"กสทช." เลื่อนลงมติเยียวยาคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz อ้างต้องการข้อมูลจำนวนลูกค้าก่อนตัดสินใจ 12 ก.ย.นี้ "เลขาฯ" ย้ำปลายเดือน ต.ค.ประมูลคลื่นรอบใหม่ "บิ๊กดีแทค" ผิดหวัง อ้างคลื่น 850 MHz สำคัญ หวั่นซิมดับกระทบผู้ใช้งาน
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงผลการประชุม กสทช.ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ลงมติในการใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตามที่ดีแทคส่งหนังสือขอทบทวนในการใช้มาตรการเยียวยากับลูกค้าดีแทคคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยดีแทคแจ้งว่าดีแทคสนใจคลื่น 900 MHz แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการทำระบบสัญญาณป้องกันการรบกวนที่ต้องให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้สร้างเอง โดยลูกค้าที่อยู่ในระบบของดีแทคล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 มีจำนวน 3.46 แสนเลขหมาย ลูกค้า 1800 MHz แบ่งเป็นลูกค้ารายบุคคล 1.6 แสนเลขหมาย ลูกค้าองค์กร 1.7 แสนเลขหมาย และเป็นลูกค้าคลื่น 850 MHz จำนวน 9.5 หมื่นเลขหมาย ที่เหลือแยกไม่ได้
"ดังนั้นที่ประชุมจึงต้องการให้สำนักงาน กสทช.ทำข้อมูลล่าสุดของลูกค้าดีแทคที่เหลือมาให้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อเสนอในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 ก.ย. รวมถึงการทำแผนการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออีก 7 ใบอนุญาต แนวทางเบื้องต้นคือต้องมีการขยายงวดการชำระเงินของทั้ง 2 คลื่น แต่เรื่องการลดราคาคงทำไม่ได้ คาดว่าสำนักงานจะสรุปเรื่องทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเยียวยาของดีแทคว่าจะสามารถเยียวยาให้ได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการประมูลสำนักงานจะเร่งให้มีการประมูลภายในเดือน ต.ค.นี้" นายฐากรกล่าว
เลขาฯ กสทช.กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดิน นำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะทำงานตรวจสอบฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในกรณีบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,381,958,336.14 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กทค.ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุมครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทนำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 1,069,983,638.11 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทจะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,311,974,698.03 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช.จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
นายฐากรกล่าวว่า ส่วนกรณีบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ต้องนำส่งเงินรายได้ ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย.2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 869,512,486.51 บาท โดยที่ กทค.ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทนำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย.2556-17 ก.ค.2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 627,636,136.84 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทจะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 241,876,349.67 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช.จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
สำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการใช้โครงข่ายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ.2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นจำนวนเงิน 2,300,772.59 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2558) เป็นจำนวนเงิน 1,875,043.24บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย.2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย.2558 เป็นเงินจำนวน 425,729.35 บาท)
ขณะที่นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า คลื่น 850 MHz เป็นคลื่นที่มีความสำคัญต่อผู้ใช้งานพื้นที่ชนบทหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นคลื่นนี้จึงมีความสำคัญต่อการคุ้มครองให้ใช้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจนกว่าคลื่นความถี่จะถูกนำไปใช้งานด้วยการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่
“การดูแลผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ใช้งานต่อเนื่อง ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสทช. ที่จะคุ้มครองลูกค้าร่วมกับดีแทค และที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายอื่นล้วนได้รับความคุ้มครองจาก กสทช.ทั้งสิ้น การนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกค้าดีแทคได้รับผลกระทบเท่านั้น ยังส่งผลถึงการสร้างรายได้ให้กับรัฐในการจัดการคลื่นความถี่ช่วงคุ้มครองชั่วคราวอีกด้วย" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |