แม้รณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ทว่าภาพของยาเสพติดในโรงเรียนก็ยังมีให้เห็นและพูดถึงมิได้หยุดหย่อน และยิ่งนับวัน วิวัฒนาการของอบายมุขในสถานศึกษาก็เพิ่มรูปแบบขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบุหรี่ เหล้า ยาบ้า กระทั่งยาไอซ์ ที่ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักและอยู่ในวงจำกัด อีกทั้งตรวจจับได้ในปริมาณที่น้อย แต่ปัจจุบันพบว่ามีการเผยแพร่ลักลอบจำหน่ายมากขึ้น
สถานการณ์ในสังคมของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยชอบทดลอง คึกคะนอง ท้าทายกับสิ่งเสพติด นับเป็นปัญหาสังคมที่บ่อนทำลายอนาคตของเยาวชนไทย
นโยบายรัฐ "ห้องเรียนสีขาว"
(อ.วิมล บุตรศรีด้วง)
อ.วิมล บุตรศรีด้วง ครูสอนแนะแนวระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนวัดธรรมจริยาภิรมย์ จ.สมุทรสาคร บอกว่า ตั้งแต่ปี 2551 ที่มารับราชการครูที่โรงเรียน ก็มีการดำเนินการในด้านป้องกันและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดมาโดยตลอด ซึ่งก่อนนี้ทางโรงเรียนของเราก็ได้ทำอยู่ก่อนแล้ว เพราะเป็นนโยบายของ สพฐ. ที่สำคัญรายงานความคืบหน้าในการรณรงค์เรื่องอบายมุขให้กับหน่วยงานดังกล่าวได้รับทราบเป็นประจำทุกปี
“สำหรับกิจกรรมรณรงค์ป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน อันดับแรกคือ “ห้องเรียนสีขาว” ซึ่งจะประกอบไปด้วยคณะกรรมการที่ช่วยกันดูแล โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนในห้องเป็นผู้เลือกกันเองว่าใครควรจะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการของห้อง ซึ่งประกอบด้วย 1.คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ 2.สารวัตรนักเรียน และทุกเช้าๆ ครูประจำชั้นก็จะมีการ “โฮมรูม” หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการห้องที่เลือกขึ้นมาในการป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน ขณะเดียวกัน ใน 1 สัปดาห์ก็จะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการของแต่ละชั้นเรียนได้มีการเขียนโครงการใช้เวลาว่างในห้องเรียนทำอะไรบ้าง เช่น รวมกลุ่มกันเล่นตะกร้อ, เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ, ทำสวนหย่อมหน้าโรงเรียน ทั้งนี้ จะมีครูประจำชั้นและคณะกรรมการภายในห้องเรียนที่ตั้งขึ้นคอยดูแลควบคุมการทำกิจกรรม
(รณรงค์ป้องกันยาเสพติดในโรงเรียนด้วยการส่งเสริมกิจกรรมพิเศษ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ฯลฯ)
นอกจากนี้ก็ยังมี การอบรมพิษภัยของยาเสพติด โดยเทศบาลและ อบต.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสงคราม จัดขึ้น รวมถึงการจัด อบรมการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 1 ครั้งต่อ 1 ภาคเรียน โดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลบ้านแพ้วมาให้ข้อมูล ที่สำคัญเรายังมีการสุ่มตรวจสอบปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดในโรงเรียนโดยทีมสหวิชาชีพ ทั้งไม่แจ้งให้กับนักเรียนได้ทราบ ซึ่งหากพบสารเสพติดในตัวของนักเรียน ก็จะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุยก่อน เพราะบางครั้งการที่เด็กฉี่ม่วงก็อาจเกิดการกินยาแก้หวัด หรือหากตรวจสอบแล้วพบว่าเด็กอยู่กลุ่มเสี่ยงใช้ยาเสพติดจริง เราก็จะคัดกรองไว้และส่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาบำบัดและดูแลต่อไป แต่ผลที่น่าพอใจนั้น เราพบว่า 100% ของการสุ่มตรวจไม่พบปัญหายาเสพติดในนักเรียน นอกจากนี้ ภายในโรงเรียนยังมีการ ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบปัญหาควันบุหรี่ในมุมอับต่างๆ ซึ่งผลจากการตรวจเช็กก็ไม่พบว่านักเรียนสูบบุหรี่เช่นกันค่ะ”
ปัญหาและอุปสรรคในการรณรงค์ป้องกันปัญหายาเสพติดก็มีอยู่บ้าง เช่น ช่วงที่เริ่มต้นผู้ปกครองบางคนก็มีการทักท้วง ว่าจะยิ่งทำให้เด็กรู้จักอบายมุขเหล่านี้หรือไม่ เช่น การที่เด็กไม่รู้จักการวิธีการใช้สารเสพติด ก็มีความรู้จากการให้ข้อมูล แต่ทางคุณครูก็จะอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงการอบรมดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้เด็กมีวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันในการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากยาเสพติด
“ก่อนหน้ามีผู้ปกครองของเด็ก ม.1 ได้ทักท้วงว่า จะเป็นการทำให้เด็กรู้จักการใช้ยาเสพติด และการตั้งท้องไม่พร้อมหรือเปล่า แต่เมื่อเราอธิบาย อีกทั้งทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นการให้ความรู้ในเชิงเตือน และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา รวมถึงผลเสียจากการใช้ยาเสพติด ตลอดจนการเฝ้าระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นกลุ่มเสี่ยง ตอนนี้ผู้ปกครองก็เข้าใจมากขึ้น จากก่อนหน้าที่เขามักจะกังวลว่าสามารถวางใจลูกที่เข้ามาเรียน ม.1 ที่นี่ได้หรือไม่ กระทั่งพ่อแม่วางใจทางโรงเรียนมากขึ้น และให้เด็กเรียนต่อกับเราจนถึงชั้น ม.6 ค่ะ ทั้งในฐานะคุณครูแนะแนว ก็อยากเห็นการพัฒนารูปแบบสื่อการรณรงค์ป้องกันยาเสพติด โดยการปรับปรุงให้อยู่ในรูปแบบของหนังสือออนไลน์ เพราะเด็กยุคใหม่ใช้โซเชียลเยอะขึ้น หรือจัดทำให้เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นเกี่ยวกับการป้องกันยาเสพติด ก็น่าจะทำให้เด็กเข้าใจและเห็นภาพพิษภัยของอบายมุขมากขึ้น”
กีฬาเป็นยาวิเศษ
ด้าน ผอ.ธีราพร คงฉิม ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเกาะคา จ.ลำปาง ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เรื่องยาเสพติดในสถานศึกษา โดยเฉพาะการมุ่งเน้น “การเล่นกีฬา” เนื่องจากวัยรุ่นผู้ชายนั้นจะมีพละกำลังมาก อีกทั้งจัด “ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนและคนในชุมชนแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด” นอกจากนี้ก็ได้มีการเชิญ “วิทยากรที่เป็นตำรวจเข้ามาให้ความรู้เรื่องยาเสพติด” อีกทั้งมีการ “แสดงโชว์ให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตในห้องขังว่าเป็นอย่างไร” โดยร่วมกับเรือนจำในพื้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ตลอดจนการส่งเสริมเรื่อง “กิจกรรมจิตอาสา” อาทิ การลอกคูคลองในวันเฉลิมพระเกียรติต่างๆ หรือการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ “ศูนย์บริการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it Cneter” อย่างการประดิษฐ์เครื่องเติมอากาศใต้น้ำ เป็นต้น
“เด็กผู้ชายส่วนมากจะมีแรงเยอะ สิ่งสำคัญ ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา มองว่าการหากิจกรรมให้เด็กได้ทำ หรือรวมกลุ่มกันไปทำในเรื่องที่สร้างสรรค์ ไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ ด้วยกันดีแล้ว ภาพของเด็กอาชีวะในสายตาของคนในชุมชนหรือชาวบ้านก็ดีไปด้วย และยิ่งหากเมื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือเรื่องดีๆ แล้วมีคนชมเชย แน่นอนว่าก็จะทำให้เขาประพฤติตัวในทางที่ดี ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะอันที่จริงแล้ว เด็กทุกคนไม่มีใครอยากติดยาค่ะ
ที่สำคัญเมื่อเราพบเด็กใช้ยาเสพติด ก็ต้องเข้าไปหาสาเหตุว่าการที่เขาติดยานั้นเกิดจากปัญหาครอบครัวหรือปัญหาส่วนตัว เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยแก้ไขค่ะ และสิ่งที่อยากฝากที่สุดคือ อยากเห็นการที่เจ้าหน้าตำรวจเข้าไปปรามปรามยาเสพติดในชุมชนอย่างจริงจัง เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า 70% นั้นคือปัญหายาเสพติด และบางครั้งตัวเด็กเองก็ยังไม่รู้ว่ายาเสพติดที่ซื้อมาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยมาหลอกล่อผู้ซื้อที่เป็นวัยรุ่น ดังนั้นเมื่อผู้ขายถูกตัดสินประหารชีวิต ก็ควรที่จะต้องดำเนินการตามนั้น เพราะถ้าหากติดคุกตลอดชีวิต และได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวออกมา คนขายยาเสพติดก็ออกมาทำอีก ซึ่งตรงนี้จะเป็นการเลียบแบบที่ไม่ถูกต้องค่ะ”
ครูและผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง
(จะเด็จ เชาวน์วิไล)
ไม่ต่างจาก คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ออกมาสะท้อนว่า อันดับแรกคือการหาสาเหตุของการที่เด็กติดยา ว่าแท้จริงนั้นมันเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะนั่นคือโจทย์ที่สำคัญ เพราะการที่เราโทษเด็กอาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา แต่เราต้องหาปัจจัยเหตุให้เจอ เช่น เด็กติดยาเพราะเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง หรือเสพอบายมุขเพราะตามเพื่อน ถ้าเรารู้จึงจะหาแนวทางการแก้ไขที่ตรงจุดได้
“นอกจากการหาสาเหตุของการติดยาให้พบ เพื่อให้หาวิธีแก้ไขที่ตรงจุดแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกอย่าง ผมมองว่า การที่โรงเรียนให้ความสนใจเฉพาะเด็กที่เก่ง แต่ไม่มีใครสนใจเด็กที่เรียนด้อย หรือนักเรียนหลังห้อง ที่สำคัญปัจจุบันมีแต่เวทีให้กับเด็กที่ฉลาด สอบได้คะแนนดีๆ ดังนั้นสถานศึกษาควรจะจัดให้มีพื้นที่กิจกรรมในเชิงของการที่ให้เด็กติดยา หรืออยู่ค่ายของกลุ่มเสียงติดยาเสพติด ได้ออกมาพูดคุย ระบายทุกข์ หรือแม้แต่การหากิจกรรมที่ส่งเสริมให้ทั้งเด็กเก่งและเด็กเรียนอ่อนได้ทำร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยก และต้องไม่ตีตราว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งจะต้องเป็นเด็กไม่ดีหรือเด็กติดยาเสมอไป เพราะถ้าคนในสังคมตกอยู่กับ “วาทกรรม” โดยมองว่าคนดีและเป็นคนไม่ดี เมื่อนั้นเราก็จะมองผู้อื่นว่าเขาดำไปหมด ที่ลืมไม่ได้คือการที่ครูในโรงเรียนลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ก็จะทำให้รู้ถึงปัญหาของเด็กได้เป็นอย่างดี เช่น หากว่าเด็กติดยา เกิดจากสาเหตุอะไร หรือเกิดจากปัญหาครอบครัวหรือเปล่า ตรงนี้จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและชัดเจนที่สุด”
(อ.ไพฑูรย์ ปานประชา)
ปิดท้ายกันที่ อ.ไพฑูรย์ ปานประชา ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม บอกคล้ายกันว่า การรรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องสาเหตุให้เจอ เพราะเด็กวัยรุ่นมักจะชอบเลียบแบบผู้ใหญ่ เพราะส่วนตัวเขามักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ คล้ายกับ “ลูกปูเดินตามแม่ปู” ดังนั้นหากผู้ปกครองเองหรือผู้ที่อาวุโสกว่าก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
“ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าคุณครูที่สอนอยู่หน้าชั้นในโรงเรียน แต่พอตกเย็นครูกลับสูบบุหรี่และดื่มสุรา เมื่อเด็กๆ เห็นก็จะรู้สึกว่าครูพูดไม่ตรงกับสิ่งที่ทำ นั่นอาจทำให้ลูกศิษย์เลียนแบบได้ ประกอบกับจิตวิทยาของเด็กนั้นมักจะชอบทำพฤติกรรมเลียนแบบเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กมีสังคม ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาเด็กเลียนแบบสิ่งที่ไม่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ คนกลุ่มนี้ก็ต้องไม่ทำสิ่งไม่ดีให้ลูกหลานเห็น เช่น “พ่อแม่ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า” เป็นต้น
(คำชื่นชมจากครูและพ่อแม่ โดยการที่เด็กวัยรุ่นรวมกลุ่มกันเตะฟุบอล กระทั่งได้รับรางวัล จะทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งรู้สึกภูมิใจว่ามีคุณค่าในสายตาผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ห่างไกลจากการใช้ยาเสพติดได้)
ประการต่อมาคือ การที่โรงเรียนต้อง “หากิจกรรมให้เด็กทำ” ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการเข้าประกวด เช่น เล่นดนตรี กีฬาเป็นทีม เพราะเมื่อใดก็ตามที่เด็กได้รับการยกย่อง เมื่อนั้นเขาก็จะรู้สึกประสบความสำเร็จ และตัวเด็กเองก็จะภูมิใจ ที่สำคัญวิธีนี้จะช่วยทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งไม่หันไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะตัวเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในสายตาของคนอื่น ไม่ได้เป็นแค่เด็กหลังห้องอีกต่อไป เพราะเด็กที่เรียนไม่เก่งมักจะถูกลืม ประกอบกับธรรมชาติของวัยรุ่นมักจะชอบเรียกร้องความสนใจ อีกทั้งชอบเลียนแบบ ดังนั้นถ้าเจอกับกลุ่มคนที่ชอบในเรื่องเดียวกันก็จะถูกชักจูงไปในที่ไม่ดีได้ค่อนข้างง่าย นอกจากการจับปรับผู้ค้าขายยาเสพติดและสิ่งอบายมุขอย่างจริงจัง ก็จะช่วยตัดตอนสิ่งเสพติดไปสู่วัยรุ่นได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ตัวอย่าง “โครงการศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE” ใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงเป็นประธานอำนวยการโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ดีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด ตลอดจากส่งเสริมให้เยาวชนในโครงการทำกิจกรรมที่ชอบและสนใจในเชิงสร้างสรรค์ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ครับ ทำให้ทั้งเด็กเรียนเก่งและเด็กที่ชอบทำกิจกรรม มีพื้นที่ได้แสดงออก กระทั่งการใช้ไอดอลอย่างดาราหรือคนดังในการรณรงค์การไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ก็จะทำให้เกิดการเลียนแบบคนดังไปในทางที่ดีอีกเช่นกัน แต่เพียงแต่ว่าจะต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อที่จะทำให้เด็กบางคนซึ่งกำลังลังเลที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข มีทางออกโดยการหันมาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ห่างไกลยาเสพติดจากสื่อในลักษณะดังกล่าว”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |