บทสนทนากับมหาธีร์:ก้าวต่อไปไทย-มาเลเซีย


เพิ่มเพื่อน    

    ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ในจังหวะครบ 100 วันของปาฏิหาริย์ที่ผู้นำวัย 93 คนนี้สามารถระดมเสียงฝ่ายค้านและมติมหาชน โค่นรัฐบาลของนายกฯ นาจิบ ราซัค หัวหน้าพรรคอัมโนที่กุมอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จมากว่า 60 ปีลงได้
    บทสัมภาษณ์นี้ออกอากาศในรายการ "โลกป่วน" ของ ThaiPBS ไปแล้วหลายตอน น่าจะอยู่ในความสนใจของคนไทย ผมจึงคัดบางประโยคถาม-ตอบมาให้ได้อ่านกันวันนี้
    ถาม: เมื่อหลายปีก่อน ท่านมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยเรื่องการเจรจาปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ และยังเดินหน้ามาถึงทุกวันนี้ ท่านคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ จะกลับเข้ามาดูแลเรื่องนี้อีกครั้งไหมครับ?
    มหาธีร์: เราจะยังคงพยายามช่วยแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทยต่อไป ปัญหาเดียวก็คือ พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่มีหลายกลุ่มที่ปฏิบัติการเอง ดังนั้นการเจรจากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะไม่ส่งผลถึงกลุ่มอื่นๆ นอกจากจะแก้ปัญหาที่เราให้คำแนะนำ จึงเป็นกระบวนการที่อีกยาวไกล เราต้องได้พบปะกับทุกฝ่ายของชายแดนใต้ 
    ถาม: ท่านสามารถช่วยเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นได้ไหม?
    มหาธีร์: ผมคิดว่าเราทำได้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือชายแดนใต้ยากจนมาก และคนก็ยากจนมาก ทำให้พวกเขาไม่เห็นว่าชีวิตมีคุณค่า และกระทำบางสิ่งที่คนซึ่งพอมีทรัพย์สินอยู่บ้างจะไม่ทำ ดังนั้นผมมองว่าเราควรให้พวกเขามีความหวังต่ออนาตคต กระบวนการที่เราทำก่อนหน้านี้ คือแนะนำให้เราพาบางคนไปเรียนหนังสือที่มาเลเซีย แต่ยังมีสิ่งที่เราทำได้อีก เช่น ทำงานกับคนจำนวนมากขึ้น
    ถาม: มาเลเซียทำหน้าที่ในบทบาทคนกลาง หรือเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือมากกว่าการอำนวยความสะดวก ท่านอาจช่วยเรื่องการเจรจาต่อรองด้วย ใช่ไหมครับ?
    มหาธีร์: ขั้นต้นเราเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ถ้ามีกลุ่มที่เราพูดคุยได้ เราก็ยินดีช่วยในการเจรจาและให้คำแนะนำได้ 
    ถาม: ท่านคิดว่า ณ ขณะนี้ท่านและมาเลเซียสามารถยกระดับความช่วยเหลือหรือไม่ครับ?
    มหาธีร์: ผมอยากช่วย แต่ว่าตอนนี้เราก็ยุ่งมากในมาเลเซีย
    ถาม: มีความหวาดกลัวเรื่องผู้ก่อการร้ายจากภายนอกที่ถูกฝึกจาก ISIS ว่าจะกลับมาที่มาเลเซีย  สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อาจรวมถึงแทรกซึมเข้ามาในชายแดนใต้ของประเทศไทย ท่านคิดว่า ISIS ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้วไหมครับ? 
    มหาธีร์: ผมคิดแบบนั้น เพราะพวกเขาสามารถรับสมัครคนมาเลย์ในมาเลเซียเข้าร่วม นี่ไม่ใช่สิ่งที่ปกติเราทำอยู่ เราไม่ค่อยมีพวกหัวรุนแรง แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างแคมเปญของพวกเขาทำได้เกินเป้าหมาย
    เราต้องหาให้ได้ว่าพวกเขาใช้เคล็ดลับอะไรจึงทำได้ผล ถ้าเราหาไม่เจอเราก็ทำได้แค่พึ่งพาปฏิบัติการทางทหารในการยุติการก่อการร้าย ซึ่งไม่มีทางยุติลงได้ตราบใดที่ยังไม่เจอรากเหง้าของต้นเหตุ ความคับข้องใจและความโกรธแค้น 
    ถาม: เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจหรือการเมือง?
    มหาธีร์: ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ในตะวันออกกลางมีความรู้สึกถึงการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่างเช่น อิสราเอลได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานบนดินแดนชาวปาเลสไตน์ และชาวปาเลสไตน์ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่นี้ ลองจินตนาการว่าถ้าประเทศไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมาเลเซีย เราก็คงไม่พอใจ และอยากกำจัดออกไป อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าคนในประเทศตะวันตกอนุญาตให้ชาวอิสราเอลละเมิดกฎหมายได้
    ถาม: ท่านคิดว่านั่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา?
    มหาธีร์: นี่เป็นประเด็นใหญ่ และเลวร้ายพอที่จะสร้างความโกรธมากขึ้น พวกเขาสร้างดินแดนอิสราเอลที่ไม่ให้มีชาวปาเลสไตน์ และขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไป หลายพันคนถูกขับไล่ออกจากประเทศตัวเอง โดยไม่แม้แต่จะได้รับการชดเชยใดๆ 
    พวกอิสราเอลเข้ายึดครองที่ดิน บ้านเรือน พื้นที่เพาะปลูก เป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความโกรธแค้น และที่ยิ่งกว่าการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และการปฏิบัติของอิสราเอลคือ ปัจจุบันอิสราเอลยังบอกว่าประเทศอิสราเอลเป็นที่สำหรับชาวอิสราเอลเชื้อสายยิว ส่วนชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ซึ่งนี่ก็เทียบได้กับการเหยียดผิวอย่างหนึ่ง และทำให้เลวร้ายกว่าเดิม
    ถาม: ประธานาธิบดีทรัมป์ยังประกาศรับรองสถานะเยรูซาเลม ให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
    มหาธีร์: นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง.
    (อ่านบทสนทนาระหว่างนายกฯ มหาธีร์กับผมต่อพรุ่งนี้ครับ)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"