"กรมอุตุฯ" ประกาศเตือนทั่วประเทศรับมือฝนตกหนัก 7-10 ก.ย.นี้ "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" ห่วง รพ.อภัยภูเบศรจมน้ำ หลังแม่น้ำปราจีนบุรีรับน้ำจากเขาใหญ่ สั่งพื้นที่เร่งเสริมกระสอบทรายเสริมคันกั้นน้ำ พร้อมเริ่มแผนปรับลดระบายน้ำในอ่างเหนือ-อีสานเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง "กนอ." เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 นิคมฯ ใหญ่ใน จ.อยุธยา
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่อง "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 10 ก.ย.2561)" ระบุว่า ในช่วงวันที่ 7-10 ก.ย.2561 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะแรก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มไว้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่ามีผลกระทบตามภาคต่างๆ มีดังนี้ วันที่ 7 ก.ย.2561 ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร
ช่วงวันที่ 8-9 ก.ย.2561 ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ, ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต
รับมือฝนหนักทั่ว ปท.
วันที่ 10 ก.ย.2561 ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม, ภาคกลาง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้
ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า ภาวะฝนที่ตกหนักคาดจะส่งผลดีต่อเขื่อนหลายแห่งที่ยังมีน้ำปริมาณน้อย ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากอยู่แล้วได้เตรียมแผนในการพร่องน้ำต่อเนื่องไว้แล้ว โดยเบื้องต้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้วางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างฯ ทุกขนาด ตามการคาดการณ์ที่ปริมาณน้ำฝนที่มีแนวโน้มลดลงในเดือน ก.ย.-ต.ค.61 เพื่อเก็บกักน้ำให้พอเพียงในฤดูแล้ง โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 60% ของความจุ ต้องวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำ โดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะที่พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้ติดตามการพยากรณ์อากาศในช่วง ก.ย.นี้ เพื่อวางแผนปรับการระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก
นายสำเริงกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันตก ใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์, วชิราลงกรณ, แก่งกระจาน และปราณบุรี ยังคงต้องเร่งการพร่องน้ำ ตามการคาดการณ์ฝนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และรองรับฝนตามฤดูกาลในปลายเดือน ก.ย.-ต.ค.61 โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ หรือหากมีต้องเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
"ในสัปดาห์หน้าแนวร่องฝนเลื่อนลงจากตอนบน มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงวิกฤติน้ำท่วม จ.ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร นครพนม ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน เร่งพร่องน้ำลงแม่น้ำโขง ส่วนแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ แม่กลอง เร่งระบายน้ำออกทะเล จ.สมุทรสงคราม สำหรับแม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก รับน้ำจากเขาใหญ่ ส่งผลบริเวณ อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้พื้นที่เร่งเสริมกระสอบทรายเสริมคันกันน้ำ ให้สำรวจหาแก้มลิงบริเวณทุ่งบางพวง จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่กว่าแสนไร่รองรับน้ำ พร้อมผลักดันน้ำออกทะเลผ่านแม่น้ำบางปะกง รวมทั้ง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำ จ.นครนายก ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น และพื้นที่เหนือตอนล่าง แม่น้ำเข็ก จ.พิษณุโลก" นายสำเริงกล่าว
ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาได้ลดการระบายน้ำลงให้สอดคล้องกับการลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งนี้ กรมชลประทานจะควบคุมอัตราการระบายให้อยู่ที่ 650 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันอัตราการระบายอยู่ที่ 771 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายน้ำได้รับผลกระทบน้อยลงด้วย
ที่ จ.ปราจีนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำป่าหลากท่วมอำเภอประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เริ่มคลี่คลาย บางพื้นที่น้ำค่อยๆ ลดลง และไม่มีฝนตก ขณะที่การสัญจรหลายเส้นทางยังต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากมีน้ำท่วมขัง เช่น ถนนสายสุวรรณศร หมายเลข 33 กิโลเมตรที่ 170-171 แยกห้วยขื่อ ต.โพธิ์งาม ระดับน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะทางยาว 400 เมตร ส่วนถนนปราจีนตคาม เส้นทางเข้าตัวเมืองปราจีนบุรี น้ำท่วมประมาณ 10-15 เซนติเมตร ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลประจันตคาม มีน้ำไหลเข้าบริเวณลานจอดรถประมาณ 10 ซม. แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารการจัดการและการรองรับผู้ป่วย
เฝ้าระวัง 3 นิคมฯ กรุงเก่า
จ.อ่างทอง ชาวบ้านเร่งทำสะพานเข้า-ออกจากบ้าน และย้ายกระชังปลาเข้าริมตลิ่ง หลังระดับน้ำในแม่น้ำน้อยเริ่มเอ่อล้นตลิ่งขยายวงกว้าง ในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยแม่น้ำน้อย ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น มีบ้านเรือนหลายหลังพบมีน้ำท่วมใต้ถุนบ้านเรือนสูงกว่า 50 เซนติเมตร จำเป็นต้องทำสะพานเพื่อใช้เป็นทางเดินเข้า-ออกบ้าน และใช้เรือเป็นยานพาหนะ
จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (สายงานปฏิบัติการ 1) กล่าวว่า กนอ.ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการเกิดอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยสูง
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการไปยัง 3 นิคมฯ รวมถึงนิคมฯ อื่นๆ ให้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและการติดตามสถานการณ์ประจำวันแล้ว เช่น การตรวจสอบระดับน้ำในคลองรอบนิคมฯ ตรวจสอบและซ่อมแซมเขื่อน/คันดินรอบนิคมฯ รวมถึงให้ติดตามข่าวสารและข้อมูลพยากรณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระดับน้ำทะเลหนุนของกรมอุทกศาสตร์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รวมถึงการเตรียมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดอุทกภัย
รองผู้ว่าฯ กนอ.กล่าวว่า สถานการณ์น้ำนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก และเขื่อนพระรามหก ยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราการระบายน้ำรวมทั้ง 3 เขื่อนเท่ากับ 1,729 ลูกบาศก์เมตร/วินาที มีการก่อสร้างเป็นแนวคันดินแบบผสมผสาน ระดับของคันดินอยู่ที่ +7.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (MSL) รวมความยาวเขื่อน 7 กิโลเมตร
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโครงการนิคมฯ บางปะอิน โดยตรวจเช็กระดับน้ำ บริเวณจุดวัดระดับน้ำด้านนอกนิคมฯ ที่กำหนดเป็นจุดเฝ้าระวัง 3 จุด ได้แก่ จุดวัดระดับน้ำหน้าอำเภอบางปะอิน (หลังเก่า) ประตูน้ำคลองจิก และประตูน้ำคลองเปรมประชากร ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มติดตามเฝ้าระวังระดับน้ำมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเกณฑ์เฝ้าระวังพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ
ด้านนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ได้จัดระบบติดตามสถานการณ์น้ำ ระบบระวังน้ำภายนอกและระบบแจ้งเตือนภัย โดยได้ติดตาม ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก พบเกณฑ์การเฝ้าระวังทั้งหมดยังอยู่ในระดับปกติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |