คลังปลื้ม “ช็อปช่วยชาติ” กระแสดี ประชาชนแห่ใช้จ่ายล้นหลาม โยนรัฐบาลเคาะจัดปีหน้าอีกรอบ พร้อมถก “มหาดไทย-แรงงาน-พาณิชย์-เกษตรฯ” ดันมาตรการอุ้มคนจนเฟส 2 ก่อนดันเข้า ครม.หวังเป็นของขวัญปีใหม่ ประเมินวงเงินสะพัด 1.8-2.2 หมื่นล้านบาท ศูนย์วิเคราะห์ ศก.ทีเอ็มบีมองรายได้ท่องเที่ยวไทยโต แต่ไม่กระจายสู่ภูธร เหตุต่างชาติเที่ยวแค่ 4 เมืองหลัก แนะรัฐเร่งพัฒนาแหล่งเที่ยวใหม่
เมื่อวันจันทร์ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ (ช็อปช่วยชาติ) ซึ่งสิ้นสุดอายุมาตรการไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี โดยมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนจะมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปี 2561 อีกหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายจะพิจารณาเอง โดยหลักๆ ต้องดูภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจประกอบด้วย
“มาตรการช็อปช่วยชาติที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าผลตอบรับดี ส่วนปลายปีคงไม่มีมาตรการลักษณะนี้ออกมาแล้ว ดังนั้นปลายปีก็จะเป็นการใช้จ่ายจากประชาชนเอง และปีหน้าจะมีการหยิบยกมาตรการนี้ออกมาดำเนินการอีกหรือไม่ ก็คงต้องดูหลายๆ อย่างประกอบ โดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายนโยบายจะพิจารณาเอง แต่ในส่วนของกระทรวงการคลังยืนยันว่ามีความพร้อมอยู่แล้ว” นายสมชัยกล่าว
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดรองนั้น เชื่อว่าขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คงอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของมาตรการ โดยยังไม่มีการเสนอมาให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่หากมองตามหลักคิดหรือวัตถุประสงค์ของมาตรการ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดรอง แต่ก็ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่าภาษีที่จะให้กับมาตรการนั้นจะเกิดจากการท่องเที่ยวในจังหวัดรองจริง และจังหวัดเป้าหมายจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเรื่องนี้เชื่อว่ากรมสรรพากรก็พร้อมจะดำเนินการหากมีข้อสรุปออกมา
นายสมชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 ว่าภายในสัปดาห์นี้จะเร่งหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการเดินหน้าสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 ว่าจะสามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ และเกิดผลจริงด้วย
โดยสวัสดิการที่จะมอบให้ผู้มีรายได้น้อยในระยะที่ 2 นั้น จะเน้นส่งเสริมใน 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางการ, การส่งเสริมการศึกษา และการฝึกอบรมอาชีพ, การเพิ่มโอกาสในการทำงาน ทั้งในส่วนของมีงานทำและการเป็นเจ้าของกิจการ และการส่งเสริมการมีปัจจัย 4 เป็นของตัวเอง อาทิ ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินต่างๆ ที่จำเป็น
“ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องงาน เพราะเป้าหมายหลักที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลังกำหนดมา คือต้องทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีถึง 5 ล้านคนลดลง รวมทั้งการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในรอบนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงต้องหารือร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด และจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้น ยังไม่มีการสรุปในเรื่องนี้เช่นกัน แต่เบื้องต้นจะเป็นการบูรณาการโครงการเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมอาชีพ ของกระทรวงต่างๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เอามาปรับปรุงให้สอดคล้องกันและผลักดันออกมาอย่างเป็นระบบ
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.คาดว่ายอดเงินที่มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงโครงการช็อปช่วยชาติปี 2560 จะมีวงเงินราว 1.8-2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีวงเงินสะพัดประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้มีระยะเวลา 23 วัน คือตั้งแต่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. มากกว่าปีก่อนที่มีระยะเวลา 18 วัน คือตั้งแต่ 14-31 ธ.ค. 2559 ขณะที่ปีแรกมีระยะเวลาเพียง 7 วัน ระหว่าง 25-31 ธ.ค.2558
สำหรับช่วงเวลาที่จัดโครงการนี้ ที่จัดก่อนสิ้นปีเพราะเชื่อว่าจะดีกว่า ทำให้คนใช้เงินก่อนช่วงฉลองปีใหม่ และพอเข้าช่วงปีใหม่ในเดือน ธ.ค. ก็เชื่อว่าคนก็ยังจะจับจ่ายใช้สอย ทานข้าวนอกบ้านอยู่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยกันอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้
"ตอนจัดปีแรกถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์ คนก็ชอบ ปีที่ 2 คนยังเรียกร้องให้มีโครงการนี้อีก แต่ติดที่จำนวนวันยังน้อยไป มาปีนี้เลื่อนจัดให้เร็วขึ้นมาในช่วงที่คนยังไม่ได้ออกมาใช้เงิน และเป็นการปรับมูดคนที่เพิ่งออกจากทุกข์ด้วย ซึ่งคาดว่าเมื่อเข้าสู่เทศกาลปีใหม่คนก็ยังจะใช้เงินอยู่ดี จึงเชื่อว่าผลของการจัดโครงการนี้ในปีนี้ออกมาดีเช่นกัน" นายศรพลกล่าว
รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยบทวิเคราะห์รายได้ท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า การกระจายตัวของรายได้ท่องเที่ยวกระจุกในพื้นที่เพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากโครงสร้างรายได้ปี 2559 พบว่าเงินจากภาคท่องเที่ยว 2.52 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% กระจุกอยู่ใน 17 จังหวัด แต่มี 4 จังหวัดเท่านั้นมีรายได้มากที่สุด ประกอบกับแหล่งรายได้ 2 ใน 3 เกิดจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นตลาดจีนกว่า 30%
ทั้งนี้ การที่เงินสะพัดกระจุกอยู่เฉพาะเมืองเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่กิจการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถดึงดูดค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่ภาคบริการของเอสเอ็มอีไทย เช่น โรงแรมขนาดเล็ก เกสต์เฮาส์ ร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านนวดสปาประจำถิ่น จะมีกลุ่มลูกค้าหลักคือคนไทยเที่ยวไทย ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, ตราด, ภูเก็ต, กระบี่, สงขลา, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ประจวบคีรีขันธ์, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, อยุธยา, นครราชสีมา และขอนแก่น ทำให้ชาวภูธรรู้สึกว่าการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเพียงเล็กน้อย
สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษีเที่ยว 3 โซน ที่คาดว่าจะออกในปีหน้า อาจช่วยกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น แต่รัฐต้องเร่งพัฒนาและประชาสัมพันธ์เมืองท่องเที่ยวใหม่ให้ต่างชาติได้รับรู้ โดยอาจเริ่มจากการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่ต่างชาตินิยม พร้อมกับเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการให้เป็นระบบ มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสาธารณูปโภคครบครัน และเข้าถึงได้ง่าย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัว เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวและโปรโมตธุรกิจผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์กมากขึ้น น่าจะลดการเที่ยวกระจุกตัวของต่างชาติ และหนุนรายได้ให้กระจายสู่ภูมิภาค เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |