มหาธีร์ : อาเซียนต้องรักกันมากกว่านี้!


เพิ่มเพื่อน    

 

        เมื่อวานผมเสนอบางตอนของการสัมภาษณ์พิเศษกับนายกฯ มหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ในวาระครบ 100 วันของ “ปรากฏการณ์พลิกแผ่นดิน” ของมาเลเซีย หลังจากที่ผู้นำวัย 93 ปีท่านนี้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านโค่นอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค อย่างเกรียวกราว

        วันนี้ผมคัดเอาอีกบางตอนของบทสนทนาที่ออกอากาศแล้วในรายการ “โลกป่วน” ทาง ThaiPBS (ดูย้อนหลังได้ในเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส)

        ถาม : ปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน และอาเซียนจะครบ 50 ปี ท่านมองว่าจากนี้ไป อาเซียนจะไปทางไหน มีอะไรบ้างที่เป็นความสำเร็จของอาเซียน และอะไรที่ล้มเหลว และจะไปต่ออย่างไร

        มหาธีร์ : สามัคคีกันมากขึ้น มีความเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น ภายในกลุ่มอาเซียนจะสามารถแข็งแกร่งขึ้นได้เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป แต่บางครั้งเราก็ไม่ค่อยมีความร่วมมือระหว่างกัน ปัจจุบันเรามีปัญหาเมียนมา ผมคิดว่าอาเซียนเป็นองค์กรที่ดี เป็นหนึ่งในองค์กรระดับภูมิภาคที่อยู่รอดมาได้ยาวนานที่สุดและดีที่สุด แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในจุดนี้

        ถาม : ปัญหาเมียนมาที่ท่านเอ่ยถึง คือเรื่องโรฮีนจาใช่ไหมครับ?

        มหาธีร์ : โรฮีนจา

        มหาธีร์ : อาเซียนทำอะไรได้? เพราะในสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่าไม่ควรก้าวก่าย/แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ดังนั้นประเทศอาเซียนอื่นๆ สามารถทำอะไรได้กับปัญหานี้

        เป็นหลักการที่ดีว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม บางครั้งประเทศสมาชิกก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

        ยกตัวอย่างกรณีของกัมพูชา เมื่อ “พลพต” สังหารหมู่คนไป 2 ล้านคน และเราแค่ยืนดูเฉยๆ นี่คือภัยพิบัติจากมนุษย์

        ในประเด็นแบบนี้ ผมมองว่าเราไม่ควรเชื่อในการไม่แทรกแซง เราควรมีมาตรการกดดันบางอย่างกับเมียนมา นี่เป็นเรื่องของความอยุติธรรม และทำให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง

        ถาม : ท่านหมายความว่าต้องมีข้อยกเว้นของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน ใครจะเป็นคนตัดสินว่า กรณีใดควรยกเว้น กรณีใดไม่ควร?

        มหาธีร์ : ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในกลุ่มประเทศอาเซียน และตัดสินใจร่วมกันว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ควรทำสิ่งใด

        ถาม : ยังมีการแบ่งฝ่ายในอาเซียน เกี่ยวกับบางปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐ เห็นได้จากกรณีปัญหาทะเลจีนใต้ สมาชิกอาเซียนเสียงแตก ท่านกังวลเรื่องนี้ไหมครับ?

        มหาธีร์ : พวกเรากังวล แต่ต้องยอมรับความจริงว่า จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ และเราสามารถคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับปัญหานี้ เราสามารถพูดว่า “ไม่” แต่มันก็ไม่ได้หมายความตามนั้น

        นี่คือเหตุผลว่า ทำไมมาเลเซียจึงมีทัศนคติที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เพราะถ้าเรายอมรับว่า ประเทศจีนเป็นชาติมหาอำนาจ และเราไม่สามารถทำสงครามกับจีน ดังนั้น เราจำเป็นต้องใช้วิธีการทางการทูตในการเจรจาต่อรองกับจีน

        อย่างเช่น การยอมเพื่อเป็นเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนบางสิ่งกับจีน แล้วถ้าจีนปฏิเสธล่ะ เราควรทำอย่างไร

        จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ว่าเป็นของจีน ก็เพราะชื่อ “จีนใต้” แต่ในกรณีเกี่ยวกับทะเล สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การเดินเรือผ่านทะเล ถ้าจีนอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นของจีน แต่ยินยอมให้เรือสามารถผ่านเข้าไปได้ ผมก็คิดว่าเราต้องยอมรับ

        เราไม่สามารถทำสงครามและส่งเรือรบเข้าไป นั่นเป็นไปไม่ได้และไม่ฉลาดด้วย ดังนั้นสิ่งดีที่สุดสำหรับเราก็คือ ประเทศจีนอ้างสิทธิ์ แต่เราก็ขอให้จีนเปิดทางผ่านในทะเลสำหรับเรือทุกลำ ซึ่งรวมถึงเรือรบให้ผ่านน่านน้ำได้

        ถาม : รวมถึงเรือรบของอเมริกาด้วย?

        มหาธีร์ : ใช่ ไม่มีการกีดกัน

        ถาม : ท่านคิดว่าจีนและสหรัฐจะสามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ไหม เพราะดูเหมือนพวกเขาตกลงกันไม่ได้ ในข้อที่เรียกว่า “เสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation)” ซึ่งอเมริกากำหนดขึ้น ขณะที่ฝั่งจีนก็อ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะ ประเทศอาเซียนสามารถทำอะไรได้บ้าง?

        มหาธีร์ : จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเล รวมถึงหมู่เกาะ แต่เราจะไปยั่วยุจีนทำไม มาเลเซียเราก็มีเกาะอยู่ที่นั่นเช่นกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ การเป็นเส้นทางผ่านของเรือได้อย่างเสรี

        ถาม : ตอนนี้เรือผ่านได้อย่างเสรี?

        มหาธีร์ : ผมคิดเช่นนั้น แต่ว่าเรือรบอเมริกันมักจะยั่วยุจีน ด้วยการแล่นเรือเข้าไปใกล้หมู่เกาะ, บินข้ามน่านฟ้าบริเวณนั้น

        (อ่านบทสนทนาของผมกับนายกฯ มหาธีร์ต่อพรุ่งนี้ : หมดช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์หรือยัง?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"