ออกกำลังกาย เพื่ออายุยืนยาวและเป็นสุข


เพิ่มเพื่อน    

            ทุกวันนี้ผู้ใหญ่กว่า 1,400 ล้านคนทั่วโลกเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงเพราะใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ออกกำลังน้อย เมื่อป่วยแล้วจะส่งผลต่อสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ

            องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นการออกกำลังกายแบบไม่ใช้แรงมาก เช่น เดินเร็ว (brisk walking) ว่ายน้ำ และออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 75 นาทีถ้าเป็นแบบใช้แรงมาก เช่น วิ่ง กีฬาที่เล่นเป็นทีม

            งานวิจัยที่สำรวจ 168 ประเทศพบว่า แม้หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรส่งเสริมสุขภาพต่างๆ พยายามชี้ชวนให้คนออกกำลังกาย แต่สถานการณ์โดยรวมไม่ดีขึ้น คนส่วนใหญ่ยังใช้แรงหรือมีกิจกรรมทางกายในระดับเท่าสมัยปี 2001 ประชากรราว 1,400 ล้านคน (27.5 เปอร์เซ็นต์ อายุ 18 ปีขึ้นไป) หรือราว 1 ใน 4 ของโลกจึงอยู่ในภาวะออกกำลังกายน้อยเกินไป

            องค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ออกกำลังกายน้อยได้ให้ร้อยละ 10 ภายในปี 2025 รายงานล่าสุดบ่งชี้ว่าไม่เป็นไปตามแผน เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลกต้องออกโรงเตือนอีกครั้ง

            ข้อแนะนำคือ องค์กรและรัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มนโยบาย เพิ่มมาตรการกระตุ้นให้คนออกกำลังกายมากกว่านี้

ฆาตกรเงียบ :

            การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายออกแรงน้อยเปรียบเสมือนฆาตกรเงียบ เสี่ยงทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันสูง เป็นโรคเบาหวาน มะเร็งเต้านมและลำไส้

กลุ่มเสี่ยงมักเป็นพวกผู้มีฐานะดีและขาดออกกำลังกาย ใช้ชีวิตที่มักอยู่ในอาคาร นั่งทำงานในออฟฟิศ กินอาหารที่มีแคลอรี่สูง เดินทางโดยรถ ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง

ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าประชากรกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงเป็นปัญหามากที่สุด ส่วนกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มคนขาดออกกำลังกาย ใช้แรงน้อยลงมากที่สุดคือแถบประเทศเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานการณ์ของจีนที่หลายคนมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีผลต่อสถิติ

            ผู้หญิงมักใช้แรงน้อยกว่าชาย (โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) หญิงกลุ่มเสี่ยงคือพวกอยู่แต่ในบ้าน จัดการดูแลเรื่องภายในบ้านโดยมีเครื่องทุ่นแรงจำนวนมาก เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้านจาน เครื่องทำความสะอาดพื้น แม้จะบอกว่าดูแลงานบ้านมากมาย การทำงานบ้านถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกาย แต่กิจกรรมที่ทำใช้แรงน้อยเกินไป

            4 ประเทศที่ประชากรเสี่ยงมากที่สุดคือ คูเวต อเมริกันซามัว (American Samoa – เกาะแห่งหนึ่งในแปซิฟิก) ซาอุดิอาระเบียและอิรัก ประชากรกว่าครึ่งขาดการออกกำลังกาย (เฉพาะคูเวตสูงถึงร้อยละ 67)

            ประเทศที่คนออกกำลังน้อยลงและน่าเป็นห่วงคือ เยอรมนี นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา

คนไทยร้อยละ 24.6 อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แยกเป็นเพศหญิงร้อยละ 21.8 ชาย 27.2

            การเพิ่มกิจกรรมทางร่างกายทำได้หลายวิธี แนะนำให้เลือกวิธีที่เหมาะสม ตั้งแต่การเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา แอโรบิค โยคะ แม้กระทั่งทำสวน

ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลหรือครอบครัวเท่านั้น :

            เราอาจแบ่งการใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเวลาอยู่บ้าน เดินทาง และเวลาทำงาน (หรือเรียน) ในหลายประเทศทั้ง 3 ช่วงต่างมีเครื่องมืออุปกรณ์ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย ออกแรงน้อย สมัยก่อนต้องหาบน้ำมาใช้ในบ้าน ต้องตัดฟืน ปัจจุบันกลายเป็นเปิดก๊อกน้ำเสียบปลั๊กไฟ ในอดีตต้องเดินไปทำงานหลายกิโล กลายเป็นโดยสารรถสาธารณะ ใช้รถส่วนตัว เมื่อถึงที่ทำงานหรือห้องเรียน หลายคนทำงานโดยท่านั่งหลายชั่วโมง

            เหล่านี้คนจึงออกแรงน้อยกว่าอดีต แม้บริโภคอาหารเท่าเดิมย่อมทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เสี่ยงเป็นโรคมากขึ้น

การเจ็บป่วยที่เอ่ยถึงไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือครอบครัวเท่านั้น ควรมองว่าเป็นประเด็นระดับประเทศและโลก เป็นวาระแห่งชาติส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีอายุยืนยาวด้วยการออกกำลังกาย ทุกคนดูแลสุขภาพตนเอง รัฐบาลหรือชุมชนควรมีมาตรการส่งเสริมให้คนดูแลรักษาสุขภาพในทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น

ข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลกคือ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันๆ ละ 30 นาที ทำให้ได้สัปดาห์ละ 5 วัน เวลาครึ่งชั่วโมงจึงไม่ยาวแต่ต้องทำสม่ำเสมอ การส่งเสริมให้คนออกกำลังกายจึงต้องทำให้พวกเขามีนิสัยออกกำลังกายเป็นประจำ บางบริษัท สถานศึกษาบางแห่งมีกิจกรรมออกกำลังกายทุกเช้าหรือเย็น เป็นตัวอย่างที่ดี ในครอบครัวควรมีการพูดเรื่องดูแลสุขภาพ และร่วมกันออกกำลังกายทั้งครอบครัว

            ประชากรที่มีคุณภาพต้องมีสุขภาพดีด้วย ยกตัวอย่าง ประเทศไม่ต้องการนักเรียนนักศึกษาที่เรียนดีแต่สุขภาพแย่ เริ่มเจ็บป่วยเรื้อรังก่อนวัยอันควร เป็นภาระแก่สังคมประเทศชาติในยามที่พวกเขาควรเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ควรมีมาตรการส่งเสริม เช่น มีคะแนนสำหรับสุขภาพดี สนับสนุนให้คนพยายามรักษาสุขภาพ บริษัทน้อยใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรมีกิจกรรมให้พนักงานลูกจ้างได้ออกกำลังกายทุกวัน

            มีข้อมูลว่าปี 2010 ชาวอเมริกัน 26 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน และอีก 79 ล้านคนเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานอย่างมาก ปี 2007 สังคมต้องเสียเงินราว 218,000 ล้านดอลลาร์ (7 ล้านล้านบาท - งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ของไทยอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท) สำหรับผู้ป่วยและการป้องกันโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนตาบอด ป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย และอีกราว 65,000 คนที่ต้องตัดขาทิ้งทุกปี ที่สุดแล้วผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2 ใน 3 จะจบชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

            บางคนคิดว่าหากเจ็บป่วยแล้วสามารถรักษาฟรี ความจริงคือไม่มีอะไรฟรี ค่ารักษาพยาบาลที่รัฐใช้มาจากเงินภาษี หากต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม มีตึกมีเตียงผู้ป่วยเพิ่ม มีแพทย์พยาบาล ยารักษาโรคต่างๆ ล้วนต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น จะดีกว่าหรือไม่หากนำเงินเหล่านี้ไปใช้ในทางอื่นที่เป็นประโยชน์

            ดังข้อมูลข้างต้น ถ้าสังคมอเมริกันดูแลสุขภาพมากกว่านี้ เพียงแค่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้สักร้อยละ 10 เท่ากับประหยัดได้ถึง 700,000 ล้านบาทต่อปี นี่เฉพาะโรคเบาหวานเท่านั้น

สังคมที่คำนึงสุขภาพรอบด้านครบทุกมิติ :

            รายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับนี้มุ่งประเด็นออกกำลังกาย เพื่อให้ประชากรโลกมีสุขภาพดี ถ้ามองอย่างรอบด้านครบมิติจำต้องคำนึงเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพอื่นๆ ด้วย เช่น สังคมต้องลดละเลิกบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมอาหารที่บำรุงสุขภาพ ไม่ส่งเสริมการขายอาหารที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น องค์การอนามัยโลกเสนอจำกัดการบริโภคน้ำตาล สังคมก็ควรดำเนินตามนั้น เพียงแค่รู้แต่ไม่ทำตามย่อมไร้ผล และอาจถูกตีความว่าละเลยต่อบทบาทหน้าที่

            ร่างกายคนเราเมื่อถึงเวลาหนึ่งจะเริ่มเสื่อมถอยเหมือนรถยนต์ที่มีอายุใช้งาน แต่เราสามารถขยายช่วงเวลาที่มีสุขภาพดีด้วยการถนอมร่างกายเหมือนใช้รถอย่างทะนุถนอม หนึ่งในวิธีนั้นคือด้วยการออกกำลังกายอย่างเพียงพอและเหมาะสม

            สุขภาพกายที่ดีหมายถึงสามารถใช้ชีวิตอย่างคนปกติ อย่างที่เราคาดหวัง สามารถทำสิ่งดีต่างๆ ที่ต้องการ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคนรอบกาย ในทางตรงข้ามเมื่อเจ็บป่วยย่อมไม่อาจใช้ชีวิตอย่างคนปกติ ความสามารถทางกายทางสมองลดลง เป็นภาระต่อครอบครัว สังคมประเทศชาติ

            การรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลเท่านั้น ควรเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของความเป็นครอบครัว ทุกคนในครอบครัวต้องส่งเสริมให้สมาชิกมีสุขภาพแข็งแรง สังคมต้องมีแนวคิดการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้านครบทุกมิติ เพราะสุขภาพดีมาจากหลายเหตุปัจจัย การออกกำลังกายเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น

การสร้างคนสร้างชาติต้องยึดหลักองค์รวม ไม่อาจคิดแบบแยกส่วน ต่างฝ่ายต่างคิด ต่างฝ่ายต่างทำ ทำอย่างไรจึงจะทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะทำ ตั้งแต่ระดับส่วนตัว ครอบครัว จนถึงระดับประเทศและโลก.

ภาพ : วิ่งออกกำลังกาย

ที่มา : https://unsplash.com/search/photos/running?modal=%7B%22userId%22%3A%22w1kr-Y4GNJ4%22%2C%22tag%22%3A%22CreditBadge%22%7D


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"