บิ๊กฉัตรห่วง2เขื่อนใหญ่ 38จังหวัดเสี่ยงฝนถล่ม


เพิ่มเพื่อน    

     ศูนย์วิกฤติน้ำคาดฝนยังกระหน่ำทุกภูมิภาคจนถึง 10 ก.ย. พร้อมเฝ้าระวังน้ำน่านและน้ำโขงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ปภ.รายงาน 9 จังหวัดยังอ่วม   “บิ๊กฉัตร” นัดประชุมใหญ่ 14 ก.ย. ส่องภาพรวมทั้งหมด “กระทรวงเกษตรฯ” เตรียมชดเชยให้ชาวบ้านที่เสียสละพื้นที่รับน้ำเป็นกรณีพิเศษ
     เมื่อวันพุธ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงว่า ไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ,  ตะวันออก, ตะวันออกเฉียงเหนือ, กลาง และใต้ จนถึงวันที่ 10 ก.ย. โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักใน 38 จังหวัด และในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากแทบทุกภูมิภาค
     นายสำเริงยังกล่าวถึงภาพรวมแม่น้ำว่า ในภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยต้องเฝ้าระวังแม่น้ำน่านที่มีฝนตกหนัก 2 วันที่ผ่านมา รวมทั้งแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขงและแม่น้ำปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เพราะขณะนี้แม่น้ำโขงมีแนวโน้มน้ำสูงขึ้น และมีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.นครพนม และมุกดาหาร และต้องเฝ้าระวังบริเวณบึงกาฬ และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
     ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคา และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-5 ก.ย.2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 19 จังหวัด 103 อำเภอ 447 ตำบล 2,496 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,793 ครัวเรือน 171,018 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์คลี่คลาย 10 จังหวัดแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด รวม 41 อำเภอ 191 ตำบล 1,250 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,323 ครัวเรือน 68,023 คน 
     วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.กาญจนบุรี ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำค่อนข้างสูง และฝนที่ตกลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีปริมาณน้ำเยอะ การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทั้ง 2 แห่งจึงต้องประสานงานกันให้ดี เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่จะไหลมารวมกันที่ตัวเมืองกาญจนบุรี รวมทั้งน้ำจากเขื่อนแม่กลอง 
     “ผมไม่อยากให้การระบายน้ำมีผลกระทบต่อตัวจังหวัด โดย 3 จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำคือ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม จึงจะเชิญผู้ว่าฯ ทั้ง 3 จังหวัดมาประชุมรับทราบการบริหารจัดการน้ำ ว่าเมื่อปล่อยน้ำลงมาแล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในเส้นทางน้ำผ่านอย่างไร เพื่อให้ผู้ว่าฯ ไปแจ้งกับประชาชนล่วงหน้า จะได้เตรียมป้องกันได้ทัน ในกรณีที่จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบมาก” พล.อ.ฉัตรชัยระบุ
     พล.อ.ฉัตรชัยยืนยันว่า ได้ติดตามสถานการณ์ตลอด โดยสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบางช่วงเวลาลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ส่วนที่ภาคเหนือ พยากรณ์อากาศคาดว่าหลังจากกลางเดือน ก.ย.นี้จะหมดฝน จึงต้องเริ่มคิดด้วยว่าปริมาณน้ำในส่วนไหนที่ต้องเริ่มกักเก็บ โดยจะประชุมคณะใหญ่เพื่อติดตามสถานการณ์ทั้งหมดในวันที่ 14 ก.ย. เพราะกรมอุตุฯ แจ้งว่าทุกอย่างจะชัดเจนตอนกลางเดือน ก.ย.
     สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อน 8,408 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 95% มากกว่าเกณฑ์ควบคุม 2.07 ม. โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2561 มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ 90.62 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้มีการระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำ 55.74 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ 13.95 ล้าน ลบ.ม.แล้ว ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 452 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 5.1%
     ขณะเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมทันทีที่น้ำลด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรต้องให้เกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัดเข้าไปสำรวจความเสียหาย โดยเกษตรกรที่ยอมรับน้ำนองเข้าไปในเรือกสวนไร่นาถือว่าเป็นผู้เสียสละ กระทรวงจะกำหนดมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษ นอกเหนือจากค่าชดเชยกรณีที่เกิดภัยพิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังแบบถ้ำหลวงโมเดล
     ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนแก่งกระจานยังคงมีน้ำเกินความจุอ่างและไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสปิลเวย์ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี โดยใน 3-4 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่าไหลหลากลงมาสมทบทำให้ปริมาตรน้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 190 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่กรมชลฯ จำเป็นต้องควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรไม่ให้เกิน 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ตัวเมืองเพชรบุรีรับได้ จึงได้ตัดยอดน้ำแล้วผันเข้าคลองในระบบชลประทาน 4 สาย และคลอง D9 เพื่อไปออกทะเลที่ ต.ปึกเตียน อ.ท่ายาง ทางหนึ่ง แล้วจึงระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตราประมาณ 120-130 ลบ.ม.ต่อวินาที
     “การตัดยอดน้ำดังกล่าวทำให้มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรซึ่งอยู่ติดคลองในระบบชลประทาน อีกทั้งยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำมากริมแม่น้ำเพชรบุรี อย่างที่ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง ซึ่งหากอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานมากกว่า 80 ลบ.ม.ต่อวินาที จะเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม จึงมีการประชุมระหว่างหน่วยราชการกับเกษตรกรเพื่อชี้แจงมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ส่วนของกรมชลฯ จะเร่งระบายน้ำออกทะเลทั้ง 2 ทางคือ ที่ อ.ท่ายางและบ้านแหลม” นายทองเปลวกล่าว และว่า ขณะนี้มีอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง จึงได้สั่งการให้ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง รวมทั้งเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและคลองสายต่างๆ เพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังลงสู่ลำน้ำแล้วเร่งผลักดันออกอ่าวไทย โดยกรมชลฯ และทุกหน่วยงานจะดำเนินการให้เข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด
     นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ประสานและบริหารจัดการบึงราชนก จ.พิษณุโลก โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก ซึ่งอยู่ใน 606 โครงการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านต่างๆ ได้สำรวจและเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลในด้านต่างๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ปริมาณตะกอน ทรัพยากรดิน ระบบนิเวศทางน้ำและบนบก การใช้ประโยชน์พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และการท่องเที่ยว เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการปรับปรุงและฟื้นฟู รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เพื่อนำมาผนวกกับการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการน้ำในบึงราชนก 
     “หน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลบึงราชนกภายหลังพัฒนาฟื้นฟูแล้วเสร็จนั้น จากข้อเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมนั้น ได้เสนอให้ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีหน่วยงานราชการทั้งระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของบึงราชนก เป็นหน่วยงานบริหารจัดการ โดยมี สทนช.เป็นหน่วยงานกำกับและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ” นายสมเกียรติกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"