชาชาติต่อสู้บนหนทางประชาธิปไตย
เชื่อว่า 960,000 เสียง ที่เป็นคนที่หนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีบางส่วน รวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา ก็คงมีบ้างในคะแนนโหวตไม่รับร่างดังกล่าว แต่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นเสียงที่จะมาเป็นของพรรคประชาชาติ โดยกลุ่มดังกล่าวชัดเจนคือ ไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งตรงกับเรา ที่พรรคไม่เอาด้วยกับ รธน.ฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเราไปเห็นด้วยกับเสื้อแดง แต่เราไม่เห็นด้วยใน 2 เงื่อนไข เพราะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและศาสนา ที่ปรากฏในมาตรา 37 มันถูกจำกัด รวมถึงเสรีภาพในการศึกษา ตามมาตรา 54 ก็มีข้อจำกัด
ผมเองเคยไปพบตัวแทนฝ่าย กรธ. คือ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ผมก็ไปบอกว่า หลักการดังกล่าวมีปัญหา หากมีการแก้ไขตอนยกร่างตั้งแต่แรก ผมรับได้ แต่เมื่อสุดท้ายที่ประชุม กรธ.เสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามที่เขียนออกมา ผลก็ออกมาอย่างที่เห็น เมื่อคะแนนโหวตโนไม่รับร่าง รธน.ออกมาดังกล่าว ก็มีผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ที่ตอนนั้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นห่วง ผมก็ไปพบและคุยกับนายกฤษฎา ที่เป็นอดีต ผวจ.ยะลา ที่กระทรวงมหาดไทย ผมก็บอกไปว่าเหตุผลที่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โหวตไม่รับร่าง จาก 2 ประเด็นข้างต้น ก็เสนอไปว่าอยากให้เสนอหัวหน้า คสช.ให้แก้ไข 2 ประเด็นดังกล่าว เพราะหากไม่แก้จะมีผลทางด้านจิตวิทยามาก ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น ที่อดีตปลัดมหาดไทยไปเสนอหัวหน้า คสช.ต่อมาถึงข้อเป็นห่วงดังกล่าว ก็มีประกาศ คสช.แก้ไขออกมา
เป้า 1 ล้านเสียงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์
โฆษกพรรคประชาชาติ ย้ำว่า เป้าหมาย 1 ล้านเสียงเพื่อจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 15 ที่นั่ง พรรคจะทำได้หรือไม่ ก็อยู่ที่การทำงานของคนในพรรคประชาชาติต่อจากนี้ แต่สำหรับ ส.ส.เขต ใน 3 จังหวัดชายแดนที่มี 11 ที่นั่ง พรรคตั้งเป้าไว้ที่ 5-6 ที่นั่ง โดยสภาพการเมืองในพื้นที่เวลานี้ เช่นที่นราธิวาส ในเขตเลือกตั้งของผม ที่ผ่านมามีการสู้กันของ 3 คนมาตลอด คือผม ตั้งแต่สมัยอยู่ความหวังใหม่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และประชาธิปัตย์ กับกูเฮง ยาวอหะซัน ที่อยู่กับพรรคชาติไทย ฯ และเคยมีข่าวว่าจะไปภูมิใจไทย แต่เมื่อตอนนี้มีการตั้งพรรคประชาชาติ เขาก็มาอยู่ด้วยกัน การที่พวกเรามาตั้งพรรคกันเอง หากเราจะเอาทุกตำแหน่งทุกที่ คนอื่นก็ไม่มาอยู่ด้วยกันกับเรา เราสร้างบ้านให้คนอื่นมาอยู่ด้วย อันไหนที่เสียสละได้ ถ้าถอยได้เราก็ต้องถอย
ผมก็คุยกับกูเฮง ยาวอหะซัน ก็ถามเขาว่าจะลง ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อ หากลงบัญชีรายชื่อ อันดับที่เท่าไหร่ในพรรค ตอนนี้ผมยังตอบไม่ได้ แต่รับรองไม่ขี้เหร่แน่นอน คุยกันแล้ว เขาก็บอกว่าขอลง ส.ส.เขต เมื่อเป็นแบบนี้ ผมก็ไปลงบัญชีรายชื่อของพรรคแทน
ภาพรวมในพื้นที่นราธิวาสพบว่า มีพรรคการเมืองเข้าไปทำพื้นที่แล้วหลายพรรค เช่น ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนการแข่งขัน เราก็ต้องรอดูว่าแต่ละพรรคจะส่งใคร ของพรรคก็ให้โอกาสหากจะมีอดีต ส.ส.มาอยู่กับพรรค แต่หากเขาไม่มา เราก็จัดคนลงสู้
ส่วนที่ปัตตานี เดิมเขต 3 อดีต ส.ส. ปี 54 คือ อนุมัติ ซูสารอ ที่เคยอยู่พรรคมาตุภูมิ ขณะที่นิมุคตาร์ วาบา อดีต ส.ส.ปัตตานี ก็อยู่พรรคภูมิใจไทย 2 คนนี้สู้กันเอง ก็แพ้กันแค่หลักพัน แต่วันนี้ทั้ง 2 คนนี้มาอยู่ด้วยกันแล้วที่พรรคประชาชาติ โดยอนุมัติลง ส.ส.เขต และนิมุคตาร์ วาบา ก็ไปขึ้นบัญชีรายชื่อ เท่ากับตอนนี้ก็ 2 เขตแล้ว
ขณะที่ยะลาก็น่าจะได้สัก 2 ที่นั่ง คือเขตของซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส.ยะลา ส่วนอีก 2 เขต พรรคก็จะส่งอดีต ส.ว.ยะลา และอดีตรองนายกฯ อบจ. สำหรับจังหวัดปัตตานีก็มี เช่น ในเขต 4 ก็ส่งนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ อดีต ส.ส.ภูมิใจไทย รวมหมด 3 จังหวัด ก็ประมาณ 5 คนแล้ว พรรคถึงเชื่อว่า ส.ส.เขต น่าจะได้ 5-6 คนเป็นอย่างน้อย
ขณะที่พื้นที่จังหวัดแถบอันดามัน พรรคก็มีการลงพื้นที่แล้ว พบว่ากระแสตอบรับดีมาก ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัว เขาบอกว่าไม่เคยมีที่พรรคไหนจะเปิดกว้าง ใครมาก็ได้ เป็นพรรคที่ทุกคนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน
-คนมองว่าประชาชาติเป็นพรรคสาขาของเพื่อไทย ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์โดยเฉพาะในภาคใต้?
ไม่ใช่ เรายืนยันว่าเราเป็นพรรคของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่พรรคนอมินีของใคร หลักการของเรา เราจะสนับสนุนขั้วอำนาจที่มาด้วยระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หลักการเป็นอย่างนี้ ถ้าใครมาด้วยระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องสนับสนุนคนนั้น
นัจมุดดีน ย้ำต่อว่า พรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาแบบพรรคเฉพาะกิจ เห็นได้จากโครงสร้างพรรค ที่มีทั้งคนรุ่นกลาง และมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเยอะ เพราะเราเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แนวทางที่พรรคเราตั้งไว้ก็คือ การเป็นทางสายกลางในท่ามกลางวิกฤติความขัดแย้งและยืนยันในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตเท่านั้นที่จะมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศไทยได้ อย่างที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย วันนี้ไปไกลแล้ว เพราะเขามีการเลือกตั้งทุกระดับ
-โมเดลที่มาเลเซียก็อาจเกิดขึ้นได้กับการเลือกตั้งที่ไทย?
ก็อาจเกิดขึ้นได้ในรอบนี้ และวันนี้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่มาเลเซียมีผลอิทธิพลสูงมากในภาคใต้วันนี้ทั้งภาคใต้ซีกอันดามันและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนกระบี่ ภูเก็ต พังงา สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่มาเลเซียมาก
โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีเสียงสนับสนุนของคนในพรรคที่เลือก พ.ต.อ.ทวี มาเป็นเลขาธิการพรรคว่า คนชอบพูดกันว่าพรรคประชาชาติเป็นพรรคของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นพรรคที่จะไปเน้นคนที่นับถือศาสนาอิสลาม อันนี้เป็นการยืนยันว่าพรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และก็ไม่ได้เป็นพรรคที่เน้นเฉพาะคนที่นับถือศานาอิสลาม พ.ต.อ.ทวีเป็นไทยพุทธ และเป็นข้าราชการ 1 ใน 2 คน ที่คนมุสลิมให้การนับถือ อีกคนคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลองถามคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ชาวบ้านเอ่ยชื่อถึงก็จะมี 2 คนนี้ พลเอกชวลิต กับ พ.ต.อ.ทวี นี่คือเรื่องจริง เพราะแก้ปัญหาโดนใจชาวบ้าน พ.ต.อ.ทวีก็เสียสละ เพราะยังเหลือชีวิตราชการอีก 2 ปีกว่า ก็ยอมลาออกเพื่อมาทำงานตรงนี้ เป็นไปตามแรงเชียร์ของประชาชน
ผมทำโพลถามประชาชนว่า สมควรมีการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ผลโพล 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยให้ตั้งพรรคการเมือง และเมื่อถามต่อไปว่า ผู้นำพรรคควรมีใครบ้าง ชื่อที่ตอบมาก็มีชื่อท่านวันนอร์ ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อยู่ในอันดับต้นๆ มาตลอด
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา ตอนเริ่มตั้งพรรคประชาชาติ คนในพรรคก็มีการเดินทางไปพบพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่บ้านพัก เพื่อคุยกันเรื่องนี้ โดยพลเอกชวลิตก็ให้กำลังใจ แต่ท่านอายุ 86 ปีแล้ว ก็ไม่ได้สะดวกที่จะมาทำตรงนี้แล้ว เราก็ไปเยี่ยมไปพบท่าน ในฐานะอดีตลูกพรรคเก่าตั้งแต่สมัยพรรคความหวังใหม่ ท่านก็ให้กำลังใจ และเชื่อว่าในการทำงานของพรรคประชาชาติ ก็คงได้อาศัยคำแนะนำจากท่านพลเอกชวลิตต่อไป
นัจมุดดีน-โฆษกพรรคประชาชาติ ยังประเมินสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ดูจากท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แล้วประกาศโรดแมปการเลือกตั้งออกมาชัดเจน คือ 24 ก.พ.2562 แล้วก็มีความพยายามในด้านต่างๆ เช่น การเตรียมกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ ก็เชื่อว่าเมื่อ กกต.มีหลักคิดแบบนี้ ก็น่าจะทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้ แต่ขออย่างเดียว ทางรัฐอย่าไปใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง ควรให้ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบได้ โดยต่อจากนี้ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้ว การปลดล็อก การทำไพรมารีโหวตจะออกมาอย่างไร โดยระบบดังกล่าวมองว่า ทุกพรรคการเมืองก็ต้องเจอปัญหาเหมือนกันหมด ก็คงมีการคลายล็อกในส่วนนี้ ส่วนเลือกตั้งเสร็จแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีความวุ่นวายอะไร เพราะวันนี้กลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กปปส., นปช. ต่างก็เบาบางไปมากแล้ว อีกทั้งต่างก็ได้รับบทเรียนความสูญเสียเชื่อว่า 4 ปีกว่าที่ผ่านมา บทเรียน ประสบการณ์จะเป็นหลักยึดได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรหลังจากนี้
……………………………………
เร่งฟื้นฟูสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดใหญ่-ผอ.เขต กทม.
นัจมุดดีน อูมา-โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวถึงนโยบายของพรรคประชาชาติที่จะใช้ในการหาเสียงว่า หลักๆ ก็มีหลายเรื่องแบ่งเป็นทั้งนโยบายพื้นฐานและนโยบายรวม อย่างนโยบายพื้นฐานก็เน้นเรื่องการยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยจะเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสให้สมาชิก ร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาการเมืองการปกครอง พรรคจะเน้นการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ที่เน้นการเคารพความแตกต่างในชาติพันธุ์ และลดปัญหาความขัดแย้งด้วยหลักยุติธรรมและสันติวิธี
สำหรับนโยบายรวมก็มีหลายด้าน เช่น การบริหารและการปกครอง พรรคจะเน้นการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ โดยพัฒนาให้ อปท.เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการสาธารณะและการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมที่จะกำหนดให้เป็นพื้นที่รูปแบบการปกครองพิเศษ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ขอนแก่น และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ เราก็จะส่งเสริมให้มีการปกครองในรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งของผู้บริหาร กทม.ตั้งแต่ระดับเขต คือให้มีการเลือกตั้ง ผอ.เขตต่างๆ ใน กทม.โดยประชาชนเช่นเดียวกับผู้ว่าฯ กทม.
เขตปกครองพิเศษพรรคเน้นว่า หลักการปกครองตนเองที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ตอาจจะเหมือนกัน แต่พอลงไปดูในพื้นที่สามจังหวัด เป็นพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งในความรู้สึก เราก็ต้องไปถามประชาชนว่าเขาต้องการแบบไหน ภูเก็ตอาจเหมือน กทม.ก็ได้ ก็อาจเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง เพราะเขาพร้อมอยู่แล้ว แต่เราเน้นว่าต้องอยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เพราะพูดตรงๆ เรื่องนี้ ดูแค่ที่อินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมา ทำให้โลกตะลึงว่าประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก 250 ล้านคน จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ได้ดี ผมไปอินโดนีเซียเห็นมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวนมาก ก็พบว่ามีการเลือกตั้งตั้งแต่ระดับนายอำเภอจนถึงผู้ว่าฯ ส่วนที่มาเลเซียซึ่งระบบของเขามีมุขมนตรี โดยแต่ละรัฐจะมีนักการเมืองท้องถิ่นคล้ายๆ กับ ส.จ.ของไทย ที่หากรวมกันแล้วพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ก็จะไปตั้งคนคนหนึ่งเป็นมุขมนตรีของรัฐนั้น
แนวทางของพรรคประชาชาติไม่ใช่การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แต่ให้ใช้กับจังหวัดที่มีความพร้อม เช่นความพร้อมของรายได้ ความพร้อมของประชาชน เชียงใหม่, โคราช, ขอนแก่น, ภูเก็ต และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนกรุงเทพฯ ที่พรรคเสนอให้เลือกตั้งตั้งแต่ระดับ ผอ.เขต แต่พวก ส.ก.และ ส.ข.ก็ยังให้มีอยู่ต่อไป เพราะ ผอ.เขตทุกวันนี้มีการโยกย้ายตลอด โดยที่เขตต่างๆ ใน กทม.มีสภาพแตกต่างจากอำเภอในต่างจังหวัดที่ใช้ระบบนายอำเภอ แต่ ผอ.เขตถือเป็นฝ่ายบริหาร แต่การเป็นข้าราชการมีข้อจำกัดมาก เราก็เสนอให้เลือกตั้ง ผอ.เขต
อีกหนึ่งแนวนโยบายที่น่าสนใจก็คือ นโยบายจะเร่งฟื้นฟูและปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่สภาพเดิม ประเด็นดังกล่าว โฆษกพรรคประชาชาติ เน้นย้ำนโยบายเรื่องนี้ว่าพรรคให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าในประเทศไทยหัวหน้าพรรคประชาชาติมีศักยภาพที่จะทำสิ่งนี้ได้ เพราะท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา นอกจากเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองแล้วยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ที่ผ่านมาที่มีปัญหาคือกรณีเพชรซาอุฯ แต่ก็ยังไม่หนักเท่าเรื่องการฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบียที่เป็นเรื่องใหญ่ แล้วยังมีไปโกหกเขาอีก เรื่องนี้สมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคอยู่กระทรวงยุติธรรม ก็มีความพยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ โดยให้นายวรวีร์ มะกูดี นำทีมฟุตบอลไทยไปแข่งที่ซาอุดีอาระเบีย แล้วก็นำเด็กไทยที่เรียนที่ซาอุฯ มาเตะบอล เป็นการใช้กีฬาเข้ามา หากพรรคประชาชาติได้เป็นรัฐบาลก็เชื่อว่าจากการที่พรรคมีบุคลากรอย่างอาจารย์วันนอร์, พ.ต.อ.ทวี และนายวรวีร์ สามคนนี้จะทำได้มากกว่าพรรคอื่น
เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนผ่านการสร้างความสัมพันธ์ การพูดคุย เราต้องไปพูดตรงไปตรงมากับเขา ว่าขอโทษในสิ่งที่ผิดพลาดไปทั้งหมด ใครจะทำผิดพลาดอะไรไปเราไม่รู้ แต่เราจะไปขอโทษแทนเขา เพราะที่ผ่านมาแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ ร่วม 3-4 แสนคน แล้วซาอุดีอาระเบียต้องการแรงงานไทย วันนี้คนงานฟิลิปปินส์ไปทำงานที่ซาอุฯ ร่วมเจ็ดแสนคน แต่แรงงานไทยไปไม่ได้ แม้ช่วงหลังความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุฯ จะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย เช่นสายการบินของซาอุฯ เริ่มรับส่งคนไปประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว หลังจากที่ห่างหายไปร่วมยี่สิบปี
ยุติธรรมทางเลือก-เจรจาผู้เห็นต่าง
นโยบายแก้ปัญหาภาคใต้
และในฐานะที่เป็นพรรคที่มีอดีต ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งพรรคประชาชาติ สิ่งที่หลายคนอยากรู้กันก็คือ แล้วพรรคประชาชาติจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เรื่องนี้ นัจมุดดีน อูมา-อดีต ส.ส.นราธิวาส กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวอยู่ในนโยบายการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศที่มีสองด้าน ด้านแรกคือเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ เราขอประกาศว่าเราเป็นกลางทางการเมือง เราไม่ได้อยู่ข้างใดข้างหนึ่งที่มีความขัดแย้ง เราจะฟื้นฟูสถาบันและกลไกในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคการเมือง รัฐสภาให้กลับมาทำหน้าที่ในการคลี่คลายวิกฤติของประเทศบนพื้นฐานของความเป็นธรรม
และเรื่องที่สองเป็นเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคมีนโยบายหลักในเรื่องนี้ 6 ด้านใหญ่ๆ เช่น 1.ให้ยุติธรรมความไม่สงบที่เกิดขึ้นโดยเร็ว 2.ขจัดความรู้สึกหวาดระแวง อคติ และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน 3.ลดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน
4.ปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับในพื้นที่ เช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายในหมู่บ้าน และสังคมเมืองให้ใช้กำลังตำรวจและพลเรือนดูแลความสงบและความปลอดภัย ตามอำนาจหน้าที่ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการอำนวยความเป็นธรรม 6.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเรือนจำ ทัณฑสถาน ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามหลักปฏิบัติทางศาสนา อาทิ ให้ผู้ต้องขังสามารถปฏิบัติภารกิจและการแต่งกาย การจัดอาหารให้ด้วยความเป็นธรรมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ การแก้ปัญหาภาคใต้จะต้องมีนโยบายด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การศึกษา การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น
“พรรคจะชูแนวทางสันติวิธี การพูดคุยกับผู้เห็นต่าง แสวงหาทางออกโดยใช้หลักสันติวิธี หลักการมีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะเราก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าหากเราไม่เปิดใจกว้าง โอกาสที่จะแสวงหาความจริงคงยาก”
นอกจากนี้จะสนับสนุนแนวทางยุติธรรมทางเลือก เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากเราใช้กระบวนการปกติจะไปแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จไม่ได้ เพราะเป็นที่ระบบ กฎหมาย อย่างโครงการพาคนกลับบ้านถามว่าดีหรือไม่-ก็ดี แต่เราจะส่งเสริมให้ดีกว่านี้ คนมาเข้าร่วมกับโครงการพาคนกลับบ้าน แต่เขามีคดีอยู่จะทำอย่างไร หากเราใช้ยุติธรรมปกติแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ต้องใช้ยุติธรรมทางเลือก เช่นในกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจการสั่งคดีของอัยการ ที่มีการเขียนไว้ว่าสามารถยุติคดีได้
-แนวทางการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เช่น มาราปาตานี และตอนนี้รัฐบาล คสช.ก็กำลังทำ ทางพรรคจะทำอย่างไร ?
เราจะสานต่ออยู่แล้ว ส่วนจะเข้มข้นแค่ไหนก็อยู่ที่โอกาสที่เราจะได้รับจากประชาชน ผมเชื่อว่า ความเชื่อมั่นที่เราเคยทำในอดีต เป็นสัญญาประการหนึ่งอย่าง พ.ต.อ.ทวี ที่เคยเป็นอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.มาร่วมสองปีกว่า คนเห็นหน้า พ.ต.อ.ทวีก็รู้ว่าคือสันติภาพสันติวิธี เราไม่ได้ใช้หลักความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา กฎหมายบางฉบับที่มีปัญหาเราก็ต้องทบทวน อย่างกฎหมายเรื่องการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ ก็ควรต้องใช้คนในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนพวกกฎอัยการศึก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องมาดูกันว่ากฎหมายเหล่านี้ส่วนไหนบ้างที่เป็นอุปสรรค ก็ต้องมาคุยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องปัญหาความมั่นคง เราก็ต้องฟังความเห็นของฝ่ายความมั่นคงประกอบอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหา แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอความเห็นด้วย
เพราะทุกวันนี้โอกาสที่ประชาชนจะได้เข้ามานำเสนอความเห็นและนำไปสู่การปฏิบัติยังมีน้อย ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้ที่อยู่ในยุค คสช. สถิติการก่อเหตุลดลง เราไม่ปฏิเสธ แต่ปัญหาความรู้สึกลึกๆ ก็ยังมีอยู่ สิ่งที่ คสช.ทำดีเราก็ต้องสนับสนุน อย่างเรื่องแนวทางการพูดคุย ก็เริ่มสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มายุค คสช.ก็ยังมีการสานต่อ ซึ่งหากพรรคมีอำนาจเราก็พร้อมจะทำต่อไป สานต่อไป ก็เชื่อว่าหากพรรคประชาชาติได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลปัญหาในพื้นที่จะดีขึ้น เพราะวันนี้ประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความหวาดระแวงและรัฐเองก็ยังมีอคติกับประชาชน
โดยสถานการณ์ในพื้นที่เวลานี้ประชาชนก็มีความลำบาก ไม่ใช่ว่าเรามาด่าเล่นๆ คนไม่มีเงินจริงๆ คนใต้อยู่ด้วยยางพารา ผลิตผลการเกษตร ปาล์มน้ำมัน ถ้าพืชเศรษฐกิจราคาตกต่ำ คนก็ไม่มีเงิน โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การท่องเที่ยวก็แย่
โฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้พรรคก็มีแนวนโยบายด้านอื่นๆ เช่น ด้านต่างประเทศที่เน้นสามด้าน เช่น จะเน้นการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน เช่นเขตวัฒนธรรมลายู ที่ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมถึงกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และจีน
สำหรับนโยบายด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เราจะปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นไม่สอดคล้องกับสภาพของบ้านเมือง โดยให้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาและปฏิรูปกฎหมาย เช่น ส่งเสริมให้มีสำนักงานกฤษฎีกาประจำจังหวัดหรือท้องถิ่นบางแห่งที่มีความจำเป็น และให้มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีตัวแทนจากภาควิชาชีพและมีความยึดโยงกับประชาชน และเห็นว่าควรปรับปรุงและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ กรมบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจก็จะให้มีการยกเลิกกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนที่มีรายได้และกำไรที่มากเกินควร-จัดให้มีสาธารณสุขและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน-ส่งเสริมการค้าขายตามแนวชายแดน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจตามฐานคุณธรรม โดยส่งเสริมการสร้างกองทุนสวัสดิการเพื่อสังคมในระดับหมู่บ้านและชุมชน และให้ดำเนินงานอย่างเสมอภาค โดยเน้นหนึ่งอำเภอ หนึ่งอุตสาหกรรม ขณะที่เรื่องที่ดินจะให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยให้มีการปฏิรูปที่ดิน แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงในเรื่องที่ดินทำกิน ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน-ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานให้คุ้มค่าและยั่งยืน
ส่วนด้านสังคมก็มีนโยบาย อาทิ ด้านการศึกษา เน้นเรื่องสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานและเสรีภาพส่วนบุคคล และสนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย จะส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะการพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งกองทุนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เสมอภาคและเป็นธรรม ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรูปแบบการศึกษาเป็นแบบพิเศษ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีค่าตอบแทนครูสอนศาสนาในทุกศาสนา ส่วนกลุ่มสตรี เราจะส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ จะให้มีสถาบันพัฒนาสตรี ครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น และให้เพิ่มศักยภาพกองทุนพัฒนาสตรีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ขณะที่นโยบายด้านศาสนา พรรคจะส่งเสริมและสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน เน้นความเป็นพหุวัฒนธรรมในทางศาสนาและจิตวิญญาณ กรณีศาสนาอิสลาม กรรมการอิสลามประจำมัสยิดและกรรมการประจำจังหวัด ตลอดจนบุคลากรอื่นๆ จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีกิจกรรมข้ามวัฒนธรรมระหว่างศาสนิก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และจะปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล ในกรณีการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน เช่นหากเป็นคดีมรดก ถ้าคนนับถือศาสนาอิสลามมีข้อพิพาทระหว่างกัน เราจะใช้หลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก แต่หากคู่พิพาทคนหนึ่งเป็นพุทธและอีกฝ่ายเป็นอิสลามจะใช้หลักนี้ไม่ได้ ต้องเฉพาะที่คู่กรณีนับถือศาสนาอิสลามแล้วมีข้อขัดแย้งกันต้องใช้หลักทางกฎหมายอิสลาม
ยกตัวอย่างหากเป็นเรื่อง มรดก ฝ่ายชายสองส่วน ผู้หญิงหนึ่งส่วน หากหย่าร้าง หลักของศาสนาอิสลามบอกว่าถ้าสามีพูดว่าฉันหย่าภรรยาแล้ว มีพยานสองคนได้ยินถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ากฎหมายไทย-ไม่ได้ ต้องไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอ ซึ่งคนเรียกร้องมากเรื่องนี้ เราก็บอกว่าหากเรามีโอกาสในอนาคต เราก็จะขยายฐานกฎหมายนี้ในเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีคนมุสลิมอยู่มาก เช่น นนทบุรี หากเขาอยากให้ใช้หลักนี้ด้วยเราก็จะขยายให้ แต่หากเขาไม่อยากได้ก็ไม่ต้อง เพราะคนนครศรีธรรมราชถามผมว่า กฎหมายแพ่งครอบครองมรดกจะขยายมาที่นครศรีธรรมราชได้เมื่อใด ผมก็บอกว่าผมขยายให้ไม่ได้ ต้องออกเป็นกฎหมาย เลยนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบายพรรคด้วย
ด้านนโยบายที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติจัดให้มีแผนการบริหารทรัพยากรน้ำ และจะให้มีการปฏิรูปกฎหมายประมงให้เป็นธรรม ปรับปรุงเรื่องการประมงเพื่อการพาณิชย์ให้มีความยั่งยืน เป็นต้น.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
.......................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |