พอช.ชี้แจงข่าวบ้านริมคลอง  ช่วยให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงและถูกกฎหมาย


เพิ่มเพื่อน    

 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ ผอ.พอช.ชี้แจงข่าวบ้านมั่นคงริมคลอง  กรณีศรีสุวรรณและชาวชุมชนริมคลองบางส่วนยื่นหนังสือร้องเรียนไม่เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ยืนยันทำตามนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคลองของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  ขณะที่ชาวบ้านจะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  โดยมีเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 147,000  บาท  พร้อมสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกิน 400,000 บาท  และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมอาชีพและรายได้  ที่ผ่านมาดำเนินการเสร็จไปแล้ว  31 ชุมชน รวม 2,602  หลัง  

            ตามที่นายศรีสุวรรณ  จรรยา  เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  พร้อมชาวชุมชนริมคลองจำนวนหนึ่งไปยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประชาชน (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล) ถึงนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 6 กันยายน  เพื่อขอให้สั่งการให้กรมธนารักษ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแจ้งอัยการเพื่อถอนฟ้องชาวบ้านที่ไม่ขัดขวางโครงการสร้างเขื่อนระบายน้ำคลองลาดพร้าว  รวมทั้งชี้แจงการไม่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงริมคลองที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ดำเนินการ  โดยอ้างว่าได้รับเงินช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคเพียงหลังละ 50,000 บาท  และชาวบ้านไม่อยากเป็นหนี้จึงไม่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงนั้น

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวชี้แจงว่า  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่คล่องตัว  เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเดินน้ำ   ต่อมาในปี 2555  กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความเห็นให้มีการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ  และสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ  แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนิน  จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าว  โดยให้สำนักการระบายน้ำ  กรุงเทพมหานคร  รับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว   ความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ  45   กิโลเมตร  ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

 

“ส่วน พอช.รัฐบาลมอบหมายให้จัดทำแผนงานรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน  รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069  ครัวเรือน  โดยมีหลักการสำคัญคือ  1.ชุมชนใดที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้  หลังจากที่รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวเขื่อนแล้ว  จะต้องรื้อย้ายบ้านเพื่อปรับผังชุมชนใหม่  เพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถอยู่ในชุมชนเดิมได้  ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลาน  ดังนั้นทุกครอบครัวจะได้รับการจัดสรรที่ดินเท่าๆ กัน  แต่เนื่องจากพื้นที่ริมคลองมีความคับแคบ  ดังนั้นบ้านที่สร้างใหม่จะเป็นบ้าน 2 ชั้น  ขนาดประมาณ  4 X 7 ตารางเมตร   และ 2.หากชุมชนใดอยู่ในที่ดินเดิมไม่ได้  เพราะที่ดินเหลือจากแนวสร้างเขื่อนไม่พอ  ชาวบ้านจะต้องรวมตัวกันไปจัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านใหม่  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วหลายชุมชน  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณ”  ผอ.พอช.กล่าว

ผอ.พอช.กล่าวถึงงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ว่า  พอช.จะสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 50,000 บาท (ถนน  ไฟฟ้า  ประปา  ระบบบำบัดน้ำเสียรวม)  งบอุดหนุนการสร้างบ้านครัวเรือนละ 25,000 บาท  และเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท (ค่าเช่าบ้าน, ค่ารื้อย้าย, ลดหย่อนเงินกู้  ฯลฯ)  รวมเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 147,000   บาท  และสินเชื่อก่อสร้างบ้านตามราคาก่อสร้างบ้านจริง (ไม่เกิน 400,000 บาท) ผ่อนชำระคืน 15-20 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท (คงที่ตลอดสัญญา)

 

สำหรับความคืบหน้าในการสร้างบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว  หรือ “บ้านประชารัฐริมคลอง” นั้น  นายสมชาติกล่าวว่า  ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 2,602 หลัง   รวม  31 ชุมชน  ในพื้นที่ 8 เขต  คือ  วังทองหลาง  ห้วยขวาง  วังทองหลาง  จตุจักร  บางเขน  หลักสี่  ดอนเมือง  และสายไหม  และเตรียมก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 314  หลัง   โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าวจำนวน 5,196  ครัวเรือน  และยังมีผู้ที่ไม่เข้าร่วมจำนวน  1,645 ครัวเรือน 

ส่วนการดำเนินการฟ้องร้องแกนนำชาวบ้านที่ไม่เข้าร่วมหรือคัดค้านการจัดระเบียบชุมชนริมคลองนั้น  นายสมชาติกล่าวว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลที่ดินราชพัสดุริมคลอง   เนื่องจากที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ริมคลองส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ  ชาวบ้านเข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์  แต่เมื่อมีการจัดระเบียบชุมชนริมคลอง  กรมธนารักษ์จึงให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเช่าที่ดินริมคลองจากกรมธนารักษ์ในอัตราผ่อนปรน  ราคาตารางวาละ 1.50 - 3 บาทต่อเดือน  ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก  และเช่าที่ดินได้คราวละ 30 ปี  เปลี่ยนจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าอย่างถูกกฎหมาย  ทั้งนี้ประชาชนที่จะทำสัญญาเช่าที่ดิน  จะต้องรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เคหสถานและเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อให้การบริหารจัดการทั้งเรื่องการเช่าที่ดินและก่อสร้างบ้านเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

“พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชุมชนริมคลอง  เพราะมีการจัดทำแผนงานที่อยู่อาศัยรองรับ  มีงบประมาณสนับสนุน  แม้จะไม่ได้ช่วยเหลือทั้งหมด  แต่ประชาชนก็จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเองด้วย  นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น   กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กรุงเทพมหานคร  สำนักงานเขตต่างๆ ในพื้นที่  กรมธนารักษ์  ธนาคารอาคารสงเคราะห์  ฯลฯ  ก็จะร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น  เช่น  มีสวนหย่อม  มีทางจักรยานเลียบคลอง  มีสนามเด็กเล่น  มีบ้านกลางสำหรับผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้อยู่อาศัย  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  รวมทั้งส่งเสริมอาชีพต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้”  ผอ.พอช.กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ได้มีกลุ่มชาวบ้านชุมชนวังหิน  เขตจตุจักร  รวม 54 คน  ซึ่งคัดค้านโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง  โดยกล่าวหาว่าผู้อำนวยการเขตจตุจักรและผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  กรณีเขตจตุจักรมีคำสั่งให้ชาวชุมชนวังหินรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลอง

 

ต่อมาในเดือนเมษายน 2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ  โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า...”คดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ผู้ฟ้องร้องคดีที่ 43  ได้เข้าไปปลูกสร้างบ้านพักอาศัยในที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์   โดยไม่มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน   กรณีจึงเป็นการบุกรุกที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ  อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย...ดังนั้นโดยนิตินัย  ผู้ฟ้องร้องคดีที่ 43 จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องร้องในคดีได้....”

ขณะที่ นายสกลธี  ภัททิยกุล  รองผู้ว่า กทม. กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า  การสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวจะทำให้พื้นที่คลองเปิด   ทำให้การขุดลอกคูคลองได้ง่ายขึ้น  มีทางระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น  และนอกจากเรื่องระบายน้ำแล้วยังเป็นเรื่องทางสัญจรด้วย  เพราะเป็นนโยบายของทางกรุงเทพมหานคร  คือ “ล้อ  ราง  เรือ”  ซึ่งในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อนั่งเรือแล้วไปขึ้นรถไฟฟ้า 

 

“ส่วนเรื่องกลุ่มผู้ที่คัดค้านและยังไม่เข้าร่วมโครงการทำให้การก่อสร้างเขื่อนฯ ล่าช้า  และทาง กทม.มีมาตรการจะใช้ ปว.44  เพื่อดำเนินการตามกฎหมายนั้น  ขณะนี้จะให้เจ้าหน้าที่เขตทั้ง 8 เขตเข้าไปพูดคุยอีกครั้งหนึ่งก่อน  แต่ถ้าพูดคุยแล้วยังไม่เรียบร้อย  เพื่อให้งานเดินและให้เสร็จตามเป้าอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ ปว.44  ซึ่งทางรองผู้ว่า กทม. นายจักรพันธ์ ผิวงาม  ที่คุมสำนักระบายน้ำจะเป็นผู้พิจารณาและนำเสนอผู้ว่าฯ อีกครั้งภายใน  1- 2 เดือนนี้”  นายสกลธีกล่าว

 

รองผู้ว่า กทม.กล่าวด้วยว่า  การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคลองลาดพร้าวตามสัญญาจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562  แต่จากปัญหากลุ่มชาวบ้านที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ  ซึ่ง กทม.จะดำเนินการตามกฎหมายมีทั้งหมดประมาณ 470 หลังในพื้นที่ริมคลองลาดพร้าว 8 เขต  ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าไปตอกเสาเข็มได้ตามเป้าหมาย  จึงคาดว่าจะทำให้การก่อสร้างเขื่อนต้องล่าช้าออกไป

 

ทั้งนี้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 44  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจในการติดประกาศเพื่อให้ผู้รุกล้ำลำคลองรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน  หากยังดื้อแพ่งและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง  เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ทันที  อย่างไรก็ตาม  ก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดินราชพัสดุริมคลองได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกลุ่มแกนนำชุมชนริมคลองประมาณ 65  รายที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินราชพัสดุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว  ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการในชั้นอัยการ

                                                       


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"