ไทย-ลาวนับแสนร่วมงาน อัญเชิญพระอุปคุตจากโขง


เพิ่มเพื่อน    

ชาวไทย-ลาวนับแสนคนร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมน้ำโขงนำไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุพนมฯ ถือเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม
    เช้าวันที่ 24 มกราคมนี้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณด่านศุลกากร จุดผ่อนปรนไทย-ลาว หน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 และกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมด้วย พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ส่วนฝ่ายฆราวาสมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พล.ท.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาคที่ 2 และหัวหน้าส่วนราชการ นำพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย ลาว นับแสนคน ตลอดจน "ข้าโอกาส" พระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขง โดยจะแห่ไปตามถนนกุศลรัษฎากร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนมฯ ซึ่งเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
    พิธีเริ่มตามฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา จากนั้น ผวจ.นครพนมกล่าวคำอัญเชิญพระอุปคุต โดยมีผู้ดำน้ำลงไปอัญเชิญ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย พล.ต.สมชาย ครรภาฉาย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.นครพนม พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล ผบก.ภ.จว.นครพนม และนายอติชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม เพื่อนำมาส่งให้แก่ ผวจ.นครพนมที่ยืนรออยู่บนปะรำพิธี 
    พิธีสำคัญนี้จะจัดขึ้นทุกปีก่อนเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนม หรืองานบุญเดือนสาม เพื่ออาราธนาขอให้พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้มีฤทธานุภาพมาก ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช หรือหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 200 ปี ตำนานเล่าว่าเป็นพระที่ถือศีลปฏิบัติธรรมใต้บาดาล หรือสะดือทะเล การอัญเชิญสมมุติว่าแม่น้ำโขงคือสะดือทะเลที่พระอุปคุตจำศีลภาวนา มาช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษา ปกป้องภยันตรายไม่ให้เกิดขึ้น จนกว่างานนมัสการองค์พระธาตุพนมจะสำเร็จลุล่วงตลอด 9 วัน 9 คืน ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดกำหนดจัดงานนมัสการขึ้นระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-1 ก.พ. ในริ้วขบวนแห่ถนนกุศลรัษฎากร เนืองแน่นด้วยเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและต่างประเทศ โรยดอกไม้หอมตลอดเส้นทางการอัญเชิญ
    ส่วนในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. เป็นพิธีเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมอย่างเป็นทางการ พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครพนม นำประกอบพิธีสักการบูชา เวียนเทียนองค์พระธาตุพนม นายสมชาย ผวจ.นครพนม รับฟังการกล่าวรายงานจากนายอภิชาต อุณหเลขกะ นายอำเภอธาตุพนม จากนั้นชมรำตำนานพระธาตุพนม ที่ปรับปรุงมาจากการฟ้อนรำแห่กองบุญ ในเทศกาลงานนมัสการพระธาตุพนม โดยนำเอาบทสวดสดุดีองค์พระธาตุพนม ทำนองสรภัญญะ มาประกอบกับวงดนตรีมโหรี ซึ่งกล่าวถึงตำนานและความพิสดารขององค์พระธาตุพนม การรำชุดนี้แสดงครั้งแรกในงานสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ พ.ศ.2522 ถือเป็นเอกลักษณ์ใช้รำเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมทุกครั้งจนถึงปัจจุบัน ภายหลังได้นำมารำบูชาพระธาตุพนม ในงานประเพณีไหลเรือไฟของจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา
    พระธาตุพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.8 มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ภายในมีการบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ไว้เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และคนที่เกิดปีวอก ซึ่งงานนมัสการองค์พระธาตุพนมถือเป็นประเพณีสำคัญสืบทอดมาอย่างยาวนานแต่โบราณกาล โดยชาวพุทธในภาคอีสานของประเทศไทยและชาวลาวเชื่อถือสืบกันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุพนม ถวายเครื่องสักการบูชาหน้าองค์พระธาตุด้วยตนเองแล้ว จิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ ชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรีอีกด้วย ทำให้ทุกปีจะมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศของไทยและเทศต่างดั้นด้นเดินทางกันมาร่วมพิธีมากมายนับแสนคน จัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
    ส่วนคำว่า "ข้าโอกาส” กล่าวกันว่าเกิดขึ้นในสมัยเจ้าพระยาสุมิตตธรรมวงศา ผู้ครองเมืองมรุกขนคร ประมาณ พ.ศ.500 ทรงมีความเสื่อมใสศรัทธาต่อพระธาตุพนม จึงเกณฑ์ไพร่พลร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จ จึงเกิดคำว่า "ข้าโอกาส” เป็นข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม ติดปากมาถึงปัจจุบัน เขตที่อยู่ของข้าโอกาสพระธาตุพนม คือพื้นที่ อ.ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จ.นครพนม และ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร พื้นเพเป็นชาติพันธุ์ไทย-ลาว ผู้ไทย (ภูไท) อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีองค์พระธาตุพนมเป็นศูนย์กลาง ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ยึดถือประเพณีตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส มีประเพณีเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ พิธีถวายข้าวพีชภาค คือผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด กล้วย อ้อย และผลผลิตที่ได้จากที่ดินของวัด เรียกว่า "นาจังหัน (ที่ดินที่มีผู้ถวายให้กับวัด)” พิธีเลี้ยงผีเจ้า 3 เรือน มีความเชื่อในเรื่องบาป บุญ สิ่งเหนือธรรมชาติ ทำหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนมด้วยการถวายทาน และจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลตามวันสำคัญทางศาสนา 
    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาส ข้าโอกาสก็จางหายไป แต่ยังมีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าข้าโอกาส นำข้าวพีชภาคมาถวายแด่องค์พระธาตุพนมทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและศรัทธาของคนในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งไทยและลาว โดยยึดองค์พระธาตุพนมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ยึดเหนี่ยวจิตใจคนสองฟากฝั่งตลอดมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"